xs
xsm
sm
md
lg

ข้อดีในการเข้าฟื้นฟูกิจการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อนุรักษ์ นิยมเวช



นายอนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการบริษัท กฎหมายธุรกิจอนุรักษ์ จำกัด


ปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพการทำธุรกิจและสถานะทางการเงินของกิจการเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ อยู่ในภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่สามารถชำระหนี้ได้ และบางรายอาจถึงขั้นที่อยู่ในสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว (Insolvent)

แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลอย่างดีอย่างหนึ่งก็ได้แก่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคและข้อจำกัดในการปรับปรุงโครงสร้างกิจการและหนี้ของลูกหนี้ที่อยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว เพื่อให้ลูกหนี้สามารถแก้ไขปัญหาการชำระหนี้และดำเนินกิจการต่อไปได้ ในขณะที่เจ้าหนี้ก็จะได้รับชำระหนี้มากกว่าการไปฟ้องร้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลาย โดยไม่กระทบถึงสิทธิเหนือหลักประกันต่างๆที่มีอยู่เดิม และหากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นผลสำเร็จ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นตัวลูกหนี้เองที่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินและดำเนินกิจการต่อไปได้ พนักงานลูกจ้างและคู่ค้าของลูกหนี้ที่ต้องพึ่งพิงกิจการของลูกหนี้ และบรรดาเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้มากกว่ากรณีที่ลูกหนี้ต้องล้มละลาย

ลูกหนี้ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้ต่อเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท (ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือในอนาคตก็ตาม) อีกทั้งมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้ โดยบุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีลักษณะดังกล่าว ได้แก่ ตัวลูกหนี้เอง, เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันซึ่งมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นสถาบันการเงิน), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นบริษัทหลักทรัพย์) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นบริษัทวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิต)

มาตรการและขั้นตอนหลักในกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลายเริ่มต้นที่การสร้างสภาวะการพักการชำระหนี้โดยผลของกฎหมาย (Automatic Stay) กล่าวคือ เมื่อศาลล้มละลายมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้จะได้รับความคุ้มครองจากการถูกฟ้องร้องบังคับคดีในทางแพ่ง และการงดให้บริการสาธารณูปโภคต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และตัวลูกหนี้เองก็ถูกห้ามมิให้ชำระหนี้หรือก่อหนี้และกระทำการใดๆในทางที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากการดำเนินการที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจตามปกติ

เมื่อศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ พร้อมทั้งแต่งตั้งบุคคลที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอให้เป็นผู้ทำแผนแล้ว ผู้ทำแผนจะเข้ามามีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ (ยกเว้นสิทธิในการรับเงินปันผล) เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องนำหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการมายื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อรวบรวมและสรุปภาระหนี้สินทั้งหมดที่ลูกหนี้มีอยู่

ผู้ทำแผนที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง (ลูกหนี้อาจได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทำแผนเองก็ได้) จะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้แล้วเสร็จและยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา

ผู้ทำแผนจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยมีรายการอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ทำแผนจะต้องจัดเจ้าหนี้ออกเป็นกลุ่มๆ และกำหนดวิธีการชำระหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มตามความเหมาะสม เช่น การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ การแปลงหนี้เป็นทุน เป็นต้น ทั้งนี้ เจ้าหนี้มีประกันจะยังคงมีสิทธิเหนือหลักประกันที่เจ้าหนี้มีอยู่ และเจ้าหนี้ (ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ประเภทใด) จะต้องได้รับชำระหนี้ไม่ต่ำกว่ากรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย อาจกล่าวได้ว่า เนื้อหาหลักของแผนฟื้นฟูกิจการนั้นที่จริงแล้วก็มีลักษณะเป็นไปในทำนองเดียวกับสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั่วๆไป

เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการจากผู้ทำแผนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรายงานมติดังกล่าวต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ต่อไป

แผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วจะมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ตามกฎหมาย โดยในระหว่างระยะเวลาดำเนินการตามแผน (ไม่เกิน 5 ปี ซึ่งอาจขอขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 1 ปี) นั้น ผู้บริหารแผนจะเป็นผู้ดำเนินการให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งโดยหลักก็ได้แก่ การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้และดำเนินการที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ จนกว่าการฟื้นฟูกิจการจะได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อการฟื้นฟูกิจการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้ว ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมามีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นตามกฎหมายต่อไป หลังจากนั้น ลูกหนี้ก็จะดำเนินธุรกิจไปตามปกติโดยไม่ต้องตกอยู่ในการควบคุมดูแลของศาล และไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้สภาวะการพักชำระหนี้ (Automatic Stay) อีกต่อไป
ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายล้มละลายให้มีกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งประกอบธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจํากัด บริษัทจํากัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่จดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐด้วย และไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ โดยลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท ลูกหนี้ที่เป็นคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดใน กฎกระทรวง ต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสามล้านบาท และลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัดต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสามล้านบาทแต่ไม่ถึงสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

กระบวนการฟื้นฟูกิจการสำหรับเอสเอ็มอีนั้น มีหลักการในทำนองเดียวกับการฟื้นฟูกิจการสำหรับกิจการขนาดใหญ่ข้างต้น แต่มีความกระชับรวดเร็วกว่า โดยกระบวนการที่แตกต่างกันในสาระสำคัญได้แก่ การที่ผู้ร้องขอฟื้นฟูฯ จะต้องเสนอแผนตั้งแต่ในชั้นยื่นคำร้อง พร้อมหลักฐานแสดงว่าเจ้าหนี้ได้ให้ความเห็นชอบกับแผนไม่น้อยกว่าสองในสามของหนี้ทั้งหมด และศาลจะพิจารณามีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนไปในคราวเดียวกัน, การลดขั้นตอนการขอรับชำระหนี้ และระยะเวลาการดำเนินการตามแผนจะไม่เกินสามปี

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ามาตรการและขั้นตอนต่างๆในการฟื้นฟูกิจการในภาพรวมและโดยจุดมุ่งหมายนั้นมิได้แตกต่างไปจากหลักการปรับปรุงโครงสร้างกิจการและหนี้ในทางธุรกิจโดยทั่วไป เพียงแต่กฎหมายได้สร้างสภาพบังคับและหลักเกณฑ์ตามกฎหมายขึ้นให้ทุกฝ่ายได้ถือปฏิบัติเพื่อลดอุปสรรคที่จะเกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ในกระบวนการปกติ กระบวนการฟื้นฟูกิจการจึงเป็นโอกาสและช่องทางที่ดีในการช่วยให้กิจการที่ประสบปัญหากลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ


กำลังโหลดความคิดเห็น