ช่วงระหว่างนี้...ไม่ว่าจะในระดับโลก หรือบ้านเรา คงหนีไม่พ้นต้องมั่วๆ อยู่กับเรื่อง “โควิด-ไม่โควิด” เป็นหลักนั่นแหละทั่น!!! เล่นเอาข่าวคราวในเรื่องอื่นๆ แทบไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเอาเลยแม้แต่น้อย แต่สำหรับไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาจะถือเป็น “โชคดี” หรือ “โชคร้าย” ก็ยังมิอาจสรุปได้ ที่อย่างน้อย...ยังพอมีเรื่อง “ลุงพล” ให้พูดจาว่ากล่าวชนิดน้ำท่วมทุ่ง-ผักบุ้งโหรงเหรงกันไปอีกนาน...
แต่เอาเป็นว่าวันนี้...ลองเปลี่ยนไปให้ความสนใจต่อการออกมาแจ้งข่าว ออกข่าว หรือการตั้งข้อสังเกตต่อ “ปรากฏการณ์” บางอย่าง ของเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ อย่างนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งองค์การอาหารโลก “นายAbdolreza Abbassian” เอาไว้มั่ง ก็น่าจะเข้าท่ามิใช่น้อย นั่นคือการออกมาแสดงความห่วงใย กังวลต่อการพุ่งขึ้นแบบพรวดๆ พราดๆ ของราคาสินค้าด้านอาหาร ที่ออกจะมาแรง แซงโค้งเข้าสู่ระดับสูงสุดนับจากปี ค.ศ. 2011 หรือในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อันเป็นสิ่งที่บรรดาประเทศจนๆ หรือประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย พึงต้องระมัดระวังเอาไว้ให้จงหนัก...
เพราะโดยประวัติความเป็นมาในเรื่องราคาสินค้าอาหารที่แพงขึ้นๆ นั้น อย่างน้อย...มันก็เคยก่อให้เกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ขึ้นในประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 30 ประเทศ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี่เอง ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแอฟริกา อย่าง บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน เซเนกัล มอริเตเนีย อียิปต์ โมร็อกโก ตูนิเซีย ฯลฯ ประเทศในละตินอเมริกา อย่างเม็กซิโก โบลิเวีย บราซิล ฯลฯ หรือประเทศในเอเชีย อย่างเยเมน อุซเบกิสถาน บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา ฯลฯ เป็นต้น คือเกิดเหตุการณ์ระดับ “จลาจลอาหาร” อันเนื่องมาจากราคาสินค้าอาหารที่แพงเอาๆ ในระหว่างช่วงปี ค.ศ.2008-2011 จากนั้นก็ลุกลามกลายเป็นวิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในท้ายที่สุด...
และยิ่งเมื่อต้องกลายเป็นเรื่องการเมืองไปจนได้...มันเลยก่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง” ในทางภูมิรัฐศาสตร์กันไปมิใช่น้อย อย่างเช่นการอุบัติขึ้นมาของเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” ในประเทศตูนิเซีย เมื่อช่วงปี ค.ศ. 2010 ก่อนที่จะลุกลามไปยังโลกอาหรับทั้งแผง และยังส่งผลสะเทือนไม่แล้วเสร็จอยู่จนถึงบัดนี้ ไม่ว่าในประเทศซีเรีย หรือลิเบีย ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้น...การพุ่งขึ้นๆ ของราคาสินค้าอาหารในช่วงนี้ จะไปปล่อยเลยตามเลย หรือไม่เก็บมาใคร่ครวญหวนคิดเอาไว้ก่อนล่วงหน้า คงไม่น่าจะเหมาะสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อบรรดาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมิใช่น้อย ท่านเริ่มออกมาตั้งข้อสังเกต ว่ามันอาจมีอะไรมากไปกว่าปรากฏการณ์โดยปกติธรรมดา หรือโดยธรรมชาติทางการตลาด...
คือถ้าว่ากันโดยธรรมชาติ โดยความเป็นไปตามปกติ เหตุปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าอาหารมันแพงขึ้นๆ นั้น มันมีองค์ประกอบผสมปนเปกันอยู่หลายๆ ปัจจัย เช่น เป็นเพราะความแห้งแล้ง เพราะสภาพความเป็นไปทางธรรมชาติ ที่ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรจำต้องต่ำเตี้ยเรี่ยดินตามไปด้วยอย่างช่วยอะไรไม่ได้ หรือเป็นเพราะราคาสินค้าบางตัว อย่างเช่น “น้ำมัน” ดันแพงแสนแพง เช่น เคยปาเข้าไปถึง 100 กว่าๆดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว จนทำให้ราคาค่าขนส่ง ค่าปุ๋ยเคมี ค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมแปรรูป รวมทั้งอุปสงค์ความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นๆ ไปตามจำนวนประชากร ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรทั้งหลายเหล่านี้ มันเลยกลายเป็นตัวทำให้สินค้าอาหารแต่ละชนิด แต่ละประเภท ต้องแพงหูฉี่ หรือแพงหูดับตับไหม้ ตามไปด้วยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธ...
แต่สำหรับคราวนี้...แม้ว่าจะเกิดความแห้งแล้งขึ้นในบางภูมิภาค อันเป็นแหล่งผลิตอาหารและธัญพืชสำคัญๆ เช่น บราซิล เป็นต้น ปริมาณการผลิตน้ำมันพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างตกต่ำ ไปจนปริมาณความต้องการสินค้าอาหารไม่ว่าเอาไว้เลี้ยงคน เลี้ยงสัตว์ ในเมืองจีน เพิ่มขึ้นๆ ไปตามลำดับ ฯลฯ แต่นั่นดูจะยังไม่น่าจะถือเป็นสาเหตุหลัก เป็นปัจจัยสำคัญ ในการทำให้ราคาสินค้าอาหารพุ่งปรู๊ดๆ ปร๊าดๆ อยู่ในทุกวันนี้ เพราะสิ่งที่บรรดาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ท่านค่อนข้างจะมองเขม้นหรือค่อนข้างจะจับตาให้ความสำคัญอย่างเป็นพิเศษ กลับน่าจะเป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า “การอัดฉีด” หรือการปั๊มเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของบรรดาประเทศต่างๆ ภายในช่วงวิกฤตการณ์แห่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกือบ 2 ปีที่ผ่านมานั่นเอง...
โดยเฉพาะการปั๊มเงินดอลลาร์อเมริกัน หรือเงินที่ไม่ได้มีอะไรรองรับเอาเลยแม้แต่น้อย นอกซะจาก “อุปสงค์-อุปทาน” ของบรรดาชาวโลกและชาวอเมริกันล้วนๆ ออกมาไม่รู้จะกี่ “ล้านล้านดอลลาร์” นับตั้งแต่ยุค “ทรัมป์บ้า” มาจนยุค “โจ ซึมเซา” หรือระดับที่แทบไม่อาจใช้คำว่า “เฮลิคอปเตอร์ มันนี” ได้อีกต่อไป เพราะอาจต้องเรียกว่า “บี 52 มันนี” หรือ “เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ มันนี” อะไรประมาณนั้น คืออัดกันลงมาทีละไม่รู้กี่ต่อกี่แสนล้าน กี่ล้านล้านดอลลาร์ ไล่มาตั้งแต่ยุค “วิกฤตการเงิน” สมัยรัฐบาล “โอบามา” ตามด้วยยุค “ทรัมป์บ้า” และจะยังอัดกันชนิดเละเป็นขี้ เละเป็นโจ๊ก ภายใต้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ “โจ สเตียรอยด์” ที่ตั้งเป้าเอาไว้ถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปีหน้าเอาเลยถึงขั้นนั้น...
อันนี้นี่แหละ...ที่ทำให้บรรดาราคาสินค้าแต่ละชนิด แต่ละประเภท ที่มักต้องผูกติดตัวเองเอาไว้กับการขึ้นๆ-ลงๆ ของเงินดอลลาร์ เลยต้องแพงเอาๆ อันเนื่องมาจากมูลค่า ราคา ของเงินดอลลาร์ ที่กำลังท่วมไปทั่วทั้งโลกในทุกวันนี้ ออกอาการสาละวันเตี้ยลง-เตี้ยลงยิ่งเข้าไปทุกที หรือพูดง่ายๆ ว่า...แนวโน้มราคาสินค้าอาหารที่กำลังแพงขึ้นๆ อยู่ในช่วงระยะนี้ คือตัวสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้ม “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่กำลังแผ่ซ่านไปทั่วทั้งโลก อันเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามปกติ หรือตามธรรมชาติของตลาดโดยทั่วไปนั่นเอง...
โดยภาวะความเป็นไปเช่นนี้...จะนำมาซึ่งอะไรต่อไป อันนี้...ก็ยากที่จะคาดคำนวณได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ไม่ว่าใครที่ไม่อยากให้เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมก็แล้วแต่ อุบัติขึ้นภายในประเทศตัวเอง คงหนีไม่พ้นที่จะต้องพยายามห่างๆ “เงินดอลลาร์อเมริกัน” เข้าไว้ก่อนนั่นแหละดี ไม่ว่าในแง่ของการนำมาใช้เป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เป็นทุนสำรองในการแลกเปลี่ยน หรือกระทั่งเป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยง ฯลฯ เหมือนอย่างที่กองทุนความมั่งคั่งแห่งประเทศรัสเซีย (National Wealth Fund) ที่เพิ่งออกมาป่าวประกาศเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ นั่นแหละว่า ขณะนี้กองทุนฯ แห่งนี้ได้ตัดสินใจทิ้งเงินดอลลาร์ หรือตัดขาดการถือเงินดอลลาร์เอาไว้ในกองทุน แบบชนิดเกลี้ยงทั้งแผง คือขณะที่ยังถือเงินปอนด์อังกฤษเอาไว้ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ เยนญี่ปุ่น 5 เปอร์เซ็นต์ ยูโร 40 เปอร์เซ็นต์ และหยวนของจีน 30 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับดอลลาร์อเมริกัน เหลือแค่ 0 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง...
ความไม่เป็นไปตามปกติ หรือไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ของราคาสินค้าอาหารในช่วงนี้...เลยทำให้ไม่ว่าใครต่อใครก็เถอะจะหันไปโทษฟ้า โทษดิน โทษเทวดา หรือโทษภาวะโลกร้อน ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรไม่ได้ถนัดชัดเจนสักเท่าไหร่นัก นอกจากต้องหันมาโทษคุณพ่ออเมริกาเอาไว้ก่อนนั่นแหละเป็นหลัก โทษระบบการเงินแบบ “Fiat Money” หรือระบบเงินตราที่ไม่ได้มีสิ่งใดๆ ที่มีมูลค่ามารองรับเอาไว้เลย อาศัยเพียงแค่ “มายาภาพ” เท่านั้นเอง เป็นตัวครอบงำโลกทั้งโลก ให้ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของ “เผด็จการดอลลาร์” มาโดยตลอด แถมยังเป็นเผด็จการที่สุดแสนจะเอารัด-เอาเปรียบ พร้อมที่จะใช้ระบบการเงินที่ว่านี้ เล่นงานใครก็ตามที่ตัวเองเหม็นหน้า ไม่ชอบขี้หน้า โดยไม่ได้สนใจถึงมูลค่า หรือคุณค่าของระบบเงินตราในลักษณะดังกล่าวเอาเลยแม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้...จึงถือเป็นเรื่องไม่แปลก ที่ “ระบบ” หรือ “ระเบียบ” เหล่านี้ จำต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง หรือสมควรที่จะถูกเปลี่ยนแปลง เพื่อนำมาซึ่งความถูกต้อง ยุติธรรม หรือเพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกๆ ประเทศ ได้มีส่วนร่วมในการกำหนด “ระเบียบโลกชนิดใหม่” ขึ้นมาแทนที่ ในอีกไม่นาน-ไม่ช้า นับจากนี้...