xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของ “ยาไทย” กับไข้หวัดไวรัสอินฟลูเอนซา 102 ปีที่แล้ว? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"


การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่หรืออินฟลูเอนซา เกิดขึ้น สมัยรัชกาลที่ 6 ได้เริ่มเป็นขึ้นจากภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2461 ก่อน แล้วกระจายแพร่ไปทั่วราชอาณาจักร เป็นเวลานานประมาณ 6 เดือน จนสงบลงเมื่อเดือนมีนาคม 2462[1]

ในเวลาดังกล่าวนั้นหัวเมือง 17 มณฑล โดยพระมหากรุณาธิคุณได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมสาธารณสุขจัดส่งแพทย์ ส่งยาและคำแนะนำออกไปช่วยป้องกันรักษาสมทบกับแพทย์ประจำเมือง [1]

โดยเมื่อโรคสงบแล้วจึงได้รวบรวมบัญชีจำนวนคนที่ป่วยและตายด้วยโรคนี้ จึงได้ความจริงว่าในขณะนั้นประเทศไทยใน 17 มณฑลนั้น มีจำนวนพลเมืองทั้งสิ้น 8,478,566 คน แต่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่อินฟลูเอนซามากถึง 2,317,662 คน[1] คิดเป็นอัตราการป่วยประมาณมากถึง 27.34% ของประชากร

ในขณะที่ผู้เสียชีวิตมีมากถึง 80,223 คน[1] คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตเทียบกับจำนวนผู้ป่วยมากถึง 3.46% ดังนั้นทั้งอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยนั้น ถือว่ารุนแรงกว่าโรคโควิด-19 ที่มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ประมาณ 1% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ

สิ่งที่น่าสังเกตุประการหนึ่งก็คือในช่วงเวลานั้นทั่วโลกมีการติดเชื้อมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สเปนประมาณ 500 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณหนึ่งในสามของประชากรโลก [2],[3] และมีการประมาณการว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคนทั่วโลก นั่นหมายความว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูงมากถึงประมาณ 10% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ

นั่นแสดงว่าอัตราการเสียชีวิตอันเกิดจากไข้หวัดใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2461 นั้น อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยของไทยนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างชัดเจน คือ ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 3.46% ของจำนวนผู้ป่วย แต่ในขณะที่ทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตมากถึง 10%

นอกจากนั้น ในขณะที่โรคระบาดไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยระบาดอยู่เพียง 6 เดือน แต่ในขณะที่ทั่วโลกมีการระบาดถึง 4 ระลอกกว่าจะสิ้นสุดนั้นต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ส่วนที่มีความเชื่อถึงการหายไปของโรคระบาดโดยไม่ได้มีวัคซีนในยุคนั้น ปัจจัยหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะอิทธิพลของฤดูกาลของประเทศไทยที่เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน (โดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ) ในขณะเดียวกันในเวลานั้นก็ยังไม่มีการเดินทางด้วยความเร็วจากเครื่องบินที่สามารถนำเชื้อจากประเทศอื่นเข้ามาในประเทศไทยได้เหมือนยุคปัจจุบัน

ส่วนทั่วโลกซึ่งได้ยุติโรคไข้หวัดใหญ่ในยุคนั้น ก็น่าจะเป็นเพราะไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสไปเรื่อยๆ จนความรุนแรงน้อยลง ส่วนไวรัสที่มีความรุนแรงก็จะตายไปพร้อมๆกับผู้ป่วยซึ่งเป็นที่อยู่ของไวรัสที่รุนแรงเช่นกัน
ผู้ที่ติดเชื้อในช่วงแรกของไข้หวัดใหญ่ในยุคนั้นมี อาการของโรคไม่มากนัก ที่แปลกกว่าปกติคือ มักพบใน ช่วงอายุระหว่าง 15-40 ปี ต่างจากไข้หวัดใหญ่อื่นที่มัก พบในผู้สูงอายุหรือเด็กและเติดเชื้อได้ง่าย ทำให้แพร่เชื่อต่อไปได้ง่าย เพราะผู้ติดเชื้อเข้าใจว่าหายแล้วไม่ได้ระวังว่า ตนสามารถแพร่เชื้อได้อยู่ ทำให้เกิดการแพร่กระจายในวงกว้าง ในขณะที่ช่วงหลังของการระบาดจะมีอาการของโรครุนแรง โดยภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลังจากเกิดจากโรคปอดบวมทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วขึ้น[4]
คำถามมีอยู่ว่าเหตุใดประเทศไทยมีวิธีการรักษาอย่างไร จึงมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ก็ในเมื่อเวลานั้นยังไม่มีวัคซีนสำหรับไข้หวัดใหญ่ มองไม่เห็นไวรัส ไม่มีการใช้สเตียรอยด์ หรือมีห้องแรงดันติดลบเหมือนกับในยุคปัจจุบัน
โดยราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2461 เล่ม 35 หน้า 1855 ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงนครบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า
“ประกาศกระทรวงนครบาล
เสนาบดี กระทรวงนครบาล รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อม ประกาศแก่ทวยราษฎรให้ทราบทั่วกัน

ด้วยทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จากรายงาน กระทรวงนครบาลว่า เวลานี้ประชาชนและพระมหานครป่วยด้วยไข้หวัดอย่างที่แพทย์ยุโรปเรียกว่าอินซูเอนซา หรืออย่างไทยเรียกว่าไข้หวัดใหญ่ ชุกชุม และเปนอันตรายถึงชีวิตก็มีมาก ทรงพระราชณวิตกถึงประชาชนที่ขาดความรู้จากรักษาในทางที่สมควรอยู่เปนอันมาก มีพระราชประสงค์ให้ราษฎรได้รับความช่วยเหลือกำจัดความป่วยเจ็บตามสมควรทั่วกัน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เสนาบดีกระทรวงนครบาลจากเจ้าพนักงานแพทย์ออกไปประจำตามสถานที่ๆ ประชุมชนในตำบลพี่จะสะดวกในท้องที่ๆเกิดความไข้ สำหรับการช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วยไข้ แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แจกจ่ายยาให้เปนทานแก่ผู้ที่ป่วยเจ็บ จนกว่าความไข้เจ็บ จะสงบเบาบางลง ตั้งบนที่พักใกล้ออกไปประจำอยู่นั้น คือ ที่โรงพยาบาลรัฐบาลทุกแห่ง แรกที่อื่นเช่นตามสถานีตำรวจพระนครบาลเป็นต้น สิ่งใดบอกไว้ว่าเป็นสถานที่แจกยา

เพราะฉนั้น ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดป่วยเจ็บมีอาการไม่สบายลงเวลาใดให้รีบไปชี้แจงขอความช่วยเหลือต่อเจ้าพนักงานแท้ที่ใกล้เคียงตามที่บอกตำบลที่ตั้งประจำไว้แล้วนั้นโดยทันที เผื่อถ้าจะได้ตรวจจ่ายยาให้ตามควรแก่อาการ

ศาลาว่าการนครบาล
ประกาศมา ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๑
(ลงนาม) มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช
เสนาบดีกระทรวงนครบาล”[5]


เป็นอันว่าวิกฤตของไข้หวัดใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้นได้มีการส่งแพทย์ไปประจำสถานที่ต่า

ๆ และใช้การแจกจ่ายยาทั้งในโรงพยาบาล หรือสถานีตำรวจ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าคนในยุคนั้นได้จ่ายยาประเภทไหนให้กับผู้ป่วยในเวลานั้น

ในหนังสือระบาดบันลือโลก เล่มที่ 2 รวบรวมโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ได้กล่าวอ้างอิงถึงงานนิพนธ์เรื่อง ไข้หวัดใหญ่ในรัชสมัย รัชกาลที่ 6 ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์สำราญ วังศพ่าห์ ราชบัณฑิต ปรากฏในสารศิริราช พ.ศ. 2510 หน้า 15-20 ความตอนหนึ่งว่า

“ระยะนี้เป็นระยะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้ยุติลงไปใหม่ๆ ทหารที่ไปราชการสงครามที่ยุโรปก็กลับบ้าน ได้นำเชื้อโรคจากยุโรปมาแพร่หลายในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองที่เป็นท่าเรือจะมีโรคนี้ระบาดอยู่มาก ประเทศเราก็มีประชาชนลมจะมาก เฉพาะในกรุงเทพฯ มีคนตายสูงสุดถึงวันละ 72 คน ทางราชการถึงกับต้องสร้างสถานพยาบาลพิเศษ แจกยา ทั้งทางแผนปัจจุบันและแผนโบราณ....

...การระบาดโรคนี้ ได้ใช้จ่ายเป็นเงิน 1 แสนบาท เพื่อทำการรักษาและป้องกันโรคไม่ให้ระบาดมากขึ้น และได้จ่ายยาให้แก่ประชาชนมีแอสไพรินและควินิน โดยตั้งที่จ่ายยาตามสถานีตำรวจและศาลาวัด ส่วนประชาชนที่นิยมยาไทยก็จ่ายยาไทยแทน”[6]

เป็นอันว่าประเทศไทยได้เลือกใช้ยาแอสไพรินเป็นยาลดไข้ ส่วนยาควินินนั้นก็เป็นยาลดไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ส่วนยาไทยนั้นก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นยาอะไร รู้แต่เพียงว่าเป็นยาแผนโบราณเท่านั้น

และการที่ประเทศไทยได้ใช้คำศัพท์ว่า “ไข้หวัดใหญ่” หมายถึงไข้หวัดอินฟลูเอนซาโดยทันนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยน่าจะต้องเคยมีประสบการณ์รู้จักโรคที่เกิดเช่นนี้แล้ว จึงกำหนดได้ว่าจะใช้ยาแผนโบราณและยาไทยอะไร

ทั้งนี้เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 นายแพทย์เอช แคมเบล ไฮเอ็ต (H. Campbell Highet) ได้เขียนบทความเรื่อง ภูมิอากาศและสุขภาพในกรุงเทพโดยกล่าวถึง สภาพอากาศร้อนชื้นในภูมิภาค การพยายามปรับปรุง ระบบสุขาภิบาลให้ดีขึ้น โรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคซีด โรคปอดพิการ โรคหอบหืด ปัญหาสุขภาพในช่องปาก และโรคฟันผุ ตลอดจนโรคที่ชาวต่างชาติต้องระวัง เช่น โรคฝีดาษ (ไข้ทรพิษ) โรคมาเลเรีย (ไข้ป่า) โรคท้องร่วง อหิวาห์ตกโรค โรคไข้รากสาดน้อยหรือไทฟอยด์ และ โรคบิด แต่ไม่ได้กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่ไว้เลย [6]

แม้แต่เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาลคนต่อมาคือ นายแพทย์ มอร์เด็น คาร์ทิว (Morden Carthew) สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตในโรงพยาบาลขณะนั้น ได้แก่ โรคเหน็บชา อหิวาห์ตกโรค บาดแผลต่างๆ โรคบิด โรคท้องร่วง ไข้ไม่ทราบสาเหตุ กาฬโรคยังพบได้อยู่บ้าง ส่วนไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) นั้นไม่พบแล้วเพราะมีการปลูกฝีป้องกันโรคให้ก้บประชาชนทุกปี แตไม่มีการกล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่ไว้เลย ตรงกับข้อมูลที่นายแพทย์ไฮเอ็ตให้ไว้เช่นกัน [6]

แม้ในบันทึกของแพทย์ฝรั่งจะไม่ได้กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่เอาไว้ อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์นายแพทย์สำราญ วังศพ่าห์ ราชบัณฑิต ได้รวบรวมจากเอกสารของ กองจดหมายเหตุ กรมศิลปากร พบว่าการระบาดของ ไข้หวัดใหญ่ที่มีบันทึกไว้ก่อนหน้านั้นถึง 3 ครั้ง โดยบันทึกครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 201 ปีที่แล้ว คือ ปี พ.ศ. 2363 (สมัยรัชกาลที่ 3) ต่อมาผ่านไปอีก 30 ปี จึงเกิดไข้หวัดใหญ่อีกในปี พ.ศ. 2393 (สมัยรัชกาลที่ 3) และต่อมาอีก 39 ปี จึงเกิดไข้หวัดใหญ่ต่อมาในปี พ.ศ. 2432-2433 (สมัยรัชกาลที่ 5) หรือประมาณ 29 ปี จึงเกิดไข้หวัดใหญ่อีกในปี พ.ศ. 2461 (สมัยรัชกาลที่ 6) [6]

ซึ่งเมื่อตรวจสอบกับการบันทึกแพทย์แผนไทยว่าด้วยโรคระบาดใน “พระคัมภีร์ตักกะศิลา” ทั้งในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงรัชกาลที่ 5 หรือ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในรัชกาลที่ 5 รวมถึงคัมภีร์ฉันทศาสตร์ ซึ่งเรียบเรียงในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดย พระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) ซึ่งบันทึกเรื่อง “ว่าด้วยคัมภีร์ตักกะศิลา” ซึ่งล้วนมีการบันทึกเกี่ยวกับเรื่องโรคไข้หวัดน้อย และโรคไข้หวัดใหญ่ อันแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยรู้จักโรคหวัดที่มีอาการไม่มากและหวัดที่ทำให้เสียชีวิตมานานแล้ว และนับรวมโรคไข้หวัดว่าเป็นโรคห่า หรือโรคระบาดที่ทำให้มีการเสียชีวิตของประชาชนได้ตั้งแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในพระคัมภีร์ตักกะศิลา ซึ่งได้อธิบายถึงไข้หวัดน้อยว่าไม่ต้องกินยาก็หายเองได้ ความว่า

“อันว่าคนทั้งหลายใด เมื่อจะบังเกิดไข้เปนหวัดนั้น ให้สบัดร้อนสท้านหนาว ปวดศีศะเปนกำลัง ระวิงระไวไอจาม ให้น้ำมูกตก ลักษณอันหนึ่งเป็นลักษณอันนี้ ไข้เพื่อหวัดน้อย อันว่าคนไข้ทั้งหลายนั้น ไม่กินยาก็หาย อาบน้ำก็หาย” [7]

และยังปรากฏโรคไข้หวัดใหญ่เอาไว้ในพระคัมภีร์ตักกะศิลาความว่า

“อันว่าคนไข้ทั้งหลายใด เมื่อจะเปนไข้นั้น ชื่อว่าหวัดใหญ่ ให้จับสบัดร้อนสท้านหนาว ให้ปวดศีศะให้ไอให้จาม น้ำหมูกตกเปนกำลัง ให้ตัวร้อนให้อาเจียน ให้ปากแห้งปากเปรี้ยวปากขมกินเข้าไม่ได้ แล้วแปรไปให้ไอเปนกำลังและทำพิศม์ คอแห้งปากแห้ง เพดานแห้งจะหมูกแห้งน้ำหมูกแห้งไม่มีไหล บางทีแปรไปให้ย้อยเปนกำลัง เหตุดังนี้เพราะว่ามันสมองนั้นเหลว ออกไปหยดออกจากนาศิกทั้งสองข้าง หยดลงไปปะทะกับสอเสมหะ จึ่งให้ไอไปแก้มิฟัง แปรไปเป็นฤษดวงมองคร่อหืดไอ แลฝีเจดประการจะบังเกิดฯ อันว่าคนไข้ทั้งหลายนั้นก็ดี เมื่อแพทยวางยามิฟังแล้วฯ อันว่าความตาย จักมี แก่คนไข้นั้น แท้จริง”[7]

อีกทั้งยังได้มีคำอธิบายถึงความสัมพันธ์ของฤดูกาลเอาไว้ด้วยความตอนหนึ่งว่า

“หวัดสองประการเปนเหตุอย่างไรจึ่งวิสัชนาว่า เกิดเพราะเหตุรดูสามประการ คือ คิมหันตรดูหนึ่ง วสันตรดูหนึ่ง เหมันตระดูหนึ่ง เปนสามระดูด้วยกัน โรคเกิดแก่คนทั้งหลาย ต้อร้อนอย่างหนึ่ง ต้องน้ำค้างอย่างหนึ่ง ต้องลอองฝนอย่างหนึ่ง จึ่งว่าเปนไข้หวัด และผู้ที่จะเปนแพทย์ไปข้างน่า อย่าพึ่งประมาทว่าไข้เปนหวัดดอก ถ้าแก้ไม่ฟัง แปรไข้ถึงมรณะ ได้บอกไว้ให้พึงรู้” [7]

ดังนั้นจึงมีความชัดเจนว่าภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยได้เคยผ่านประสบการณ์และบันทึกเอาไว้เกี่ยวกับการเกิดโรคระบาดโดยเฉพาะ ไม่เว้นแม้แต่ไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้เสียชีวิตของประเทศไทยในอดีต

รัฐบาลไทยจึงควรปรับทัศนคติเปิดทางให้แพทย์แผนไทยได้มีโอกาสเข้ามาบูรณาการเข้ามช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 มิใช่กีดกันเพราะดูถูกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของชาติไทยที่รอดพ้นฝ่าฟันวิกฤตโรระบาดในอดีตได้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ไข้หวัดหรืออินฟลูเอนซา, เล่ม ๓๖, วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๖๒ หน้า ๑๑๙๓-๑๒๐๒
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2462/D/1193.PDF

[2] Ten things you need to know about pandemic influenza (update of 14 October 2005)" (PDF). Weekly Epidemiological Record (Relevé Épidémiologique Hebdomadaire). 80 (49–50): 428–431. 9 December 2005. PMID 16372665.

[3] Jilani, TN; Jamil, RT; Siddiqui, AH (14 December 2019). "H1N1 Influenza (Swine Flu)". NCBI. PMID 30020613. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 12 March 2020. สืบค้นเมื่อ 11 March 2020.

[4] สัญญา สุขพณิชนันท์, ไข้หวัดใหญ่ในสยามช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 : มุมมองจากสถานการณ์โควิด-19, วารสารควบคุมโรค ปีที่ 46 ฉบับที่ 2 เม.ย. - มิ.ย. 2563
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/download/241194/164911/

[5] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศกระทรวงนครบาล , เล่ม ๓๕, วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๖๑ หน้า ๑๘๕๕-๑๘๕๖

[6] ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ, ระบาดบันลือโลก เล่ม ๒, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๐๙ มาแล้ว, หน้า 91-93
https://onedrive.live.com/?cid=3EF94ED9992ABC17&id=3EF94ED9992ABC17%21638&parId=3EF94ED9992ABC17%21126&o=OneUp

[7] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย, ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 คัมภีร์ตักศิลา เล่ม 1 เลขที่ 1003 หน้าปลายที่ 40-41, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542, ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 เล่ม 1 หน้า 81-82




กำลังโหลดความคิดเห็น