xs
xsm
sm
md
lg

นำเข้า“ซิโนฟาร์ม” "ส.จุฬาภรณ์"ลุยทางเลือก “นิธิ-อนุทิน”แถลงวันนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โควิดยังสาหัส ป่วยเพิ่ม 3,323 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ 1,219 ราย ตายนิวไฮอีก 47 ราย กทม.จองฉีดวัคซีน “ไทยร่วมใจ” วันแรกทะลุล้าน จองผ่านค่ายมือถือก็ทะลัก “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” เตรียมนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” นัดแถลงวันนี้

วานนี้ (27 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่เพิ่มขึ้น 3,323 ราย แบ่งออกเป็นติดเชื้อใหม่ 2,104 ราย จากเรือนจำ-ที่ต้องขัง 1,219 ราย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 141,217 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 47 คน ยอดสะสม 920 คน ส่งผลให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ 1 เม.ย. - 27 พ.ค.64 มีผู้ป่วยยืนยันสะสมมากถึง 112,354 ราย เสียชีวิตสะสม 785 คน

คุกเชียงใหม่เริ่มคลี่คลาย

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่ รายงานข้อมูลสถานการณ์การระบาดภายใต้ ระบบ Bubble and Seal เรือนจำกลางเชียงใหม่ (26 เม.ย.-28 พ.ค. 64) ว่า วันนี้เรือนจำกลางเชียงใหม่ ไม่พบผู้ต้องขังติดเชื้อโควิดเพิ่ม ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยังคงเดิมที่ 3,995 ราย วันนี้มีผู้รักษาหายแล้วเพิ่มมากถึง 1,986 ราย ส่งผลให้มียอดผู้รักษาหายแล้วสะสมเพิ่มเป็น 2,332 ราย ส่วนยอดผู้ตรวจไม่พบเชื้อสะสม ยังคงเดิมที่รวม 1,226 ราย เหลือผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาทั้งสิ้น 1,544 ราย แยกรักษาตัวในแดนต่างๆ 1,479 ราย รักษาตัวใน รพ.สนามในเรือนจำ 58 ราย แยกตามอาการเป็นระดับสีเขียว 45 ราย สีเหลือง 10 ราย และสีส้ม 3 ราย และรักษาตัวที่รพ.ภายนอกเรือนจำ 7 ราย โดยมีรายงานข่าวว่า เรือนจำเชียงใหม่ ใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด

“ไทยร่วมใจ” วันแรกฉลุย

วันเดียวกัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดจองรับบริการวัคซีนวันแรกผ่านโครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย SAFE BANGKOK” 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ เว็บไซต์ไทยร่วมใจดอทคอม, แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง และร้านสะดวกซื้อที่ร่วมโครงการ โดยมีรายงานว่ามีผู้สนใจจองการฉีดวัคซีนมากกว่า 1 ล้านคน โดยจะเข้ารับบริการวัคซีน ณ หน่วยบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ซึ่ง กทม.ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้น 25 แห่ง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า ภาพรวมพบว่าระบบสามารถทำงานได้ดี ไม่ล่ม แต่อาจมีบางช่วงที่จะส่ง SMS ตอบกลับช้า เนื่องจากมีผู้เข้าใช้บริการจองในเวลาเดียวกันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กทม.และภาคีเครือข่ายจะร่วมกันประเมินผลและแก้ไขปัญหาเพื่อให้การให้บริการจองวัคซีนในพื้นที่ กทม.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของชาว กทม.สูงสุด

4.3 แสนจองผ่านค่ายมือถือ

อีกด้าน ผู้ให้บริหารโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้ง 4 ค่าย ประกอวด้วย เอไอเอส, ทรู, ดีแทค และเอ็นที ก็เปิดให้ลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีน ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เช่นเดียวกัน โดยมีรายงานว่า ใช้เวลาเพียงประมาณ 2 ชั่วโมง ประชาชนก็เข้าจองจนครบตามจำนวนโควต้าของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ลูกค้ามือถือ 4 ค่าย รวม 430,000 ราย ทั้งนี้จะเริ่มฉีดเข็มแรกในวันที่ 7 มิ.ย.จนถึงปลายเดือน ส.ค.นี้ ทั้งนี้ การลงทะเบียนฉีดวัคซันกับทั้ง 4 ค่ายมือถือนั้น มีโควต้าให้ 3 ค่ายมือถือ ได้แก่ เอไอเอส วันละ 1,500 ราย ทรู 1,500 ราย และ ดีแทค 1,500 ราย ขณะที่ ที่เอ็นที่ 500 รายต่อวัน

“ส.จุฬาภรณ์” นัดแถลงวันนี้

จากกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือสถาบันจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการบริหารบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งถึงการให้บริการทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 และการจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ ที่จำเป็นจากในประเทศและต่างประเทศนั้น

ทาง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ออกหมายขอเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว “แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข และ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในวันที่ 28 พ.ค.64 เวลา 13.30 น. – 14.30 น. ณ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถ.แจ้งวัฒนะ ซอย 7

แจงอุดช่องว่างช่วงวิกฤต

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีอำนาจทางกฎหมายที่จะออกประกาศเพื่อที่จะนำเข้า วัคซีน ยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ ถ้าไม่ออกประกาศอย่างนี้มาจะไม่สามารถนำเข้าได้ และการออกประกาศดังกล่าวเพื่อที่จะมีอำนาจนำเข้า แต่ไม่ใช่ว่าสามารถนำเข้ามาโดยอิสระ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ เช่น ขออนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และเป็นการใช้อำนาจในช่วงวิกฤตโควิด-19 เท่านั้น และในช่วงที่วัคซีนขาดแคลน โดยข้อกำหนดที่ นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อธิบายว่า เมื่อสถานการณ์นี้คลี่คลายอำนาจนี้ก็จะหมดไป หรือเมื่อผลิตวัคซีนขึ้นมาในประเทศได้อย่างเพียงพอ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะหยุดการนำเข้าทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเป็นการจัดหาซ้ำซ้อนกับทางกระทรวงสาธารณสุข ที่กำลังดำเนินการอยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน เพราะต้องไปขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข อยู่ดี และได้อธิบายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศบค. พร้อมทั้งนายอนุทิน ทราบแล้ว

“หมอนิธิ” แจงภารกิจปกติ

ทางด้าน ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda ชี้แจงกรณีประกาศของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศวันที่ 18 พ.ค.64 ในราชกิจจานุเบกษา ลงนามโดย สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยระบุว่า ราชวิทยาลัยฯ จะช่วยจัดหาวัคซีนตัวเลือกเพื่อช่วยให้ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 เพียงพอ และเมื่อประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 จนมีใช้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาดของโรคแล้ว ราชวิทยาลัยฯ จะค่อยๆ ลดจำนวนวัคซีนตัวเลือกลง โดยราชวิทยาลัยเป็นส่วนงานที่ยังคงต้องดำเนินการตามกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องในเรื่องการผลิต นำเข้า ร่วมทั้งการให้อนุญาตเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน อีกทั้ง ประกาศดังกล่าวนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งราชวิทยาลัย และเป็นภารกิจ ปกติ

“เอกชน”อ้างมีวัคซีน 20 ล.โดส

ช่วงเย็นวันเดียวกัน ในสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่จดหมายจาก บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่อ้างว่าเป็นพันธมิตรผู้เดียวในประเทศไทย ของบริษัท TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ผู้จัดจำหน่ายวัคซีน ซิโนฟาร์ม ในภูมิภาคเอเชีย ส่งถึง ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยระบุว่า ได้จัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 20 ล้านโดส ให้แก่รัฐบาลไทย โดยไม่ผ่านตัวแทน หรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายอื่นใด โดยสามารถส่งถึงมือประเทศไทยให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ที่ผ่านมา บริษัทไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ และ นายอนุทิน เพื่อนำเอกสารดังกล่าวไปนำเสนอวัคซีนได้เลยเมื่อบริษัทฯได้รับทราบประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการจัดหาวัคซีนทางเลือกให้ได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอต่อความต้องการ

“บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด จึงขอนำส่งหนังสือฉบับนี้เพื่อเป็นการเสนอพิจารณาการจัดซื้อวัคซีนฯยี่ห้อและจำนวนดังกล่าว โดยรายละเอียดราคา เงื่อนไขการจัดซื้อ การจัดส่ง และขั้นตอนการดำเนินการสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ทางบริษัทฯ ขอความอนุคราะห์จากท่านเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โปรดพิจารณาอนุญาตให้ทาง บริษัทฯได้เข้าพบท่าน หรือคณะทำงานที่ท่านได้มอบหมาย เพื่อที่จะหารือในรายละเอียดต่อไป” เอกสารดังกล่าว ระบุ

“โฆษกรัฐ” แฉ “เอกชน” ส่อมั่ว

จากนั้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในระบบของ อย. แล้ว ปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวไม่สามารถนำเข้ายาเข้ามาในประเทศไทยได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และวัคซีนซิโนฟาร์มก็ได้มีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้ก่อนแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียนอยู่ อีกทั้งเมื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากกรมธุรกิจการค้า พบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มิใช่ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์แต่อย่างใด

“บริษัทดังกล่าวไม่เคยติดต่อเพื่อขอเข้าพบตัวแทนรัฐบาลแต่อย่างใด อีกทั้งการเจรจาติดต่อเรื่องการนำเข้าวัคซีนสามารถติดต่อผ่านทางองค์การเภสัชกรรม หรือ อย.ได้โดยตรงในเบื้องต้น โดยไม่มีความจำเป็นต้องพบนายกฯ หรือรองนายกฯตามที่อ้างแต่อย่างใด” นายอนุชา ระบุ

เตรียมไฟเขียว“ซิโนฟาร์ม”

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวเสริมว่า บริษัทที่ขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม คือบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ดังนั้นการที่บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ ออกมาบอกว่ามีวัคซีนนั้น ไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นวัคซีนของซิโนฟาร์ม เพราะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนนำเข้ากับทาง อย. ก่อน ส่วนบริษัท ไบโอจีนีเทค ที่ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์มนั้น เป็นการยื่นขออนุญาตครบในครั้งเดียว ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ อย. จะมีการพิจารณาในวันนี้ (28 พ.ค.) ซึ่งวัคซีนซิโนฟาร์ม เพิ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

“หมอนิธิ” ฟันธงไม่น่าเชื่อถือ

จนเมื่อเวลา 20.30 น. ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ถึงกรณี บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ว่า หนังสือนี้ร่อนไปทั่วบนระบบออนไลน์โดยที่คนที่หนังสือนี้ส่งถึง (ศ.นพ.นิธิ) ยังไม่ได้เห็นหนังสือตัวเป็นๆเลย อย่างไรก็ดีถึงจะมาพบก็คิดว่าคงไม่ได้พบเหมือนกัน เพราะจากที่พยายามช่วยหาวัคซีนตัวเลือกมาเพิ่มเติมระยะหนึ่งนั้น มีบริษัทหรือกลุ่มคนมากมายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของวัคซีนโน้นวัคซีนนี้ มากกว่าสิบกลุ่ม และขอเรียนให้คนที่เห็นหนังสือนี้เข้าใจกันตามนี้ว่า 1.กลุ่มหรือบริษัทแบบนี้ที่ว่าเป็นตัวแทนนั้นเป็นไปได้ยาก, 2.การเป็นตัวแทนใครในการนำยาหรือวัคซีนจริงต้องได้รับ dossier (รายละเอียดรายการประกอบยาและการผลิต) จากบริษัทเจ้าของเพื่อมาใช้ขอใบอนุญาตจาก อย.} 3.บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิดขณะนี้ จะติดต่อกับรัฐบาลหรือตัวแทนรัฐบาลก่อนเท่านั้น เพราะเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน, 4.รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐบาล เมื่อติดต่อแล้วจึงอาจมอบหมายให้บริษัทที่ทำเรื่องการขนส่ง และเก็บวัคซีนที่มีมาตรฐานเฉพาะเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและทำการขนส่งแทนหน่วยงานรัฐได้ และ 5.บริษัทหรือกลุ่มตัวแทนใดที่ว่าเป็นตัวแทนหรือมีวัคซีนเป็นล้านๆโดส โดยไม่มี dossier ที่ต้นทางจัดให้ ไม่ใช่ตัวแทนที่สมบูรณ์ คงไม่ได้พบตนเช่นกัน ขอร้องอย่าถือโอกาสโจมตีกัน แค่นี้ประชาชนคนเจ็บก็ทุกข์แย่อยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น