xs
xsm
sm
md
lg

อภิปรายไม่ไว้วางใจ : ชี้วัดคุณภาพ ส.ส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านจะต้องกระทำ เมื่อตรวจพบว่า รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคณะทำงานบกพร่องหรือผิดพลาด อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ และประชาชนโดยรวม หลังจากที่รัฐบาลทำงานมาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งนานพอที่จะประเมินผลการทำงานได้

ในขณะนี้รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ และมีพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กพรรคน้อยอีกหลายพรรคเป็นพรรคร่วม ได้ทำงานมาแล้วเกือบ 2 ปี และในระยะเวลา 2 ปีกว่านี้ เกิดปัญหามากมายไร้ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และสังคมย่ำแย่ ซึ่งเกิดขึ้นและต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลในระบอบเผด็จการ ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีรัฐมนตรีหลายคนสืบทอดอำนาจมาถึงยุคนี้

ดังนั้น จึงพูดได้ว่า ระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีหลายคนใน ครม.ชุดนี้นานพอที่จะบอกได้ว่าทำงานล้มเหลวหรือสำเร็จ จึงเป็นโอกาสทางการเมืองสำหรับฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และนำมาบอกเล่าให้ประชาชนทราบผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และรัฐมนตรีที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้มี 6 คน แต่น่าจะเป็นเป้ามากที่สุดมีเพียง 3 คนคือ

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะเป็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งเป็นเป้าใหญ่ที่ฝ่ายค้านต้องการเปิดเกมรุกทางการเมืองในประเด็นที่ว่าบกพร่อง และผิดพลาดในการบริหารประเทศ ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ สังคมย่ำแย่ และที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ การจัดหาวัคซีนล่าช้าและกระจายไม่ทั่วถึงกลุ่มเสี่ยง ทำให้เกิดการระบาดรวดเร็ว และรุนแรง

2. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ การจัดหาวัคซีน และการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เชื่องช้า ไม่ทันการณ์ ปล่อยให้คนป่วยนอนตายข้างถนนและที่บ้าน รวมไปถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารด้วย

3. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในประเด็นที่ค่อนข้างแรงคือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากโครงการขนาดใหญ่ และครอบครองที่ดินสาธารณะโดยผิดกฎหมาย

จากประเด็นที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมา จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะปรากฏทางสื่อจากการแสดงความคิดเห็นของคนเขียนบทความ และข้อสังเกตของนักวิชาการ แต่ขาดหลักฐานยืนยันให้เห็นว่าผิดอย่างไร และบกพร่องมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายค้านจะต้องหาหลักฐานมาชี้ให้เห็นว่าผิดอย่างไร และในเรื่องใด ถ้าทำได้เช่นนี้คุณภาพ ส.ส.ในฐานะตัวแทนของประชาชนจะได้รับการยอมรับจากประชาชน และยังจะเป็นการพิสูจน์ความเป็นผู้แทนปวงชนของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลด้วยว่า จะยังคงสนับสนุนผู้กระทำผิดอยู่หรือไม่

แต่ที่สำคัญที่สุด ความมีคุณภาพของ ส.ส.ในฐานะผู้แทนของปวงชน จะช่วยส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ซึ่งจะเป็นรากฐานให้การปกครองในระบอบนี้มั่นคง และดำรงอยู่ได้ทั้งจะเจริญก้าวหน้าต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น