xs
xsm
sm
md
lg

อ่านฟังแล้วเชื่อ : เหยื่อของข่าวปลอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



ทุกวันนี้โลกของการสื่อสารได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงทำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นข่าวอย่างรวดเร็ว และเข้าถึงทุกซอกทุกมุมของสังคม โดยผ่านทางเครื่องมือสื่อสารนานาชนิด เริ่มตั้งแต่หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ไปจนถึงโซเชียลมีเดียในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทรศัพท์มือถือซึ่งสามารถนำพาไปได้ทุกหนทุกแห่งด้วย

ด้วยเหตุนี้ ใครก็ตามที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะข่าวในทางลบหรือในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแก่ตนเองและสังคมโดยรวม จะเป็นเหยื่อของคนทำข่าวทั้งที่เป็นอาชีพและสมัครเล่น

เมื่อข่าวเกิดง่าย และกระจายอย่างรวดเร็ว ความถูกในการทำข่าวและเสนอข่าวก็มีโอกาสคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ง่าย เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นหน้าที่ของผู้เสพข่าวจะต้องกลั่นกรองด้วยการอ่าน และฟังอย่างรอบคอบ โดยใช้ตรรกะ (Logic) หาเหตุผลว่าควรเชื่อหรือไม่ควรตามที่เนื้อหาของข่าวที่นำเสนอ

อย่าฟังหรืออ่านแล้วเชื่อ เพราะจะทำให้กลายเป็นเหยื่อแห่งอวิชชาหรือความงมงายได้ในทางกลับกัน อย่าปฏิเสธในทันที เพราะจะเป็นการปิดกั้นความรู้ของตนเอง

ในทางที่ถูกต้อง และควรทำเมื่อได้ฟังหรืออ่านข่าวก็คือ จะต้องนำมาคิดหาเหตุผลเพื่อรองรับความเชื่อหรือปฏิเสธ ตามนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนาในกาลามสูตรคือ สูตรว่าด้วยเชื่อ 10 ประการคือ

1. มา อนฺสฺสวเนน อย่าเชื่อด้วยการฟังตามกันมา

2. มา ปรมฺปราย อย่าเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา

3. มา อิติกิราย อย่าเชื่อตามคำเล่าลือ

4. มา ปิฎกสมฺปทาเนน อย่าเชื่อด้วยการอ้างตำรา

5. มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อเพราะตรรกะ

6. มา นยเหตุ อย่าเชื่อเพราะการอนุมาน

7. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเชื่อด้วยการคิดเอาเอง

8. มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่คิดไว้

9. มา ภพฺพรูปตา อย่าเชื่อเพราะเห็นรูปลักษณ์น่าเชื่อถือ

10. มา สมโณ โน ครูติ อย่าเชื่อเพราะเห็นว่าเป็นครูของเรา

แต่ให้เชื่อหลังจากที่ได้ทำความเข้าใจ โดยการพิจารณาโดยรอบคอบและเห็นว่าถูกต้องชอบธรรม

จากนัยแห่งพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่ออย่างมีเหตุผลมิให้เชื่ออย่างไร้เหตุผล อันเกิดจากการทดลองด้วยตนเองมารองรับความเชื่อนั้น

เมื่อนำหลัก 10 ประการข้างต้นมาวิเคราะห์ข่าวสาร ปรากฏว่าทางสื่อในปัจจุบันโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย จะเห็นว่า มีอยู่ไม่น้อยที่เป็นข่าวไร้สาระ ไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะข่าวสังคมและข่าวการเมือง ซึ่งมีตัวบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง ยิ่งกว่านี้ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวเรียกได้ว่า อ่านแล้ว ฟังแล้วมีอยู่ไม่น้อยหรือจะเรียกว่า ส่วนใหญ่ก็ว่าได้ที่ไม่สร้างสรรค์ และก่อให้เกิดปัญญาแต่ประการใด มีแต่ทำให้มองเห็นศักยภาพของคนไทยว่าส่วนหนึ่งยังถูกครอบงำด้วยอวิชชาและศรัทธาจริงๆ ซึ่งเป็นผลมาจากความอ่อนด้อยของระบบ ที่สอนให้ผู้เรียน จำ แต่คิดไม่เป็น ประกอบกับผู้เรียนเองส่วนหนึ่งก็เรียนเพียงเพื่อให้จบออกมาหางานทำได้ มิได้มุ่งศึกษาหาความรู้อย่างจริงจังด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าอนุมานจากการทำข่าวเสนอข่าว และการแสดงความเห็นเกี่ยวกับข่าว ก็จะพบว่า ยังมีคนจำนวนหนึ่งแต่อาจเป็นส่วนน้อยได้ยกระดับในการทำข่าว เสนอข่าว และแสดงความคิดเห็น

ดังนั้น ถ้าภาครัฐซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับสื่อมวลชนเข้ามาดูแล และปรับปรุงงานส่วนนี้ได้มีมาตรฐานกว่าที่เป็นอยู่ ก็จะช่วยให้ผู้อ่าน ผู้ติดตามข่าวสารได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น แต่จะต้องไม่เข้าไปควบคุม โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น จนทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนโดยรวม ดังที่เคยเกิดขึ้นกับเหล่าดารามาแล้ว เมื่อไม่นานมานี้


กำลังโหลดความคิดเห็น