xs
xsm
sm
md
lg

สวิสยังคงใช้เคมีปราบศัตรูพืช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



ชาวสวิสได้ทำประชามติเรื่องการห้ามใช้เคมีภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชซึ่งถ้าประสบความสำเร็จ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะเป็นดินแดนที่ 2 ในโลกซึ่งห้ามการใช้สารเคมีกำจัดแมลงอย่างเด็ดขาด นอกจากประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นต้นแบบของมาตรการนี้

แต่ผลปรากฏว่าฝ่ายชนะด้วยเสียง 61 เปอร์เซ็นต์ยังคงให้ใช้เคมีสังเคราะห์

ถ้าฝ่ายสนับสนุนห้ามใช้ชนะ จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สวิตเซอร์แลนด์เป็นแหล่งผลิตสินค้าเคมีภัณฑ์ระดับแนวหน้าของโลก มีหลายบริษัทซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังโดยเฉพาะผู้ผลิตหลักคือกลุ่มซินเจนตา (Syngenta) กลุ่มเกษตรกรและผู้เลี้ยงสัตว์

มีข้อเสนอของรูปแบบ อย่างแรกคือการหยุดการจ่ายเงินสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรที่ใช้เคมีภัณฑ์สำหรับการเกษตร และ อีกรูปแบบคือการห้ามใช้อย่างเด็ดขาดภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมหาศาล

กลุ่มผู้สนับสนุนการห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ให้เหตุผลด้วยข้ออ้างความห่วงใยต่อคุณภาพของน้ำ ความเสียหายต่อพืชต่าง สัตว์ รวมทั้งแมลงที่เป็นประโยชน์ในธรรมชาติ ฝ่ายคัดค้านอ้างว่าการห้ามใช้จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถอยู่รอดได้

การเริ่มลงคะแนนประชามติเริ่มวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในเรื่องอื่นๆ ด้วยเช่นกัน การออกกฎหมายเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ภาษีใหม่สำหรับเชื้อเพลิงผลิตจากซากฟอสซิล และการส่งเสริมด้านการเงินเพื่อรณรงค์เรื่องการปราบโรคโควิด-19

กลุ่มรณรงค์ในเรื่องต่างๆ ทำเพียงรวบรวมรายชื่อได้ 1 แสนเสียงสำหรับเปิดประเด็นให้มีประชามติอย่างเป็นทางการในเรื่องที่พวกตนเองต้องการ

สวิตเซอร์แลนด์มีระบอบประชาธิปไตยทางตรง นั่นคือทุกเรื่องที่เป็นแนวนโยบายสำคัญจะต้องผ่านการลงคะแนนเสียงโดยประชาชนเท่านั้น

ถ้าประสบความสำเร็จในเรื่องการสั่งห้ามการใช้สารเคมีปราบแมลงศัตรูพืช จะส่งผลกระทบไปไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่เมืองหรือระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่จะกระทบไปทั่วโลกซึ่งหลายประเทศได้มีการสั่งห้ามใช้เคมีภัณฑ์ปราบศัตรูชนิดสังเคราะห์

ผลกระทบดังว่าจะมีนัยสำคัญกว่าการประกาศห้ามใช้เคมีเกษตรและยาปราบศัตรูพืชทุกชนิดโดยประเทศภูฏานในปี 2013 และสวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้ผลิตรายใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ และรายใหญ่ที่สุดในโลกคือกลุ่ม “ซินเจนตา”

หญิงชาวเมืองเจนีวา มารี ลองโบส์ ประกาศชัดเจนว่าได้ลงคะแนนหนุนการสั่งห้ามการใช้อย่างแน่นอนเพราะเป็นผลดีต่อสุขภาพในอนาคต และเคมีภัณฑ์ปราบศัตรูพืชเป็นอันตราย ทั้ง 2 ข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เสียงกลุ่มคนรุ่นหนุ่มสาวมาก

แต่เกษตรกรสวิสแย้งว่าทุกวันนี้ก็ได้ทำตามหลักปฏิบัติและข้อห้ามต่างๆ ซึ่งเคร่งครัดที่สุดในยุโรปอยู่แล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ผ่านมา 20 ปีก็ได้เห็นงานและรายได้ที่ลดลงต่อเนื่อง เมื่อจะต้องเผชิญกับกฎใหม่ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกโกรธแค้นเป็นอย่างมาก

นายกสมาคมเกษตรกรแห่งเมืองซูริค นายมาร์ติน ฮาบบ์ กล่าวด้วยความฉุนเฉียวว่า “ดูก็แล้วกันว่าคนมากมาย โดยเฉพาะชาวเมืองใหญ่ รู้เรื่องความหมายของคำว่าเกษตรกรรมดีพอหรือไม่”

“กะอีแค่ปลูกต้นมะเขือเทศสัก 2 ต้นในสวน อยู่ใกล้หน้าต่าง ก็จะมาอ้างว่าเป็นการทำเกษตร หรือมาอวดว่ารู้เรื่องเกษตรอินทรย์เช่นนั้นหรือ” นายฮาบบ์บอก

กลุ่มผู้สนับสนุนเกษตรในสวิตเซอร์แลนด์มีความแข็งแกร่ง ก่อนหน้านี้โพลบ่งชี้ว่าคะแนนโหวตให้การคงอยู่สำหรับเคมีปราบศัตรูพืชอาจยังมีโอกาสชนะ

แม้ฝ่ายสนับสนุนการใช้จะชนะ เรื่องนี้จะยังคงไม่จบง่ายๆ ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่อง ชาวสวิสทุกคนให้ความสำคัญกับการรักษาธรรมชาติที่สวยงามของประเทศ และสิ่งแวดล้อมต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่

ปัญหาขณะนี้เป็นเพียงว่าจะหาวิธีทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลตามนั้น

ล่าสุดชาวสวิสได้ทำประชามติเรื่องกฎควบคุมเรื่องภาวะโลกร้อน ปรากฏว่าเสียงส่วนมากได้ปฏิเสธมาตรการที่เสนอโดยรัฐบาลเพื่อขึ้นภาษีสำหรับเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์และตั๋วโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นมาตรการตามข้อตกลงปารีส

ผลการลงคะแนนเสียงทำให้มี 51 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วย และ 49 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วย และเป็นการลงคะแนนเสียงโดยตรงตามระบอบของสวิสเช่นเคย

ผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ยังเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 การขึ้นภาษีด้วยมาตรการดังกล่าวถูกมองว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องกับความพยายามที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

พวกไม่เห็นด้วยแย้งว่าสวิตเซอร์แลนด์ได้ส่งผลกระทบเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ในการระบายไอเสียจากเครื่องยนต์ในทั่วทั้งโลก ดังนั้นจึงถือว่าเป็นส่วนน้อย

การปฏิเสธของประชาชนส่งผลกระทบต่อรัฐบาลสวิส ซึ่งได้พยายามร่างกฎควบคุมใหม่ และพยายามลดการปล่อยควันและภาระเรือนกระจกให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปี 1990 ให้สำเร็จภายในปี 2030 ตามข้อตกลงสนธิสัญญาปารีสได้

สุดท้ายกลุ่มผลประโยชน์ด้านธุรกิจก็ยังเป็นฝ่ายชนะประเด็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น