หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยม ที่นำโดยนักวิชาการจำนวนหนึ่งเช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปิยบุตร แสงกนกกุล ประจักษ์ ก้องกีรติ พวงทอง ภวัครพันธ์ ฯลฯ และอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนมาก ต้องการให้พระมหากษัตริย์ไทยกลายเป็นสัญลักษณ์เช่นเดียวกับกษัตริย์อังกฤษ พวกนี้ซ่อนตัวอยู่ข้างหลังเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปกษัตริย์บนท้องถนน
พวกเขาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นั่นคือข้อเรียกร้องไม่ให้พระมหากษัตริย์มีบทบาทอะไรเลยนอกจากกลายเป็นตรายางและเป็นหุ่นเชิดของนักการเมือง พวกนี้เสนอแนวคิดว่า พระมหากษัตริย์จะทรงปกเกล้าแต่ไม่ทรงปกครอง (The King reigns but not rule) กล่าวคือ พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นประมุขปกเกล้าฯ แต่จะไม่ทรงมีพระราชดำริใดๆ ในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเป็นเรื่องการปกครองโดยตรง ดังข้อเสนอ 10 ข้อที่รุ้งปนัสยารับมาจากสมศักดิ์ เจียม
ทั้งที่ความจริงพระมหากษัตริย์ไทยก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการปกครองซึ่งเป็นอำนาจของนักการเมืองอยู่แล้ว แม้จะมีพระราชดำรัสในวาระต่างๆ ก็เป็นการให้ความเห็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ใช่พระอิฐพระปูนเท่านั้นเอง และไม่ได้ผูกมัดใดๆ ในทางการเมือง แต่ถ้าข้อเสนอนั้นมีประโยชน์ก็ไม่แปลกอะไรที่รัฐบาลจะนำมาปฏิบัติ
ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 การที่ประชาชนรอคอยที่จะรับฟังพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคมนั้น ควรจะเป็นเรื่องต้องห้ามในระบอบประชาธิปไตยหรือ
ไม่มีเหตุผลความจำเป็นอะไรเลยที่กษัตริย์ไทยจะต้องเหมือนกับกษัตริย์อังกฤษ เพราะการเปลี่ยนแปลงถ้าจะเกิดขึ้นต่างๆเป็นเงื่อนไขและพลวัตของแต่ละสังคม ถ้าวันหนึ่งบทบาทและสถานะของกษัตริย์ไทยจะเปลี่ยนแปลงไปก็ให้เป็นเงื่อนไขและพลวัติของสังคมเราเอง การเอากษัตริย์อังกฤษมาเป็นต้นแบบของกษัตริย์ไทยจึงไม่น่าจะถูกต้อง
ปิยบุตรมักข่มขู่เสมอมาว่า ถ้าไม่เอาปฏิรูปก็ต้องปฏิวัติกลายเป็นสาธารณรัฐ
ปิยบุตร อ้างว่า ในทางรูปแบบ คือ การปฏิรูป ไม่ได้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ยังรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้อยู่ต่อไป แต่ในทางเนื้อหา คือ การปฏิวัติ เพราะเป็นเนื้อหาการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใต้ระบอบนี้
เขาบอกว่า “ปฏิรูปแบบปฏิวัติ” จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเรายกระดับข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นี้ให้เป็น “ข้อเสนอขั้นต่ำ” หมายความว่า ข้อเสนอทั้งหมดก็เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ในระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถถอยหรือลดไปกว่านี้ได้ และหากไม่รับข้อเสนอเช่นนี้ ด้วยสถานการณ์แบบที่เป็นอยู่ที่ประชาชนก้าวรุดหน้ามากขึ้น ก็จะโหมเร่งให้รุดหน้ามากขึ้น สุกงอมเพียงพอจนปฏิรูปกลายเป็นปฏิวัติ
เมื่อไม่นานมานี้ ปิยบุตร กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะทำให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สำเร็จได้ ต้องมีอำนาจรัฐเข้าไปดำเนินการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้ง 1) ฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2) รัฐสภาเข้าไปแก้ไขกฎหมายต่างๆ 3) การทำงานทางความคิด เพื่อหาฉันทามติร่วมกันของสังคม
ซึ่งถ้าพูดกันตามความเป็นจริงแล้วความร่วมมือทั้งสามฝ่ายที่ปิยบุตรอ้างนั้นยังไม่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย นอกจากความพยายามของคนส่วนหนึ่งบนท้องถนน พวกปัญญาชนที่แอบอยู่หลังคนหนุ่มสาวบนท้องถนน และนักการเมืองของพรรคก้าวไกล ความพยายามเรียกร้องให้ปฏิรูปกษัตริย์จึงเป็นการขู่เข็ญของคนจำนวนหนึ่งไม่ใช่ฉันทามติร่วมของสังคม
ฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมมองว่า ในทางรูปธรรมการจำกัดบทบาทของพระมหากษัตริย์นั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ เป็นต้น
นั่นก็คือเป้าหมายของพวกเขานั้นนอกจากพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ(ซึ่งปัจจุบันอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว) ต้องอยู่ใต้นักการเมืองด้วย
ความพยายามแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยนี้เท่านั้น แต่ในยุคของรัฐบาลทักษิณ ก็มีการพูดถึง ปฏิญญาฟินแลนด์ที่มีเป้าหมายหนึ่งที่ทำให้พระมหากษัตริย์กลายเป็นสัญลักษณ์ แต่ในครั้งนั้นพวกเขาปฏิเสธความคิดนี้ว่าไม่มีอยู่จริง
คำถามว่า ทำไมต้องกลายเป็นสัญลักษณ์เช่นเดียวกับกษัตริย์อังกฤษ การมีพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนทำไมจึงเป็นเรื่องต้องห้าม ในขณะที่อำนาจของพระมหากษัตริย์ก็มีจำกัดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ แตกต่างและแยกกับอำนาจหน้าที่ของนักการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารประเทศอยู่แล้ว
นั่นคือพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ได้ไปแย่งหน้าที่ปกครองประชาชนแข่งกับนักการเมือง แต่การที่พระมหากษัตริย์มีพระบารมีเหนือนักการเมืองก็เพราะประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธาซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครไปห้ามไม่ให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาได้ เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถห้ามความจงรักภักดีของประชาชนได้
หรือพวกปฏิกษัตริย์นิยมจะบอกว่า การเคารพเลื่อมใสศรัทธาต่อกษัตริย์และการจงรักภักดีของประชาชนเป็นเรื่องต้องห้ามในระบอบประชาธิปไตยแบบที่พวกเขาอยากให้เป็นด้วย
การที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4,741 โครงการนั้น มันกลายเป็นเรื่องเสียหายอะไร เมื่อบทบาทของพระมหากษัตริย์นั้นแยกแยะต่างหากจากบทบาทของรัฐบาลในการปกครองประเทศอยู่แล้ว ลองนึกภาพว่าถ้าเราลบโครงการพระราชดำริทั้ง 4,741 โครงการออกไปมันจะมีประโยชน์มากกว่าการที่โครงการพระราชดำริอยู่ไหม
พวกนี้อาจจะบอกว่า โครงการพระราชดำริต่างๆนั้น รัฐบาลจะต้องอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่ของพระมหากษัตริย์ แต่ถามว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือ ถึงจะต้องเอาธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติของระบอบกษัตริย์อังกฤษมาครอบสังคมไทย การช่วยกันทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนมันเสียหายตรงไหน
หรือถามว่าโครงการพระราชดำริต่างๆ นั้นมันไปขัดขวางการทำงานและการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองหรือ
การปฏิรูปกษัตริย์ที่เป็นข้อเรียกร้องตอนนี้ ต้องการให้พระมหากษัตริย์กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างเช่นกษัตริย์อังกฤษนั้น ใครบอกล่ะว่า นั่นเป็นแนวทางที่กษัตริย์ทั่วโลกจะต้องปฏิบัติให้เหมือนกัน ทำไมการที่พระมหากษัตริย์ไทยเป็น “ศูนย์รวมจิตใจของปวงประชาชาวไทย” นั้นจึงเป็นเรื่องต้องห้าม
การที่เรายกย่องสถานะของพระมหากษัตริย์ของเราในแบบอย่างที่เป็นอยู่นั้นมันขัดต่อหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร เราต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยเพียวๆโดยไม่ต้องมี “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ต่อท้ายเท่านั้นหรือ หรือว่าระบอบประชาธิปไตยฝรั่งมันคิดขึ้นมา เราจึงต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างฝรั่ง
แน่นอนว่าหลักการของระบอบประชาธิปไตยคืออำนาจของประชาชนเป็นใหญ่ แต่การยินยอมให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่เคารพสักการะของไทยมีสถานะแบบนี้นั้นก็เป็นการยินยอมพร้อมใจของประชาชนเจ้าของอำนาจส่วนใหญ่ด้วยมิใช่หรือ
การที่ปิยบุตร บอกว่าการจะทำให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สำเร็จได้ ต้องมีอำนาจรัฐเข้าไปดำเนินการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้ง 1) ฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2) รัฐสภาเข้าไปแก้ไขกฎหมายต่างๆ 3) การทำงานทางความคิด เพื่อหาฉันทามติร่วมกันของสังคม
เอาเถอะปิยบุตรไปหาข้อเรียกร้อง 3 ข้อนั้นให้เป็นฉันทามติของประชาชนส่วนใหญ่ให้ได้ก่อนเถอะ
ถามว่า ในวันนี้ที่ปิยบุตรจะมาเรียกร้องขืนใจเพื่อที่จะให้สถาบันกษัตริย์ไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นสถาบันกษัตริย์แบบอังกฤษนั้น มีอะไรบ้างแล้วที่เข้าข้อเรียกร้องทั้งสามของปิยบุตร ไม่ปฏิเสธหรอกว่า มีคนส่วนหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวบนถนน มีนักวิชาการอย่างปิยบุตรและพวกที่เอ่ยมาข้างต้นจำนวนไม่น้อยต้องการขับเคลื่อนให้สังคมไทยเดินไปตามนั้น แต่ถามว่า ถ้าไม่ใช่เสียงของคนส่วนใหญ่ มันไม่ใช่เรื่องการเอาแต่ใจปิยบุตรและพวกหรือ
ระบอบกษัตริย์อังกฤษนั้นมันมีความเป็นไปตามประวัติศาสตร์ของมัน จนมีสถานะดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ระบอบกษัตริย์ของไทยก็มีประวัติศาสตร์ของไทย จึงมีสถานะดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน วันหนึ่งถ้าบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ต่อสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขของสังคมไทยไม่ใช่เงื่อนไขของสังคมอังกฤษ
แต่ด้วยระบอบประชาธิปไตยนั่นแหละ วันนี้สังคมไทยจึงทำให้ปิยบุตรและพวกที่ต้องการเรียกร้องให้ลดทอนบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ แต่ถ้าจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปตามที่ปิยบุตรและพวกต้องการก็ต้องถามคนไทยส่วนใหญ่ด้วย
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan