xs
xsm
sm
md
lg

ปมขัดแย้งเกี่ยวกับไอเวอร์เม็คติน (Ivermectin) ในการรักษา Covid-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์



ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
E-mail: pongpiajun@gmail.com


ในการทำมหาสงครามกับโรคระบาดสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องมีคืออาวุธที่หลากหลายสำหรับการใช้ในยุทธวิธีการรบที่แตกต่างกันออกไป สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการจัดหาวัคซีนและเวชภัณฑ์ที่หลากหลายคือหนึ่งในความมั่นคงของประเทศในการเอาชนะศึกครั้งนี้ ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงยารักษาโรคโควิดชนิดอื่นไม่ว่าจะเป็น ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือ อาวีแกน (Avigan) ซึ่งเป็นตัวยาชนิดเดียวกัน เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) คลอโรควิน (Chloroquine) หรือ ฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย แต่จะขอเจาะลึกไปยังตัวยาที่ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงสักเท่าไหร่ในประเทศนี้ แต่มีการนำไปใช้ทั้งในการป้องกันและการรักษาโรค Covid-19 ในหลายประเทศแล้วนั้นคือยาถ่ายพยาธิที่เรียกว่า “ไอเวอร์เม็คติน (Ivermectin)” จากการทบทวนวรรณกรรมในฐานข้อมูล Science Direct ซึ่งเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของโลก โดยมีการค้นคำว่า ivermectin + covid-19 จะพบว่ามีบทความทางวิชาการปรากฎขึ้นมาถึง 458 บทความ (ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่เขียนบทความชิ้นนี้) เท่าที่ได้มีการอ่านบทความในภาพรวมผลงานวิจัยส่วนใหญ่สรุปไปในลักษณะที่ว่า ยาไอเวอร์เม็คติน มีส่วนช่วยในการลดจำนวนผู้ป่วยและช่วยลดอาการป่วยลงได้ เช่น

ทัศนคติเชิงบวกสนับสนุนการใช้ไอเวอร์เม็คติน
• ไอเวอร์เม็คติน มีความเชื่อมโยงกับการลดจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรค Covid-19 แต่ยังต้องการจำนวนข้อมูลที่มากกว่านี้ในการสนับสนุนการนำมาใช้รักษา (Zein et al., 2021)
• จากการแบ่งกลุ่มการทดลองผู้ป่วยที่เป็นโรค Covid-19 ที่ประเทศอิหร่านออกเป็นสองกลุ่มโดยกลุ่มหนึ่งได้รับการรักษาโดย Ivermectin และอีกกลุ่มไม่ได้รับพบว่า กลุ่มที่ได้รับการรักษาโดย ไอเวอร์เม็คติน มีอาการไอ อาการหายใจไม่สะดวกและภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอาการผู้ติดเชื้อ SARS-Cov-2 ลดลง (Shahbaznejad et al., 2021)
• ไอเวอร์เม็คติน เป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับการนำมารักษาผู้ป่วยโรค Covid-19 และช่วยลดอาการทางอายุรศาสตร์อันเนื่องจากการติดเชื้อ SARS-Cov-2 ประสิทธิภาพในการรักษาขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งในประเด็นนี้จำเป็นที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต ไอเวอร์เม็คติน เหมาะสำหรับการประยุกต์ใช้เป็นยาเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับผู้ป่วยโรค Covid-19 ที่มีอาการไม่หนักมาก (Pott-Junior et al., 2021)
• ผลงานวิจัยพบว่ากลุ่มประเทศที่มีการใช้ ไอเวอร์เม็คติน เป็นยาถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอเช่นกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกามีอัตราผู้ป่วยติดเชื้อ SARS-Cov-2 ต่ำกว่ากลุ่มประเทศที่ไม่ใช้ ไอเวอร์เม็คติน (Hellwig et al., 2021)
• จากการทดลองในผู้ป่วยจำนวน 45 คนพบว่าระดับความเข้มข้นของ ไอเวอร์เม็คติน ในพลาสมาของผู้ป่วยด้วยโรค Covid-19 มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับอัตราการลดจำนวนของเชื้อไวรัสในร่างกาย (Krolewiecki et al., 2021)

อย่างไรก็ตาม องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรค Covid-19 ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ควบคุมโรคอย่าง CDC (Centers for Disease Control and Prevention) องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA (Food and Drug Administration) มีทัศนคติเชิงลบและไม่เห็นด้วยกับการใช้ ไอเวอร์เม็คติน ซึ่งทางผู้เขียนได้เรียบเรียงข้อสรุปของแต่ละบทความดังนี้

• CDC และ WHO ยังยืนยันที่จะไม่อนุมัติใช้ ไอเวอร์เม็คติน ในการรักษาผู้ป่วยด้วยโรค Covid-19 อย่างเป็นทางการ สาเหตุหลักคือความไม่ชัดเจนของปริมาณยา (Dose) ที่ใช้ในการรักษาเนื่องจากหากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ควรมีงานวิจัยเชิงลึกที่ครอบคลุมถึงเงื่อนไขทางการแพทย์ของผู้ป่วย อายุของกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งควรมีการประเมินความเสี่ยงจากการใช้ ไอเวอร์เม็คติน ก่อนที่จะมีการอนุมัติใช้ยาตัวนี้ (Zaheer et al., 2021)
• งานวิจัยเรื่องการประยุกต์ใช้ ไอเวอร์เม็คติน ในการรักษาผู้ป่วยด้วยโรค Covid-19 มีข้อจำกัดในเรื่องระเบียบวิธีวิจัย จำนวนตัวอย่างที่ต่ำ และยังขาดหลักฐานทางการแพทย์ในการสนับสนุนการประยุกต์ใช้ยาชนิดนี้กับการรักษาโรคอื่นนอกจากการถ่ายพยาธิ (Garegnani et al., 2021)
• GAVI หรือ Global Alliance for Vaccines and Immunization ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมทั้งภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน สรุปว่ายังไม่ควรประกาศให้ใช้ ไอเวอร์เม็คติน สำหรับการรักษาผู้ป่วย Covid-19 อย่างเป็นทางการด้วยเหตุที่ว่าแม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นประโยชน์ของการนำ Ivermectin มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย Covid-19 แต่ก็มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยระบุว่าไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับการประยุกต์ใช้ยาตัวนี้ (https://www.gavi.org/vaccineswork/ivermectin-why-potential-covid-treatment-isnt-recommended-use)
• องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA (Food and Drug Administration) ได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าหากรับ ไอเวอร์เม็คติน ในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้และที่สำคัญไม่ควรนำ ไอเวอร์เม็คติน ที่ใช้ในสัตว์มารับประทานเนื่องจากการเตรียมยา ไอเวอร์เม็คติน ที่ใช้สำหรับสัตว์ต่างจากการใช้ในมนุษย์โดยสิ้นเชิง (https://www.fda.gov/consumers/consumer-updates/why-you-should-not-use-ivermectin-treat-or-prevent-covid-19)

เป็นที่น่าสังเกตว่าหน่วยงานของภาครัฐอย่าง FDA หรือองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานจากรัฐบาลกลาง โดยคอยทำหน้าที่สอดส่องดูแลสวัสดิภาพด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้ยา อาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเครื่องสำอางต่างๆ ของชาวอเมริกัน พูดง่ายๆก็คือ อย. ของสหรัฐอเมริกายังไม่ยอมรับ แถมไม่พอยังมีแนวโน้มที่จะมองเรื่องการใช้ Ivermectin ในเชิงลบเสียด้วยซ้ำ

https://www.fda.gov/consumers/consumer-updates/why-you-should-not-use-ivermectin-treat-or-prevent-covid-19

คำถามที่น่าคิดมากคือเราเชื่อถือมุมมองของ FDA ได้มากน้อยแค่ไหน ในเมื่องบประมาณในการทบทวนตรวจสอบการอนุมัติการใช้ยาของ FDA เกือบ 75% มาจาก บริษัทที่จำหน่ายยาเอง!!

https://www.forbes.com/sites/johnlamattina/2018/06/28/the-biopharmaceutical-industry-provides-75-of-the-fdas-drug-review-budget-is-this-a-problem/

https://www.pogo.org/investigation/2016/12/fda-depends-on-industry-funding-money-comes-with-strings-attached/

หรือเกือบ 45% ของงบประมาณที่ FDA ได้รับหรือราว ๆ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมจากภาคอุตสาหกรรมยา

https://www.fda.gov/about-fda/fda-basics/fact-sheet-fda-glance

ย้ำนะครับ FDA รับเงินมาจากบริษัทยาเพื่อมาควบคุมบริษัทยาเอง!! แล้วแบบนี้ถ้าการตัดสินใจของ FDA มันไปกระทบกับผลประโยชน์อันมหาศาลของบริษัทที่ขายวัคซีนต้านโควิด องค์กรนี้จะสามารถนำเสนอแนวคิดที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้จริงหรือไม่? ผู้เขียนคิดว่าสิ่งเหล่านี้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิตั้งคำถามได้และในยามที่ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มวันเกือบละสองหมื่นผู้เสียชีวิตตกวันละร้อยกว่าทุกวันต่อเนื่องเป็นเวลาหลายอาทิตย์ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งหา “อาวุธเสริม” ในการมารบกับโรคร้ายนี้ รัฐบาลควรเลือกที่จะตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักวิชาการในแวดวงมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานราชการ หรือ เลือกที่จะรักษาเนื้อรักษาตัวยืนข้างองค์กรที่มีทัศนคติเชิงลบต่อการใช้ ไอเวอร์เม็คติน และถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest)? ผู้เขียนเชื่อว่าคำตอบของคำถามข้อนี้จะเป็นตัวกำหนด จำนวนผู้ป่วยและตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรค Covid-19 ในประเทศนี้

ประเด็นที่สำคัญอีกประการ ยาทุกประเภทหากทานในปริมาณที่สูงเกินไปล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดอันตรายด้วยกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นยาสามัญประจำบ้าน อย่าง พาราเซตามอล ที่ใช้ในการ ลดไข้ บรรเทาปวด หากรับประทานในปริมาณที่สูงเกินไปก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ไอเวอร์เม็คติน ก็เช่นเดียวกัน แต่เหตุใดยาตัวนี้จึงถูกด้อยค่าว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ทั้งที่มีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันถึง “ประโยชน์” ในการบริหารจัดการโรค Covid-19 นี้คือสิ่งที่ผู้เขียนก็ยังหาคำตอบไม่ได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง
Garegnani, L. I., Madrid, E., & Meza, N. (2021). Misleading clinical evidence and systematic reviews on ivermectin for COVID-19. BMJ Evidence-Based Medicine.
Hellwig, M. D., & Maia, A. (2021). A COVID-19 prophylaxis? Lower incidence associated with prophylactic administration of ivermectin. International journal of antimicrobial agents, 57(1), 106248.
Krolewiecki, A., Lifschitz, A., Moragas, M., Travacio, M., Valentini, R., Alonso, D. F., ... & Lanusse, C. (2021). Antiviral effect of high-dose ivermectin in adults with COVID-19: A proof-of-concept randomized trial. EClinicalMedicine, 37, 100959.
Pott-Junior, H., Paoliello, M. M. B., Miguel, A. D. Q. C., da Cunha, A. F., de Melo Freire, C. C., Neves, F. F., ... & Chachá, S. G. F. (2021). Use of ivermectin in the treatment of Covid-19: A pilot trial. Toxicology Reports, 8, 505-510.
Shahbaznejad, L., Davoudi, A., Eslami, G., Markowitz, J. S., Navaeifar, M. R., Hosseinzadeh, F., ... & Rezai, M. S. (2021). Effects of Ivermectin in Patients With COVID-19: A Multicenter, Double-Blind, Randomized, Controlled Clinical Trial. Clinical therapeutics.
Zaheer, T., Pal, K., Abbas, R. Z., & Torres, M. D. P. R. (2021). COVID-19 and Ivermectin: Potential threats associated with human use. Journal of Molecular Structure, 130808.
Zein, A. F. M. Z., Sulistiyana, C. S., Raffaelo, W. M., Wibowo, A., & Pranata, R. (2021). Ivermectin and mortality in patients with COVID-19: A systematic review, meta-analysis, and meta-regression of randomized controlled trials. Diabetes & Metabolic Syndrome: Clinical Research & Reviews, 102186.



กำลังโหลดความคิดเห็น