xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมาย : ศีลธรรมที่แปลงรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



“Law is Written Morality While Morality is Conscious Law” นี่คือคำพูดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จากหนังสือ Xi Jinping The Governance of China ซึ่งแปลโดยใจความได้ว่า กฎหมายคือศีลธรรมที่ถูกเขียนขึ้น ในทำนองเดียวกับศีลธรรมคือกฎหมายจากความสำนึก

โดยนัยแห่งคำพูดข้างต้นอธิบายขยายความได้ว่า ศีลธรรมกับกฎหมายมีเนื้อหาสาระ และเจตนารมณ์ในการนำมาใช้เป็นกติกาสังคม ในทำนองเดียวกันคือ ป้องกันมิให้คนกระทำชั่ว อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้คนในสังคมโดยรวม ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมนั่นเอง

ดังนั้น กฎหมายใดๆ ที่จะเขียนขึ้นบังคับใช้จะต้องไม่ขัดกับหลักศีลธรรมอันดีของสังคม จึงจะเรียกได้ว่า เป็นธรรมแก่สังคม

ในทางกลับกัน กฎหมายใดๆ ที่เขียนขึ้นบังคับใช้มีเนื้อหาสาระขัดกับหลักศีลธรรมอันดีของสังคม กฎหมายนั้นไม่เป็นธรรมแก่สังคม

ด้วยเหตุดังกล่าวแล้วข้างต้น กฎหมายที่ออกมาเพื่อปกป้องคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกระทำผิดกฎหมาย และผิดศีลธรรม กฎหมายนั้นไม่เป็นธรรมแก่สังคม ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำนั้น

เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีข่าวว่าจะมีการออกกฎหมายเพื่อจำกัดความรับผิดชอบของบุคลากรทางการแพทย์ให้ไม่ต้องรับผิดในการป้องกัน และรักษาโควิด-19 ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่มีข้อบกพร่องในการกระทำดังกล่าว

แต่ในทันทีที่ข่าวนี้แพร่ออกไป ปรากฏว่าได้มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงคัดค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.บางคนจากพรรคฝ่ายค้าน โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.ก.ที่ว่านี้เป็นเสมือนกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งคือ รวมทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการป้องกัน และรักษาโควิด-19 ตั้งแต่ระดับบริหารลงไปถึงระดับปฏิบัติการ แต่อ้างบุคลากรทางการแพทย์มาบังหน้า โดยซ่อนผู้รับผิดชอบระดับนโยบายไว้

ต่อมาในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการปฏิเสธว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการนำเข้า ครม.และยังไม่มีการนำไปหารือกฤษฎีกาแต่อย่างใด

แต่ต่อมาบุคลากรในระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแถลงยืนยันถึงความจำเป็นต้องมี พ.ร.ก.เพื่อปกป้องและให้ความมั่นใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่ากำลังเตรียมการเพื่อออก พ.ร.ก.จริง แต่เกิดจากภายในกระทรวงสาธารณสุข จึงไม่ควรกล่าวหาว่า เป็นผลงานของรัฐบาลโดยรวม เพราะ ครม.ยังไม่ได้อนุมัติแต่ประการใด

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข่าวออกมาจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นระดับใด ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะ ส.ส.ในฐานะผู้แทนประชาชนก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็น เพียงแต่ขอให้ยึดประโยชน์ของประเทศ และประชาชนโดยรวมเป็นหลัก ก็ยอมรับได้

สุดท้าย ผู้เขียนในฐานะสื่อมวลชนเห็น พ.ร.ก.ในทำนองนี้ ไม่ควรจะออกมา ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. บุคลากรทางการแพทย์ในระดับปฏิบัติการได้ทำตามนโยบาย ประกอบกับทุกคนมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพกำกับอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีบุคลากรทางการแพทย์คนใดกระทำผิดด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ถึงกับถูกฟ้องร้อง และถ้าเผอิญถูกฟ้องร้อง ก็เชื่อได้ว่าจะได้ความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม จึงไม่ควรนำมาเป็นเหตุอ้างในการออกกฎหมายมาปกป้องตนเองเป็นการซ้ำซ้อนกับกฎหมาย และจริยธรรมที่มีอยู่แล้วแต่ประการใด

2. ถ้ามองในแง่ของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้ออก พ.ร.ก.ในกรณีเร่งได้

กรณีของการป้องกันและรักษาโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นมานานเป็นปีแล้ว จึงไม่น่าจะเข้าข่ายเร่งด่วนถึงกับต้องออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อป้องกันตนเองในขณะนี้ เว้นไว้แต่ว่าจะมีบางคนหรือบางกลุ่มกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากขาดคุณธรรมและจริยธรรม แล้วเกิดความกลัวจะถูกฟ้องร้อง จึงจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.เพื่อปกป้องตนเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น