xs
xsm
sm
md
lg

จับตารัฐเล่นงานหนัก โพสต์เรื่องจริงเอาติดคุก หลังข้อกำหนดใหม่บังคับใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-“ไอลอว์” เผยข้อกำหนดใหม่ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บังคับใช้แล้ว เตือนระวังถูกรัฐเล่นงาน หลังห้ามโพสต์สร้างความหวาดกลัว แม้จะเป็นความจริงก็ตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ด้านตำรวจเผย มิ.ย. เดือนเดียว พบผู้เข้าข่ายถูกดำเนินคดีปล่อยเฟกนิวส์กว่า 50 คดี เตรียมลากตัวมาจัดการ อภ.แจงนำเข้าโมเดอร์นา ไม่บวกกำไรหรือภาษี 88% กองทัพปฏิเสธข่าวทหารไทยบินไปฉีดวัคซีนที่สหรัฐฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (12 ก.ค.) เพจเฟซบุ๊ก iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ได้โพสต์ข้อความสรุปว่า ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) ได้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.2564 กำหนดห้ามโพสต์ข้อความสร้างความหวาดกลัว แม้เป็นความจริง หากใครโพสต์ จะมีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

โดยการกระทำที่จะเป็นความผิด ต้องมีองค์ประกอบ 1.การเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด (เข้าใจได้ว่ารวมถึงสื่อออนไลน์) 2.ที่มีข้อความอันอาจ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และ 3.การกระทำเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในราชอาณาจักรไทย ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น

ก่อนหน้าการประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ก็มีข้อกำหนดฉบับที่ 1 ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 26 มี.ค.2563 ห้ามนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนที่ไม่เป็นความจริง และใช้มาต่อเนื่อง 1 ปี 4 เดือน จากนั้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือผ่อนคลายข้อห้ามต่างๆ แต่ข้อห้ามเรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ไม่เคยถูกแก้ไขใด ๆ จนกระทั่งฉบับที่ 27 ออกมา เท่ากับยกเลิกข้อห้ามเดิมในข้อกำหนดฉบับที่ 1 แล้วใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 นี้แทน โดยมีข้อแตกต่าง 3 ประการ คือ 1.เอาผิดกับการเผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ทั้งที่เป็นความจริงและไม่เป็นความจริง 2.เพิ่มเรื่องกระทบความมั่นคงของรัฐเข้ามา และ 3.ไม่ต้องตักเตือนให้แก้ไขก่อน

พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่ผ่านมา เช่น กรณีเผยแพร่คำเตือนจากไปรษณีย์ให้ฉีดยาฆ่าเชื้อก่อนนำเข้าบ้าน ซึ่งไปรษณีย์ยืนยันเป็นข่าวปลอม โดยศาลยกฟ้อง เพราะเป็นคำเตือน ไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก , กรณียาบ้ารักษาโควิด-19 ได้ กรมควบคุมโรคชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา , กรณีให้ตุนอาหารน้ำดื่มรับเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ ศาลตัดสิน ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท จำเลยสารภาพ ลดโทษครึ่งหนึ่ง ให้รอลงอาญา , กรณี จ.นนทบุรี ปกปิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ศาลพิพากษาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 2 ปี ปรับ 30,000 บาท จำเลยสารภาพ ลดโทษครึ่งหนึ่ง ให้รอลงอาญา

ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับข้อห้ามตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันไม่เป็นความจริงและทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว จึงอาจเป็นความผิดทั้งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไปพร้อมๆ กันหรือเป็น “การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท” ศาลจึงพิพากษาลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียงข้อหาเดียวในฐานะบทกฎหมายที่มีโทษหนักกว่า ไม่ได้ลงโทษตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 โดยตรง แต่เมื่อข้อกำหนดฉบับที่ 27 ได้ขยายฐานความผิดให้กว้างออก รวมถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวที่ “เป็นความจริง” ด้วยแล้ว การโพสต์ข้อความที่เป็นความจริง ย่อมไม่ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) แต่อาจผิดตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 ได้

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวถึงการแชร์ข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ ว่า ช่วงเดือนมิ.ย.2564 ตำรวจได้รับข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และได้ทำการพิสูจน์ทราบ พบผู้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินคดีกว่า 50 คดี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโควิด-19 กว่า 30 คดี รวมถึงเรื่องวัคซีน และระบบสาธารณสุข ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน โดยจะเร่งนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดต่อไป

วันเดียวกันนี้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ออกแถลงการณ์กรณีมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับราคานำเข้าและการจัดเก็บภาษีวัคซีนโมเดอร์นา ว่า ราคานำเข้าที่มีการระบุโดสละ 584 บาท คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แต่ไม่สามารถเปิดเผยราคานำเข้าได้ เพราะเป็นข้อตกลงที่กำหนดไว้ในการซื้อขาย และไม่ได้มีการบวกกำไรหรือภาษีเข้าไปถึง 88%

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีปรากฏภาพการเดินทางไปสหรัฐฯ ของกำลังพล กองร้อยส่งทางอากาศ ว่า เป็นการเดินทางไปร่วมการฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์กับกองทัพสหรัฐฯ ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา วันที่ 10-26 ก.ค.2564 โดยกำลังพลทุกนายผ่านการตรวจโควิด-19 ซึ่งมีผลเป็นลบ และได้รับการฉีดวัคซีนที่ไทยแล้ว ไม่ได้เป็นการเดินทางไปฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพราะภาพที่เผยแพร่เป็นภาพปลอม


กำลังโหลดความคิดเห็น