xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”ปัดยึดอำนาจจัดวัคซีน-ศบค.จ่อปลดล็อกร้านอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ผู้ป่วยโควิดไทยทะลุ 2 แสน เสียชีวิตสะสม 1,485 ราย กทม.เจอคลัสเตอร์ใหม่ แคมป์คอนโดย่านสามแยกไฟฉาย และในหลายจังหวัด 18 มิ.ย.นี้ ลุ้น ศบค.ผ่อนคลายเปิดร้านอาหารเต็มรูปแบบ "บิ๊กตู่" ขออภัย ปัญหากระจายวัคซีนกระทบเลื่อนฉีด ปัดยึดอำนาจจัดสรร สธ.ยังทำหน้าที่กำหนดปริมาณวัคซีนกระจายทุกจังหวัดตามสูตร พร้อมเตรียมสถานีกลางบางซื่อรองรับฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มตกหล่น-ถูกเลื่อนจาก "หมอพร้อม" เริ่มวันนี้ อย.แจงขั้นตอนพิจารณาวัคซีน "สปุตนิก" สะดุด ยังขาดส่งข้อมูลสำคัญ ด้าน "ตู่ นันทิดา" นายกอบจ.สมุทรปราการ ทุ่มงบ 400 ล.จองซื้อวัคซีนทางเลือก ฉีดให้กับประชาชน

วานนี้ (15 มิ.ย.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,000 ราย ยอดสะสม 202,264 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 4,774 ราย กำลังรักษาอยู่ 38,061 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,249 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 365 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,485 คน

โดยกทม.และปริมณฑล ยังพบผู้ติดเชื้อสูง โดยกทม.มีคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้น 1 คลัสเตอร์ เป็นแคมป์ก่อสร้างคอนโดมิเนียมแยกไฟฉาย ทำให้มี 85 คลัสเตอร์ต้องเฝ้าระวัง สมุทรปราการพบคลัสเตอร์ใหม่ 2 กลุ่ม คือ บริษัทผลิตขนมอบกรอบ อ.บางเสาธง กับ คอนโดฯในอ.พระประแดง จ.ฉะเชิงเทรา พบคลัสเตอร์ใหม่ บริษัทคัดแยกและรีไซเคิล อ.พนมสารคาม และคลัสเตอร์บริษัทชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ ที่บ้านโพธิ์ จ. สมุทรสาคร คลัสเตอร์ใหม่โรงงานกล่องกระดาษ จ.นครปฐม คลัสเตอร์ใหม่ ที่บริษัทเอกชน ในอ.สามพราน และ จ.ปราจีนบุรี คลัสเตอร์ใหม่ ในบริษัทอุปกรณ์ระบบส่งน้ำ

ลุ้นศบค.ผ่อนคลาย เปิดร้านอาหารเต็มรูปแบบ

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค.กล่าวถึง การพิจารณามาตรการคลายล็อกกิจกรรมและกิจการ ว่า จะต้องรอฟังความเห็น จากสธ.เสนอมาตรการเข้ามาให้ศบค.เป็นผู้พิจารณา และหากจะเปิดเต็มรูปแบบ หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องฟังจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก

ส่วนกรณีผู้ประกอบการร้านอาหาร และนักดนตรี ยื่นข้อเสนอเพื่อให้มีการผ่อนคลาย พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า นายกฯ ก็ให้ดูแลในเรื่องนี้ด้วย แต่ต้องฟังสธ.ว่าจะมีข้อเสนออย่างไรบ้าง โดยคาดว่าจะเสนอมาตการเข้าที่ประชุมศบค.ในวันศุกร์ที่ 18 มิ.ย.นี้

นายกฯแจงไม่ได้รวบอำนาจจัดการวัคซีน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมครม. ถึงเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติว่า หลังจากคิกออฟทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ถึงวันนี้ ได้กระจายวัคซีนไปทั่วประเทศแล้วกว่า 7 ล้านโดส และได้ฉีดวัคซีนไปมากกว่า 6.5 ล้านโดส และ ฉีดได้มากกว่า 2 ล้านโดส ภายในเพียงเวลา1 สัปดาห์ หากวัคซีนเข้ามามากกว่านี้ ก็น่าจะฉีดได้มากกว่านี้

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะทำให้การฉีดวัคซีนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง คือ การจัดสรรวัคซีนไปยังจุดบริการทั่วประเทศอย่างทั่วถึง และพอเพียง ส่วนข่าวการประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนจากรพ.ต่างๆ และเข้าใจว่าภาครัฐไม่ได้จัดสรรวัคซีนให้อย่างเพียงพอ หรือไม่ได้มีการประสานงานกัน ข่าวต่างๆเหล่านี้ ตนได้รับทราบมาโดยตลอด จะพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสั่งการไปยังผู้รับผิดชอบ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ปริมาณวัคซีนที่ทยอยเข้ามา ต้องมีความสมดุลกับขีดความสามารถในการฉีดในแต่ละวัน ระยะเวลาที่ให้ไป เมื่อวัคซีนหมดก็ต้องหยุด นั่นคือข้อเท็จจริง ถ้ามีมาก็จะส่งมอบเพิ่มไปให้

นายกฯ ยืนยันว่า แต่ละหน่วยงานมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่ใช่ตนยึดอำนาจไว้แต่คนเดียว โดยอันดับแรก ศบค. จะต้องเป็นองค์กรสูงสุด และมีหลายหน่วยงานอยู่ในศบค.อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการเมือง ข้าราชการ รัฐมนตรี ก็อยู่ตรงนี้ ศบค.จะเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายในการจัดสรรวัคซีนให้แต่ละจังหวัด โดยมีหลักการว่า ทุกจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนตามสัดส่วนของประชากร และเพิ่มเติมให้กับจังหวัดที่มีสถานการณ์แพร่ระบาด รวมถึงเพิ่มเติมกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศึกษา และอื่นๆ

อันดับที่สอง หน่วยงานหลักที่รับมอบนโยบายจากศบค. คือ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นผู้กำหนดว่า วัคซีนที่ได้รับในแต่ละรอบจะจัดส่งแต่ละจังหวัดจำนวนเท่าไร ซึ่งต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งในการตรวจสอบวัคซีนที่นำเข้ามา เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ลำดับที่สามคือ ความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ ที่จะเป็นผู้กำหนดว่า แต่ละรพ.และทุกจุดฉีดในจังหวัดนั้น จะได้รับวัคซีนเท่าใด ซึ่งการจัดสรรนี้จะต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่มี จนกว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนในรอบต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะการรับวัคซีนของเราทยอยมาเป็นรอบ ไม่ใช่ได้มาครั้งเดียว 6 ล้านโดส หรือ10 ล้านโดส

สำหรับหลักการที่เรียกว่า สูตรในการจัดสรรวัคซีนที่ตนได้มอบนโยบาย และสั่งการไป มีดังนี้

1. เมื่อวัคซีนมาถึง สธ.ตรวจสอบแล้ว จะต้องส่งต่อให้ทุกจังหวัดทันที จะไม่มีจังหวัดใดที่ไม่ได้เพิ่มเติมในแต่ละรอบ ซึ่งในอนาคต อาจยกเว้นจังหวัดที่ได้ครบตามเป้าหมายแล้ว หรือบางจังหวัดที่ศบค.พิจารณาว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามการแพร่ระบาดในพื้นที่

2.จำนวนวัคซีนที่ส่งให้แต่ละจังหวัด จะมีปัจจัยต่างๆ ที่จะต้องนำมาคำนวนด้วย ได้แก่ จำนวนประชากร จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้จองในระบบหมอพร้อม และจังหวัด และกลุ่มเฉพาะ อาชีพเสี่ยง หรือพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นต้นทุนของเราในเรื่องการส่งออก

3. หากจำนวนวัคซีนที่ได้ ถ้าคำนวนแล้วไม่เพียงพอต่อการฉีดในรอบนั้น ให้แต่ละจังหวัดและจุดฉีด พิจารณาจัดสรรให้กลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคเสี่ยงที่ลงทะเบียนไว้ก่อนแล้ว

4.หากมีความจำเป็นจะต้องชะลอการฉีดวัคซีนตามกำหนดเดิม ระหว่างรอการนำส่งวัคซีนต้องยึดแบบเดิมไว้ก่อน โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ และจัดการฉีดวัคซีนตามหลักเดิมทันทีที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน

ขออภัยวัคซีนขาดช่วงต้องเลื่อนฉีด

ทั้งนี้ เชื่อว่า ทุกฝ่ายมีความพยายามตั้งใจและดำเนินการมาอย่างทุ่มเท ซึ่งปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง อาจเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมได้ยากคือ การนำส่งวัคซีนต้องใช้เวลา ทั้งการผลิตและตรวจสอบคุณภาพ เราไม่อาจจะกำหนดได้แน่นอนทุกครั้งว่าจะรับวันใด เวลาใด หลายประเทศทั่วโลกก็เจอปัญหาแบบนี้ ประเทศไทยยังได้เปรียบที่เรามีบริษัท สยามไบโอไซน์เอนซ์ ซึ่งผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา ตั้งอยู่ในประเทศไทย ทำให้การขนส่งทำได้อย่างรวดเร็ว อันนี้เป็นเรื่องที่บริษัทใหญ่เขาจะพิจารณาในการส่ง และในประเทศไทย ถือเป็นฐานการผลิตสำคัญในอาเซียน ส่วนหนึ่งใช้ยอดตรงนี้ในการจัดหาให้อาเซียนด้วย

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องปรับแผนการฉีดวัคซีนตามสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้น มีการเปิดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงอย่างกรุงเทพฯ มีการเพิ่มปริมาณการฉีด เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันการแพร่ระบาด และอีกส่วนเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจ ที่จะต้องลดการปิดโรงงาน เพราะจำเป็นต้องให้ภาคการผลิตดำเนินการต่อ อาจจะไปกระทบผู้ลงทะเบียนไว้ก่อนในบางส่วน

นอกจากนั้น ต้องยอมรับว่า ภารกิจครั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก มีผลกระทบต่อผู้อยู่ในประเทศไทยทั้ง 70 ล้านคน ซึ่งอาจเกิดความเข้าใจที่คาดเคลื่อนในการประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน

"ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ผอ.ศบค. ถือเป็นผู้บริหารสูงสุดในสงครามโควิดครั้งนี้ ต้องขออภัยด้วยกับปัญหาที่เกิดขึ้น และขอรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด "พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว และว่า ขณะนี้ รัฐบาลได้หาวัคซีนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสแล้ว สำหรับประชาชน 50 ล้านคน หรือที่เรียกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศภายในสิ้นปีนี้ และเตรียมการสำหรับปีหน้าไปด้วย

สธ.จัดสถานีบางซื่อฉีดวัคซีนกลุ่มตกหล่น

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้ (16 มิ.ย.) ศูนย์ฉีดวัดซีนกลางบางซื่อเตรียมให้บริการฉีดวัดซีนโควิด-19 แก่ผู้ที่ถูกเลื่อนจากการลงทะเบียนจองผ่านระบบ "หมอพร้อม" ในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระหว่างเดือน มิ.ย. ใน 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง โดยคาดว่าจำนวนประชาชนที่ถูกเลื่อนและตกหล่นจากแอปพลิเคชั่น "หมอพร้อม" กทม. มีจำนวนไม่มาก

ขึ้นทะเบียน "สปุตนิก" สะดุด ขาดส่งข้อมูลสำคัญ

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตามที่บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ได้ยื่นเอกสารขออนุญาตวัคซีนสปุตนิก วี กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นั้น ขณะนี้ อย. ได้รับข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ซึ่ง อย. ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อมูลชุดเดิมที่เคยยื่นกับ อย. แล้ว ยังคงขาดข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาด้านความปลอดภัย คุณภาพ และหลักฐานการแสดงมาตรฐานการผลิต GMP PIC/S หรือเทียบเท่า

"โดยข้อมูลที่ขาดคิดเป็นร้อยละ 50 ของข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาทั้งหมด เช่น ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตัวยาสำคัญ รายละเอียดวิธีวิเคราะห์ของตัวยาสำคัญและผลิตภัณฑ์ยา ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ อย. ได้แจ้งทางบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ให้จัดส่งข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาโดยเร่งด่วนเป็นครั้งที่ 3แล้ว"

"นายกฯตู่ นันทิดา"อบจ.สมุทรปราการ ทุ่ม 400ล.ซื้อวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวนันทิดา แก้วบัวสาย (อดีตนักร้องคนดัง ตู่ นันทิดา) ปัจจุบันเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ(อบจ.) แถลงข่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดสมุทรปราการ ได้เป็นพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังพิเศษ ดังนั้น ในวันนี้ ทางอบจ.จังหวัดสมุทรปราการ ได้ขออนุมัติสภาอบจ.จ่ายขาดเงินสะสม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 400 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีนทางเลือก เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับฉีดให้กับประชาชนชาวจังหวัดสมุทรปราการ เพิ่มเติมจากที่รัฐบาลกำลังจัดสรรวัคซีนให้ เพราะประชากรในจังหวัด มีประชากรแฝง แรงงานต่างด้าว มีจำนวน เกินกว่า 2 ล้านคน

ทั้งนี้ ทางอบจ.ขออนุมัติผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปยัง ศบค .แล้ว สั่งซื้อวัคซีนทางเลือก เช่น โมเดอร์นา ไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และซิโนฟาร์ม ผ่านองค์การเภสัชกรรมกระทรวงสาธารณสุข และผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อให้ได้วัคซีนโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ยังบูรณาการความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)อื่นๆ จัดสรรงบประมาณ จ่ายขาดเงินสะสม เป็นจำนวนเงินรวม 800 ล้านบาทเพื่อให้ครอบคลุมประชากรในท้องถิ่นนั้นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น