xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ชนะตัวจริงในอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พูดกับคนอเมริกันคืนวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เรื่อง กลุ่มตอลิบานบุกยึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน 1 วันก่อนหน้า

ตอนหนึ่งในคำปราศรัย เขากล่าวว่า “เราเข้าไปอัฟกานิสถาน เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ด้วยเป้าหมายชัดเจนคือ จัดการกับคนที่โจมตีเราเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2011 และสร้างหลักประกันว่า อัลกออิดะห์จะไม่สามารถใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานปฏิบัติการโจมตีพวกเราได้อีก เราทำสำเร็จ เราทำลายอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถานอย่างย่อยยับ เราไม่เคยหยุดล่าตัวอุซามะห์ บิน ลาเดน และสังหารเขาได้ในที่สุด

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาสิบปีแล้ว ภารกิจของเราในอัฟกานิสถาน ไม่ใช่การสร้างชาติ ไม่ใช่การสร้างระบบประชาธิปไตยที่เป็นเอกภาพและเป็นปึกแผ่น สิ่งที่ยังคงเป็น ผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญของเราในอัฟกานิสถานมีเพียงเรื่องเดียวคือ คือ ป้องกัน กลุ่มก่อการร้ายในการโจมตีแผ่นดินอเมริกัน”

เวลา 20 ปีที่สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโตส่งกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน สหรัฐฯ ใช้งบประมาณกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในการทำสงคราม และฟื้นฟูประเทศ สร้างกองทัพให้เข้มแข็ง ต่อสู้กับตอลิบาน และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ได้ แต่ตอลิบานใช้เวลาเพียง 2 เดือนกว่าทำลายสิ่งที่สหรัฐฯ สร้างมา ยึดอัฟกานิสถานได้เบ็ดเสร็จ

เงินจำนวนมหาศาล และระยะเวลานานถึง 2 ทศวรรษ เป็นต้นทุนที่สูญเปล่าของสหรัฐฯ นอกเหนือจากชีวิตของทหารประมาณ 2,500 คน พลเรือนอีกเกือบ 4 พันคนที่เสียชีวิต บาดเจ็บอีกหลายพัน และหลายคนที่รอดชีวิตกลับบ้าน ต้องเจ็บปวด ฝันร้ายกับบาดแผลสงครามไปตลอดชีวิต

ความสูญเสียของสหรัฐฯ เทียบไม่ได้กับประชาชนชาวอัฟกัน 20 ปีของสงคราม พลเรือนอัฟกานิสถานตาย 47,000 กว่าคน คนที่รอดมาได้ก็มีชีวิตที่ยากลำบาก และสุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการสู้รบ วันนี้ประชาชนชาวอัฟกานิสถาน คือผู้แพ้มากกว่าใคร เพราะไม่รู้ว่าชีวิตภายใต้การปกครองของตอลิบานจะเป็นอย่างไร ภาพอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ตอลิบานปกครองประเทศแบบรัฐอิลสามที่เคร่งครัด กลับมาหลอกหลอนพวกเขาอยู่ในเวลานี้

ผู้ชนะในสงครามอัฟกานิสถาน นอกจากตอลิบานที่ได้หวนกลับคืนสู่อำนาจก็คือ กลุ่มธุรกิจเอกชนที่เรียกว่า Private Contractor รับจ้างรบให้กองทัพสหรัฐฯ เป็นที่ปรึกษา ฝึกทหารอัฟกัน ขายอาวุธ เครื่องบิน ให้บริการซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ ส่งกำลังบำรุงดูแลรักษาความปลอดภัยฐานทัพ สถานที่สำคัญของกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต รวมทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตามโครงการ Afghanistan Reconstruction ของเวิลด์แบงก์ และรัฐบาลสหรัฐฯ

ฮัลลิเบอร์ตัน ซึ่ง ดิก เชนีย์ รองประธานาธิบดี สมัยจอร์จ บุช ผู้ตัดสินใจบุกอัฟกานีสถาน และอิรัก หลังเหตุการณ์ 9/11 เคยเป็นซีอีโอก่อนลาออกมารับตำแหน่งรองประธานาธิบดี มีบริษัทลูกชื่อ เคลล็อก บราวน์ แอนด์ รูท หรือ เคบีอาร์ ได้รับงานบริการที่เกี่ยวกับปฏิบัติการทหารไปทั้งหมดนาน 10 ปี ทั้งในอัฟกานิสถาน และอิรัก โดยไม่ต้องประมูล และไม่มีการจำกัดวงเงิน

งบประมาณในการว่าจ้างเคบีอาร์ไม่เป็นที่เปิดเผย แต่สำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์ เคยรายงานเมื่อปี 2015 เปิดว่า เคบีอาร์ได้งานในอัฟกานิสถานและอิรักมูลค่าสูงถึง 529.4 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไม่ได้ระบุระยะเวลาในการว่าจ้าง
บทวิเคราะห์ ของ Bloomberg Government รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2002 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ใช้เงิน 107.9 พันล้านดอลลาร์ ในการว่าจ้างผู้รับช่วงเอกชนในอัฟกานิสถาน ปัจจุบันมีผู้รับเหมาช่วงของกระทรวงกลาโหมมากกว่า 16,000 คน ในจำนวนนี้ 6,147 คน เป็นคนอเมริกันมากกว่าทหารสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในอัฟกานิสถาน 2 เท่า

ธุรกิจรับจ้างรับ หรือทหารรับจ้างที่มีชื่อฉาวโฉ่ ในสงครามอัฟกานิสถาน และอิรัก คือ แบล็ก วอเตอร์ ที่ก่อตั้งโดยนายเอริค พริ้นซ์ อดีต เนวี ซีลล์ เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Academi หลังถูกกล่าวหาว่า ทหารรับจ้างของบริษัทสังหารพลเรือนอิรัก 17 คนเมื่อปี 2007

แบล็ก วอเตอร์ เคยถูกว่าจ้างจาก หน่วยปรายปรามยาเสพติด และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในปฏิบัติการสงครามยาเสพติดในอัฟกานิสถาน ก่อนหน้าเหตุการณ์ 9/11 หลัง 9/11 ซีไอเอมีนโยบายว่าจ้างบริษัทเอกชนในเรื่องข่าวกรอง การรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ซีไอเอ ทูตแบล็ก วอเตอร์ ได้รับการว่าจ้างในอัฟกานิสถาน และอิรัก

รัฐบาลโอบามา ว่าจ้างแบล็ก วอเตอร์เป็นมูลค่า 250 ล้านเหรียญ ให้ทำงานให้กับ กระทรวงการต่างประเทศ และซีไอเอในอัฟกานิสถาน นิวยอร์ก ไทมส์ เคยรายงานข่าวว่า ในปี 2017 พริ้นซ์ ส่งจดหมายขอนัดพบอัชราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน เพื่อเสนอแผนแปรกองทัพอัฟกันให้เป็นกองทัพเอกชน

รัฐบาลสหรัฐฯ ทุ่มเทงบประมาณมหาศาลสร้างกองทัพอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะกองทัพอากาศ ทั้งจัดหาเครื่องบิน อาวุธ ฝึกอบรมทั้งการรบและข่าวกรอง การใช้เทคโนโลยีชั้นสูงซ่อมบำรุง โดยว่าจ้างธุรกิจนักรบรับจ้างอย่างแบล็ก วอเตอร์ และบริษัทอื่นๆ

หลังจากโจ ไบเดน ประกาศเมื่อตอนต้นปีว่า สหรัฐฯ จะถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานทั้งหมดภายในวันที่ 11 กันยายนปีนี้ และเชื่อว่า กองทัพอัฟกันที่มีกำลังพล 3 แสนคน ผ่านการฝึกอบรมจากสหรัฐฯ จะสู้กับตอลิบานได้ บรรดานักรบรับจ้างที่ปรึกษาด้านการทหาร ทยอยเดินทางออกจากอัฟกานิสถานเพราะกลัวว่าจะถูกตอลิบานล้างแค้น

ความล่มสลายของอัฟกานิสถานอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะเมื่อไม่มีทหารรับจ้างอยู่ด้วย ทหารอัฟกันไม่สามารถปฏิบัติการเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเพิ่งที่ปรึกษามาโดยตลอด

สงครามอัฟกานิสถานจบลงแล้วด้วยความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯ พันธมิตรนาโต และความสูญเสียของประชาชนชาวอัฟกานิสถาน ตอลิบัน คือผู้ชนะในวันนี้ แต่ผู้ชนะตัวจริงคือ ธุรกิจรับจ้างรบ รับเหมาบริการเกี่ยวเนื่องกับสงครามอย่างเคบีอาร์ และแบล็ก วอเตอร์ ที่ได้รับค่าจ้างเป็นเงินมหาศาล ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่สหรัฐฯ ทุ่มเทให้กับการ “สร้างชาติ” อัฟกานิสถาน




กำลังโหลดความคิดเห็น