ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางการต้องสั่งเร่งอพยพประชาชนจากเหตุการณ์ระเบิดในโรงงานที่เต็มไปด้วยสารเคมีที่เป็นพิษ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 หรือเกือบราวสองปีที่แล้ว ทางการได้สั่งอพยพประชาชนจากเหตุไฟไหม้ตู้คอนเทนเนอร์บนเรือบรรทุกสินค้าที่จอดเทียบท่า ท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากมีสารเคมีไม่ทราบชนิดรั่วไหลออกมาส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยโดยรอบและได้มีรายงานว่ามีการนำส่งผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแล้ว 25 ราย สถานการณ์ล่าสุดจากเหตุระเบิดที่ซอยกิ่งแก้วพบมีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 1 รายและบาดเจ็บสาหัสอีก 4 ราย
โจทย์สำคัญที่ประชาชนอยากรู้มาก ณ ขณะนี้คือจำเป็นต้องทนอยู่ในสภาพผู้อพยพแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ และเมื่อใดจึงจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้?
เพื่อไขข้อข้องใจในส่วนนี้สิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องมีและควรเตรียมการต่อไปมีดังนี้
1. การที่ภาครัฐจะสามารถตัดสินใจได้ว่าเมื่อใดที่สามารถอนุญาตให้ประชาชนย้ายกลับไปในพื้นที่ได้ นอกจากความมั่นใจว่าจะไม่มีการระเบิดซ้ำจากเชื้อเพลิงที่ยังตกค้างในโรงงานแล้ว ผลการประเมินความเสี่ยงผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ (Health Risk Assessment) คือเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยให้ทางภาครัฐตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แต่ประเด็นคือทุกครั้งที่มีการระเบิดไม่ได้มีสารพิษแค่ตัวสองตัวที่หลุดออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ แม้ว่าเราพอจะอนุมานได้จากลักษณะของโรงงานว่าควรมีสารเคมีชนิดใดสะสมอยู่บ้างเช่นในกรณีของการระเบิดครั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีสารเคมีที่มีความเกี่ยวข้องกับการผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกขนาดใหญ่เช่น พาทาเลต (Pthalate) ซึ่งเป็นสารเคมีทีใช้มากในผลิตภัณฑ์ พลาสติกประเภทพีวีซีและมีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจก่อให้เกิดการระคายเคือง ปวดศรีษะ คลื่นไส้อาเจียนรวมทั้งผลต่อการทำลายไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ทางเดินอาหาร นอกจากนี้ก็มีสารเคมีตระกูล บิสเฟนอล (Bisphenols: BPA, Bisphenol S, Bisphenol F) สไตรีน (Styrene) พอลิสไตรีน (Polystyrene)และ โทลูอีน (Toluene) สารพิษเหล่านี้ส่งผลร้ายต่อระบบประสาท เป็นพิษต่อตาและตับรวมทั้งอาจส่งผลต่อความผิดปกติของโคโมโซมโดยเฉพาะ สไตรีนสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติของโครโมโซม (Chromosomal Aberration) ในเม็ดเลือดขาวของคนได้ นอกจากสารพิษที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วยังมีสารก่อมะเร็ง โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons: PAHs)
รวมทั้งสารก่อการกลายพันธุ์อย่างสารไดออกซินและฟิวรัน (Dioxins and Furans) และโลหะหนักที่เป็นพิษอีกหลายชนิดเช่น แคดเมี่ยม (โรคอิไตอิไต) โครเมี่ยม ตะกั่ว และ ปรอท (โรคมินามะตะ) การมีรถตรวจสารพิษเฉพาะกิจ (คล้ายกับรถตรวจโควิด) ซึ่งภายในบรรจุอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจวัดสารพิษทั้งในรูปแบบสารอินทรีย์ (เช่นสารบิสเฟนอล สไตรีน พอลิสไตรีน และ โทลูอีน) และสารอนินทรีย์ (โลหะหนักประเภทต่างๆ) ปัจจุบันเท่าที่ทราบเทคโนโลยีมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดขนาดที่สามารถนำเอาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่อย่างเช่น Gas-Chromatography Mass Spectrometry (GC-MS) ซึ่งใช้วิเคราะห์สารอินทรีย์ในอากาศย่อขนาดให้เล็กลงในแบบพกพาได้ซึ่ง Portable GC-MS ถูกใช้อย่างมากในกองทัพสหรัฐอเมริกาเพื่อตรวจวัดอาวุธเคมีของข้าศึกที่ใช้ในสงครามทะเลทราย
2. ข้อมูลทางด้านอุตุนิยมวิทยาเช่น อุณหภูมิอากาศ ความเร็วลม ความเข้มแสง ความชื้นสัมพัทธ์ รวมทั้งความเข้มข้นของก๊าซโอโซนและ OH Radical ในชั้นบรรยากาศมีผลอย่างมากต่อการคาดการณ์ระยะเวลาในการคงอยู่ของสารพิษในชั้นบรรยากาศ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองคุณภาพอากาศจำเป็นต้องการข้อมูลทางด้านอุตุนิยมวิทยาเหล่านี้เพื่อคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนตัวของสารพิษ ปัจจุบันแบบจำลองที่ได้รับความนิยมมากในการพยากรณ์คือ AERMOD (The American Meteorological Society/Environmental Protection Agency Regulatory Model Improvement Committee's Dispersion Model) รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบบจำลอง AERMOD สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากลิ้งค์ข้างล่าง
http://eec-mtp.onep.go.th/report/aermod-2020.pdf
สำหรับแบบจำลองที่ง่ายกว่าและไม่ใช่ Algorithm ที่ซับซ้อนอะไรทางผู้เขียนได้เสนอ Air Compass Model ซึ่งเคยตีพิมพ์แล้วและสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
https://www.witpress.com/Secure/elibrary/papers/AIR12/AIR12016FU1.pdf
ประเด็นคือทางภาครัฐควรทุ่มงบประมาณในการเพิ่มจำนวนฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับคุณภาพอากาศและข้อมูลทางด้านอุตุนิยมวิทยาที่สามารถตรวจวัดได้แบบ Real Time และมีความละเอียดสูง (High Resolution) เพื่อให้นักวิชาการรวมทั้งประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเพื่อประกอบการตัดสินใจในการอพยพ
3. การแก้ไขปัญหาในระยะยาวภาครัฐควรเร่งจัดทำ ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) หรือ ระบบฐานข้อมูลที่เผยแพร่สู่สาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของมลพิษ(เป้าหมาย)ที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิด(เป้าหมาย)ประเภทต่าง ๆ สู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียและของเสียออกจากแหล่งกำเนิดไปบำบัดหรือกำจัด การที่ภาครัฐมีข้อมูล PRTR จะช่วยให้การบริหารจัดการความเสี่ยงผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของประชาชนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น เช่นหากเราทราบว่าอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษประเภท A, B, หรือ C จะได้เตรียมยารวมทั้งอุปกรณ์สำหรับการรักษาไว้แต่เนิ่น ๆ หากท่านผู้อ่านต้องการค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักคิดของ PRTR สามารถติดตามได้จากลิงค์ข้างล่างครับ
http://www.tei.or.th/file/files/PRTR-OUTLINE.pdf