"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 32 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้แล้ว หลังจากเลื่อนมาจากปีก่อน เพราะโควิด-19 แต่แทนที่สถานการณ์จะดีขึ้น การระบาดในญี่ปุ่นกลับรุนแรงกว่าเดิม เช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชีย ที่เจอการระบาดระลอกใหม่จากไวรัสสายพันธุ์เดลตา
ถึงแม้จะมีเสียงเรียกร้องจากคนญี่ปุ่นจำนวนมาก ให้ยกเลิกการแข่งขัน แต่คณะกรรมการจัดการแข่งขันและรัฐบาลญี่ปุ่น ยืนยันเดินหน้าจัดการแข่งขันต่อไปโดยไม่ให้มีคนดูในสนามแข่งขันเลย จากเดิมก่อนหน้านี้ ที่ห้ามไม่ให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาดู อนุญาตให้เฉพาะคนญี่ปุ่น และต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นเท่านั้น เข้าชมการแข่งขันได้
โตเกียว โอลิมปิกครั้งนี้ จึงเป็นโอลิมปิกที่กร่อยที่สุด เพราะไม่มีคนดูในสนาม ไม่มีเสียงเชียร์ ไม่มีบรรยากาศตื่นเต้นเร้าใจ มีเฉพาะการถ่ายทอดสดเท่านั้น นักกีฬาเอง ก็คงรู้สึกเซ็งที่ต้องแข่งขันกันแบบเงียบๆ และต้องระวังตัว ไปไหนไม่ได้นอกจากสนามแข่งกับที่พัก
ญี่ปุ่น คาดหวังกับโอลิมปิกครั้งนี้มากว่า จะกระตุ้นสร้างความเปลี่ยนแปลง ปลุกเศรษฐกิจที่ซบเซามากกว่า 2 ทศวรรษ ให้กลับมามีพละกำลังอีกครั้ง เหมือนตอนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1964 เมื่อ 56 ปีที่แล้ว ที่เป็นเวทีให้ญี่ปุ่นประกาศต่อชาวโลกเห็นว่า ประเทศที่บอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ลุกขึ้นยืนและก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้แล้ว
โตเกียว โอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ ญี่ปุ่นลงทุนเป็นเงินมหาศาล ทั้งในส่วนของภาครัฐ ในเรื่องสนามแข่งขัน ทั้งที่สร้างขึ้นใหม่ และปรับปรุงสนามเดิม การก่อสร้างหมู่บ้านนักกีฬา การลงทุนปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นเงินมหาศาล ตอนที่ญี่ปุ่นได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2013 มีการประมาณการงบประมาณในการจัดการแข่งขันไว้ที่ 7.5 พันล้านเหรียญ สหรัฐฯ แต่เมื่อต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปอีก 1 ปี มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และการลงทุนเพื่อป้องกันโควิด-19 ทำให้งบประมาณบานปลายขึ้นไปถึง 25 พันล้านเหรียญ
การศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า เป็นโอลิมปิกที่มีต้นทุนสูงที่สุดเท่าที่เคยจัดมา
ภาคเอกชนเองก็มีการลงทุนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะเข้ามาชมการแข่งขัน เป็นเงินมหาศาล ซึ่งกลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้แต่คนเดียวเข้ามาชมการแข่งขันได้
แบรนด์สินค้า บริการชั้นนำของญี่ปุ่นกว่า 50 แบรนด์ จ่ายค่าสปอนเซอร์รวมกันมากว่า 3 พันล้านเหรียญ เพื่อให้แบรนด์ของตัวเอง ปรากฏต่อสายตาของผู้ชมในสนาม ตลอด 16 วันของการแข่งขัน และใช้สิทธิความเป็นสปอนเซอร์ สำหรับการจัดกิจกรรมการตลาด ส่งเสริมการขายทั่วประเทศ อย่างเช่น นิปปอน เทเลกราฟ แอนด์ เทเลโฟน จะโชว์เทคโนโลยี AR โดยให้ผู้ชมใส่แว่น AR ดูการแข่งเรือ ทำให้เหมือนกับว่า นั่งอยู่ในเรือด้วย แต่ตอนนี้ทำได้แต่ให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันไม่กี่คนเท่านั้น ได้ทดลองใช้เทคโนโลยี AR ดังกล่าว
รายได้จากการขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ซึ่งเดิมคาดว่าจะสูงถึง 90,000 ล้านเยน หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท หายวับไปกับตา เช่นเดียวกับรายได้จากการจำหน่ายของที่ระลึก ที่ขายได้เฉพาะทางออนไลน์เท่านั้น
ในขณะที่ญี่ปุ่น เจ้าภาพจัดการแข่งขันต้องเสียหายอย่างหนัก ทั้งจากการเลื่อนการแข่งขันมา 1 ปี และ ต้องจัดการแข่งขันแบบไม่มีคนดูในสนาม คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซีได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะไม่ได้เป็นผู้ลงทุน แต่เป็นฝ่ายที่ได้รับค่าตอบแทนจากการแข่งขัน ในฐานะเจ้าของแบรนด์ 5 ห่วง
รายได้ก้อนใหญ่มาจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทีวี และค่าสปอนเซอร์หลัก ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลก เช่น วีซ่า โตโยต้า ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าสปอนเซอร์ในประเทศ เพราะชื่อและแบรนด์ของสปอนเซอร์จะไปปรากฏอยู่ในการถ่ายทอดสดที่มีคนทั่วโลกเห็น
ไอโอซีจะสูญเสียรายได้ก้อนใหญ่ ถ้าหากมีการงดการแข่งขัน ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดโอลิมปิกมีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 124,000 ล้านบาท ถ้าไม่มีการแข่งขัน ก็ไม่มีการถ่ายทอดสด แต่ถ้ามีการแข่งขัน แม้จะไม่มีคนดูในสนาม แต่ยังมีการถ่ายทอดสด
ไอโอซี เป็นผู้มีสิทธิเพียงผู้เดียวที่จะตัดสินใจยกเลิกการแข่งขัน ในอดีตมีการยกเลิก 2 ครั้ง เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 การยกเลิกโตเกียว โอลิมปิก ไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อนักกีฬาที่ทุ่มเทฝึกซ้อมมานาน โอลิมปิกครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายของหลายๆ คน แต่ผลกระทบที่รุนแรงกว่า คือ ไอโอซีจะเสียรายได้ก้อนใหญ่ที่ 4 ปีมีเพียงครั้งเดียว
ดังนั้น ไม่ว่าคนญี่ปุ่นมากแค่ไหน ต้องการให้ยกเลิกการแข่งขันครั้งนี้ เพราะเกรงว่า จะทำให้เกิดการระบาดของโควิดมากขึ้น แต่โตเกียว โอลิมปิก ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะไอโอซีไม่ให้ยกเลิก