xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ความหวัง และความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"


ในวันที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงสุด (1 กรกฎาคม ติดเชื้อ 5,533 คน เสียชีวิต 57 ราย) ฉีดวัคซีนไปได้เพียง 10 ล้านโดส และเจอกับไวรัสกลายพันธุ์ที่ติดไวและระบาดเร็ว โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ถูกกำหนดไว้ก่อนที่สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยจะรุนแรงขึ้นในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา ย้อนหลังกลับไปนานกว่านั้น นักธุรกิจ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ต มีความพยายามที่จะให้รัฐบาลเปิดเกาะภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่ฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีที่แล้ว ในช่วงที่การระบาดระลอกแรกสงบลง แต่รัฐบาลเกรงว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะนำเชื้อเข้ามา เพราะตอนนั้น ซีกโลกตะวันตกกำลังเริ่มการระบาดระลอก 2 จึงไม่อนุมัติ

การเดินหน้าภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ครั้งนี้ เป็นความหวังว่าจะเป็นโมเดลของการเปิดประเทศ ที่มีเป้าหมายต่อไปที่เกาะสมุย เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ และบุรีรัมย์ หากสำเร็จคือ หลังจากนี้อีก 1-2 เดือน ไม่มีการระบาดเพิ่มขึ้น ก็จะนำร่องไปสู่การเปิดประเทศใน 120 วัน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ จึงเป็นเดิมพันครั้งสำคัญ ทั้งของประเทศไทย และของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะอยู่หรือจะไปก็อยู่ที่ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์นี้แหละ

ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ยังเป็นที่จับตามองของประเทศต่างทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย บางประเทศมีโครงการ Travel Bubble ระหว่างกัน เช่น ฮ่องกง กับสิงคโปร์ แต่ต้องระงับไป เพราะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในจำนวนเกินเงื่อนไขที่กำหนดไว้ หมู่เกาะมัลดีฟส์ เปิดรับนักท่องเที่ยวต้นปีนี้ หลังจากฉีดวัคซีนให้ประชาชนส่วนใหญ่แล้ว แต่เกิดการระบาดขึ้นอีก จนต้องปิดเกาะบางเกาะ

เกาะภูเก็ต เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่ใครๆ ก็อยากมา หนึ่งปีครึ่งที่โลกเผชิญกับสงครามโควิด คนเดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้ สายการบินหยุดบิน การเปิดเกาะภูเก็ตครั้งนี้ เป็นการประเดิมการกลับมาของนักท่องเที่ยว ในสภาวะนิว นอร์มอล ที่มีเงื่อนไขซึ่งนักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตาม

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics ทำการศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อถอดบทเรียนหมู่เกาะมัลดีฟส์และเซเชลส์ ซึ่งมีภูมิประเทศคล้ายภูเก็ต หลังจากเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อัตราการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น พบความเสี่ยงจากการระบาดของสายพันธุ์อื่นนอกประเทศ พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ของโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์

เมื่อถอดบทเรียนการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้รับวัคซีนในอัตราฉีดสูง และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กรณีหมู่เกาะเซเชลส์ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงถึง 71.5% แต่เมื่อมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กลับพบการระบาดของเชื้อเฉลี่ยสูงขึ้น 3.8 เท่าตัว ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ในขณะที่ประเทศมัลดีฟส์ที่มีอัตราการฉีดวัคซีน 58.3% พบการระบาดสูงขึ้นกว่าเดิม 8.2 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจะเห็นว่าหลังจากเปิดประเทศแล้ว ทั้งสองประเทศยอดนักท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นในสองเดือนแรก แต่ในเดือนที่สามเริ่มพบยอดการติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชี้ถึงโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสที่แตกต่างจากสายพันธุ์ท้องถิ่น โดยเป็นสิ่งที่ไทยต้องตระหนัก

เมื่อมองย้อนกลับมาที่จังหวัดภูเก็ต ในช่วงที่ผ่านมามีความพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยประชาชนในจังหวัดภูเก็ตได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่า 3.6 แสนคน คิดเป็น 87% ของประชากร และเข็มที่สอง 2.9 แสนคน คิดเป็น 70% ของประชากร ดังนั้น การฟื้นฟูการท่องเที่ยวผ่าน “โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ ซึ่งจังหวัดได้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขภายในจังหวัดที่รัดกุมตามแผน เช่น แผนสำรองเรื่องการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมให้กับประชาชนและผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มมาแล้วเป็นเวลา 14 วัน จึงสามารถเข้ามาเที่ยวที่ภูเก็ตได้โดยต้องพำนักอยู่ในภูเก็ตเป็นเวลา 14 คืน ก่อนที่จะเดินทางไปเที่ยวสถานที่อื่นในประเทศไทย

นอกจากนี้ จะต้องมีการตรวจเชื้อคัดกรองโรคโควิด-19 จำนวน 3 ครั้งในระหว่างอยู่ภูเก็ต และต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus และแอปหมอชนะ เพื่อให้ติดตาม timeline ได้ รวมถึงการอนุญาตชาวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวจะต้องเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลางตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งคาดว่าในระยะแรก นักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้แก่ เยอรมนี อังกฤษ รัสเซีย ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส ซึ่งประเทศที่นิยมมาภูเก็ตก่อนเกิดการระบาด คิดเป็น 30% ของนักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ต


กำลังโหลดความคิดเห็น