xs
xsm
sm
md
lg

จากกรมพระอาลักษณ์ กระทรวงมุรธาธร สำนักราชเลขาธิการ สู่กรมราชเลขานุการในพระองค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


กรมราชเลขานุการในพระองค์ทำหน้าที่เลขานุการในองค์พระมหากษัตริย์ บรรดาหนังสือราชการไม่ว่าจะเป็นที่หน่วยราชการต่างๆ เอกชน บุคคลทั่วไป ส่งเข้ามาเพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระบรมราชวินิจฉัยและพระมหากรุณาธิคุณ ทำหน้าที่ประสานงานกับรัฐบาล หน่วยราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และบุคคลต่าง ๆ ทั้งที่เป็นราชการแผ่นดิน (Government Affair) และราชการส่วนพระองค์ (Royal Affair)

กรมราชเลขานุการในพระองค์มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ประวัติโดยพิสดารได้มีการรวบรวมเรียบเรียงไว้ในหนังสือประวัติสำนักราชเลขาธิการ ตีพิมพ์โดยสำนักราชเลขาธิการในสมัยรัชกาลที่ 9


แผนภาพเส้นเวลาหรือไทม์ไลน์ของประวัติความเป็นมาของกรมราชเลขานุการในพระองค์แสดงในภาพด้านล่างนี้


กรมพระอาลักษณ์ เป็นต้นกำเนิดของกรมราชเลขานุการในพระองค์ เป็นหน่วยงานที่มีมานานอาจจะย้อนหลังไปจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา หน้าที่ของกรมพระอาลักษณ์คือการร่างหนังสือ การเขียนหนังสือ ซึ่งหนังสือดังกล่าวได้แก่ พระบรมราชโองการ ประกาศ ข้อสั่งการ พระสุพรรณบัฏ หรือแม้แต่เขียนแบบเรียน และถวายพระอักษรเจ้านาย

พระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) หรือสุนทรภู่ กวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็เคยรับราชการในกรมพระอาลักษณ์ อาลักษณ์ย่อมเป็นผู้รู้หนังสือเป็นอย่างดี สุนทรภู่แต่งกาพย์พระไชยสุริยาให้เป็นแบบเรียนสอนสะกดแจกลูกภาษาไทยและเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเจ้านายหลายพระองค์

พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) เจ้าของนามปากกานาคะประทีป อันเป็นนามปากกาคู่กับพระยาอนุมานราชธน (ยง อนุมานราชธน) ผู้แปลกามนิต วาสิษฐี เป็นภาษาไทยได้อย่างงดงามก็เกือบจะได้เป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่เพราะถึงแก่กรรมไปเสียก่อน

ภารกิจของกรมพระอาลักษณ์มีวิวัฒนาการไปในทางสมัยใหม่โดยเป็นงานเลขานุการ งานประชุมมากขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้ง ออฟฟิศไปรเวตสิเกรตารีหลวง ในปี 2416

ในปี 2418 ทรงโปรดให้ตั้งออฟฟิศหลวงหรือ audit office ในออฟฟิศไปรเวตสิเกรตารีหลวง ทำหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินเพิ่มขึ้นอีกหน้าที่ มีเจ้านายหลายพระองค์ได้ทรงเข้ามาเพื่อทรงฝึกงานราชการแผ่นดินที่ออฟฟิศไปรเวตสิเกรตารีหลวงได้แก่ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ กรมพระจันทบุรีนฤนาท เป็นต้น

ในปี 2423 ทรงยกเลิกออฟฟิศหลวง โอนงานตรวจบัญชีคลังไปอยู่ในกรมบาญชีกลาง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งกรมราชเลขานุการ

ในปี 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยว่าต้องปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่และสำคัญมากที่สุด น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบราชการครั้งยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงจาก จัตุสดมภ์สี่ มาเป็นกระทรวง/ทบวง/กรม เช่นในปัจจุบันนี้

ในครั้งนี้เมื่อแรกปฏิรูปการปกครองแผ่นดินทรงตั้ง 12 กระทรวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยกกรมพระอาลักษณ์เป็นกระทรวงมุรธาธร โดยมีกรมพระอาลักษณ์ ปฏิบัติงานด้านเอกสารและหนังสือ กรมรัฐมนตรีสภา ปฏิบัติงานประชุมเสนาบดี และกรมราชเลขานุการ ปฏิบัติงานรับใช้พระมหากษัตริย์ในราชการส่วนพระองค์

คำว่ามุรธา แปลว่าหัวหรือยอด

สรงน้ำมุรธาภิเษก มาจาก มุรธา+อภิเษก คือน้ำสรงพระเศียรพระเจ้าแผ่นดินในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งต้องนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทั่วราชอาณาจักรมาประกอบพระราชพิธี

ผมได้รบกวน ผศ.ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ช่วยค้นใน Sanskrit-English Dictionary ของ Sir Monier Monier-Williams ซึ่งได้บรรจุคำนี้ไว้และแปลว่า supporting the head

ศาสตราจารย์กิตติคุณ กุสุมา รักษมณี ราชบัณฑิต ได้กรุณาอธิบายว่า คำว่า มุรธาธร เป็นคำที่คนไทยสร้างเอง จากคำสันสกฤตว่า มูรฺธนฺ แปลว่า head, highest part, summit เมื่อเป็นต้นศัพท์สมาส ใช้ว่า มูรฺธ- ประกอบกับคำว่า ธร จากสันสกฤตว่า dhara เป็นคำคุณศัพท์ว่า supporting หรือมาจากคำว่า อาธร จากสันสกฤตซึ่งเป็นคุณศัพท์หมายถึง supportable ไทยนำมาใช้ว่า มุรธาธร(เสียงสระอูเป็นอุ) หมายถึงผู้ที่ (ทำงาน)สนับสนุนพระมหากษัตริย์

ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้อธิบายให้ฟังว่า มุรธ (ส) มุทฺธ (ป) แปลว่า ยอด หัว น่าจะมีนัยหมายถึงพระมหากษัตริย์ ธร แปลว่า ผู้ทรงไว้ ผู้ยึดไว้ ผู้รักษาไว้ มุรธาธร น่าจะแปลว่าผู้ทรงไว้/ผู้รักษาไว้ซึ่งพระมหากษัตริย์ ในที่นี้ น่าจะแปลความว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งพระราชกิจของพระมหากษัตริย์ มุรธาธรน่าจะใกล้เคียงกับราชเลขานุการ เพราะหน้าที่การงานเป็นกลุ่มงานเอกสาร

งานของกระทรวงมุรธาธรใกล้เคียงกับงานของราชเลขานุการ (Royal secretariat) ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนถวายงานราชการแผ่นดินและราชการส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้น มุรธาธร น่าจะแปลได้ว่า ผู้ทำงานสนับสนุนพระเจ้าแผ่นดิน

ในช่วงรัตนโกสินทร์ศก 112 หรือพุทธศักราช 2436 เกิดวิกฤติฝรั่งเศสนำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย พระพุทธเจ้าหลวงทรงให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรถวายงานราชเลขานุการิณีในพระองค์ ทรงทำหน้าที่จดบันทึกพระราชหัตถเลขาตามพระราชดำรัส เนื่องจากเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ที่ต้องรักษาความลับของชาติอย่างเคร่งครัดจึงทรงให้พระราชธิดาทรงทำหน้าที่ราชเลขานุการิณีในพระองค์

ศาลาลูกขุนใน ศิลปะแบบโกธิค ในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก เคยใช้เป็นที่ทาการของสานักราชเลขาธิการ สังเกตได้จากหน้าบันมีตราอาร์มแผ่นดิน (ที่มา: https://sites.google.com/site/5303788rsu/arc213_assignment04_5303788)
แต่ในเวลาไม่นานหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบว่ามีบางกระทรวงมีภารกิจทับซ้อนกันมากหรือเกี่ยวข้องกันมากจึงทรงตัดสินพระทัยยุบรวมบางกระทรวงให้เหลือ 10 กระทรวง ดังนั้นในปี 2439 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยุบกระทรวงมุรธาธร เพื่อให้กระทรวงเหลือน้อยลงสอดคล้องกับการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีการปรับโครงสร้างหน่วยงาน (Restructuring) และการออกแบบกำหนดหน่วยงาน (Departmentalization) ให้เหมาะสม ซึ่งก่อนจะถึงปี 2451 ก็มีการปรับโครงสร้างอีกหลายครั้ง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกระทรวงมุรธาธรขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และมีการปรับโครงสร้างและการออกแบบกำหนดหน่วยงานอีกหลายคราวตลอดรัชสมัย เช่น ตั้งกรมราชเลขานุการในพระองค์แยกออกมาจากกรมราชเลขาธิการเพื่อดูแลราชการในพระองค์ ในปี 2455

ในตอนต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยกเลิกกระทรวงมุรธาธรให้งานไปรวมกับกรมราชเลขาธิการ

ครั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี 2475 ก็เกิดความระหกระเหินเปลี่ยนสถานะของหน่วยงานด้าน Royal secretariat อย่างมากมาย รอบแรก เปลี่ยนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธรเป็นราชเลขาธิการ/ยุบกระทรวงมุรธาธร รอบสอง ยุบกรมราชเลขาธิการ โอนงานไปกรมราชเลขานุการในพระองค์/ตั้งกรมเลขาธิการของคณะราษฎร รอบสาม ยุบกรมพระอาลักษณ์ รอบสี่ ย้ายกรมราชเลขานุการในพระองค์ไปสังกัดศาลาว่าการพระราชวังหลังจากยุบกระทรวงวัง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันมหิดล ได้มีการยกกรมราชเลขานุการในพระองค์เป็นทบวงเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์

ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 13 ก.พ.2493 เปลี่ยนสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์เป็นสำนักราชเลขาธิการ (Royal Secretariat Office) ให้เป็นทบวงการเมืองอยู่ในบัญชาของนายกรัฐมนตรี

ประกาศคณะปฏิวัติ 297 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2515 ตั้งสำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรีในสำนักราชเลขาธิการ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตั้งหน่วยราชการในพระองค์ขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 15 และออกพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ให้โอนสำนักราชเลขาธิการมาเป็นกรมราชเลขานุการในพระองค์ ในสังกัดสำนักพระราชวัง เปลี่ยนชื่อตำแหน่งราชเลขาธิการเป็นอธิบดีกรมราชเลขานุการในพระองค์ โดยมีราชเลขาธิการคนสุดท้าย เป็นอธิบดีกรมราชเลขานุการในพระองค์คนแรก คือ ดร.กฤษณ์ กาญจนกุญชร

การปรับโครงสร้างองค์การของหน่วยราชการในพระองค์ในส่วนของสำนักพระราชวังแสดงดังภาพด้านล่างนี้ด้านขวามือ




กำลังโหลดความคิดเห็น