xs
xsm
sm
md
lg

เค้าลางวิกฤติหนักเริ่มชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"โสภณ องค์การณ์"

การประเมินสภาวะเศรษฐกิจต่ำทรุดของประเทศโดยภาคธุรกิจเอกชนช่วง 2 วันที่ผ่านมาจะทำให้คณะผู้กุมอำนาจรัฐได้สำเหนียกถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศหรือไม่ เพราะยังไม่อยู่ในสภาวะกระเตื้องขึ้น ถ้าเป็นคนป่วยก็อยู่ในห้องไอซียู รอวาระสุดท้าย


แต่ตัวเลขย่ำแย่คงไม่กระเทือนความรู้สึกของคณะ 3 ลุง ซึ่งไม่เคยโทษความด้อยประสิทธิภาพของตัวเอง ไม่คิดว่าตัวเองทำอะไรผิดพลาด มีแต่โทษนั่นนี่โน่นเรื่อยเปื่อย ความล้มเหลวซ้ำซากแต่ละอย่าง ทุกกรณีจะมี “แพะ” รอรับบาปแทนอยู่เสมอ

ถ้าจะมีคำขอโทษอยู่บางครั้ง ก็ไม่ได้เกิดจากความสำนึกที่กระจ่าง เป็นคำกล่าวแบบเสียไม่ได้ เพื่อเอาใจบรรดากองเชียร์และติ่ง หวังรักษาความนิยมเพื่ออยู่ต่อไปนานๆ

ยิ่งท่านลุงผู้นำเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ไม่มีผลงานความโดดเด่น สอบตกยกทีมซ้ำซากด้วยแล้ว สภาวะที่ประเมินให้เห็นโดยภาคธุรกิจเอกชนคงจะบอกได้ว่าต่อให้ทีมเศรษฐกิจเพิ่มความเก่งฉกาจที่พวกตัวเองคิดว่ามี ก็คงยิ่งกว่าเต็มกลืนกว่าจะเห็นผลอะไร

เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้หายนะรออยู่ข้างหน้า ก็คงไม่มีจิตสำนึกว่าสมควรต้องเปิดทางให้คนมีฝีมือ ความรู้ความสามารถแท้จริง เข้ามาแก้ปัญหา เลิกคิดได้แล้วว่าตัวเองเป็นบุคคลสำคัญซึ่งประเทศนี้จะขาดเสียมิได้ ความล้มเหลวที่สะสมมาก็ยากเกินเยียวยาแล้ว

ย่างเข้าเดือนสิงหาคมไม่กี่วัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันทะลุ 2 หมื่นรายวันพุธที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตใกล้แตะ 200 รายต่อวัน แนวโน้มตัวเลขมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกด้าน

ภาคธุรกิจเอกชนประเมินไว้อย่างไร ลองดูข่าวโปรยหัวอย่างนี้

“กกร.ปรับลดการเติบโตจีดีพีของไทยปี 2564 อีกครั้งจากเดิมอยู่ในกรอบ 0-1.5% เหลือ -1.5-0% หลังรัฐขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ แต่ปรับการส่งออกเพิ่มจาก 8-10% เป็น 10-12% จากการฟื้นตัวของ ศก.โลก แต่ยังคงต้องคุมไม่ให้เกิดการระบาดในโรงงาน ค้านรัฐหากเดินหน้า Full Lockdown จี้เร่งหาวัคซีนทางเลือกเพิ่ม ขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 65-70% ต่อจีดีพี”

เป็นอย่างไรบ้าง ตัวเลขอย่างนี้พอจะกระตุกต่อมสำนึกบ้างมั้ย คณะผู้กุมอำนาจรัฐไร้ฝีมือทั้งหลายที่อาศัยอำนาจกฎหมายพิเศษภายใต้ภาวะฉุกเฉินช่วยให้อยู่รอดมาได้ เพราะดูแล้วมีความขยัน ความคิดริเริ่มในด้านการออกกฎหมายควบคุมฝูงชนเท่านั้น

มาดูรายละเอียดบางส่วนของการประเมินโดยภาคธุรกิจเอกชน

นายผยง ศรีวนิช ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เปิดเผยว่า กกร.ได้พิจารณาปรับลดคาดการณ์การเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 จากเดิมจะอยู่ในกรอบ 0.0% ถึง 1.5% เหลือเป็น -1.5-0 %

กกร. ได้ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกจากเดิมขยายตัว 8-10% เป็น 10-12% และคงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในกรอบ 1-1.2% ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ต้องลดการเติบโตของจีดีพี มาจากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ

ที่จะตามมาคือผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจตลอดครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มจะหดตัวลง ขณะที่การส่งออกยังคงฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกแต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแล supply chain ไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง

กกร. เตือนว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤต ถลำลึกกว่าที่คาดไว้ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว เพราะเรายังไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 ยังไม่อาจกระจายวัคซีนได้มาก

แม้มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์มา 14 วันแล้วก็ตาม ทำให้ภาครัฐต้องขยายมาตรการ Lockdown ออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม และขยายวงกว้างออกไปหลายจังหวัด ซึ่งประเมินว่ากระทบคิดเป็น 3-4 แสนล้านบาท

“เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก ธุรกิจทุกส่วนได้รับผลกระทบรุนแรง ทั้งเอสเอ็มอี แรงงาน ไม่เว้นแม้กระทั่งส่งออก และจากการหารือต่างเห็นพ้องกันว่ารัฐบาลไม่ควรดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดย full lockdown โดยควรต้องอยู่กับมันให้ได้แต่ต้องมีวัคซีนและชุดตรวจเชื้อเร่งด่วน (Antigen Test Kit) ที่เพียงพอ” นายผยงกล่าว

มาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าไม่ได้ช่วยอะไรมากได้ เพราะการระบาดลามไปทั่วทุกระดับ ตั้งแต่เมืองหลวง จังหวัด อำเภอ ตำบล จนถึงหมู่บ้าน แม้จะล็อกดาวน์ แต่ละชุมชนก็มีการระบาดในกลุ่มของตัวเอง ไม่มีพื้นที่ปลอดการระบาด

ยิ่งช่วงนี้มีวิกฤตศรัทธาหนักต่อรัฐบาลที่ไร้ความสามารถ ระบบซิงเกิลคอมมานด์ไร้ความหมาย เพราะยังทำงานในแบบข้าราชการ ไม่มีอะไรดูแล้วเร่งด่วนสมกับภาวะฉุกเฉิน ซ้ำร้ายมีปัญหาในการยอมรับในกลุ่มแพทย์ เกิดภาวะต่อต้านในบางกลุ่ม

ทั้งนี้เกิดจากการแบ่งกลุ่มเป็นหมอการเมือง หมอภาคสนาม และหมอชนบท ต่างมีความคิดเห็นมุมมองแตกต่าง หมอที่อยู่ใกล้ศูนย์อำนาจมีปัญหาด้านความกล้าที่จะบอกให้ผู้นำการเมืองได้รับรู้ถึงสถานการณ์แท้จริง ขาดความเด็ดขาดในการตัดสินใจ

สภาพที่เป็นอยู่จึงเป็นเสมือน “รัฐล้มเหลว” และรัฐบาลอยู่ในสภาวะ “เป็ดง่อย” มีการแข็งขืนในกลุ่มข้าราชการประจำซึ่งเป็นผลของการเล่นพรรคเล่นพวก การคงอยู่ของระบบ “วีไอพี” ซึ่งได้อภิสิทธิ์ในเรื่องราวต่างๆ คำขู่ของผู้นำว่าจะเล่นงานไม่เป็นผล

การประเมินของภาคธุรกิจเอกชนสมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง แม้กระนั้นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะมีความรู้แสวงหาช่องทางแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะคงไม่มีความเก่งฉกาจแบบกะทันหัน เพราะผลงานที่ผ่านมาฟ้องให้เห็นว่าล้มเหลว

ตราบใดที่คณะ 3 ลุงยังอยู่ บ้านเมืองไม่มีทางรอด ทางเลือก การเมืองแบบไร้จิตสำนึกและความรับผิดชอบชั่วดี มีแต่จะชักนำบ้านเมืองเข้าสู่หุบเหวแห่งหายนะ




กำลังโหลดความคิดเห็น