xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เดินหน้าปลดล็อกกัญชาให้รพ.ในสังกัดสกัด-ผลิต ปูทางช่วยเหลือเกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- สธ.เดินหน้าหารือแก้ระเบียบเพื่อให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ รับสกัด และผลิตกัญชา ปูทางให้เกษตรกรปลูกกัญชาได้เพิ่มขึ้นมีรายได้ยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมระหว่างสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง และสำนักงานกฤษฎีการ่วมให้คำแนะนำ ในการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้หน่วยบริการในกระทรวงสาธารณสุข รับจ้างผลิต และสกัดดอกและส่วนต่างๆของกัญชาได้

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผอ.สถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า ด้วยพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ภาครัฐเป็นผู้ปลูกและผลิตยากัญชา ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนสามารถมีความร่วมมือกับภาครัฐในการปลูกได้ เมื่อปลายปี 63 ที่ผ่านมา คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษได้ปลดส่วนของ ลำต้น กิ่งก้าน ใบ และรากกัญชา ออกจากรายการยาเสพติดแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการขับเคลื่อนให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ

จากการวิเคราะห์ช่องว่างในการดำเนินงาน พบว่าส่วนที่จำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วน คือ กลางทาง หรือการแปรรูปวัตถุดิบกัญชาให้เป็นยา และผลิตภัณฑ์สมุนไพร จึงได้หารือร่วมกับกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่า ต้องมีการจัดทำระเบียบและหลักเกณฑ์ให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการผลิตยาสมุนไพร และได้มาตรฐานการผลิต GMP ประมาณ 50 แห่ง ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันมีหลายแห่งที่มีความร่วมมือกับเกษตรกรในการปลูกกัญชาร่วมกัน

"การจัดทำระเบียบนี้ คาดว่าจะช่วยผลักดันให้เกษตรกรมีผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง รวมทั้งทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถส่งต่อวัตถุดิบกัญชาเพื่อสกัดและผลิตระหว่างกันได้ เช่น มหาวิทยาลัย สามารถส่งต่อวัตถุดิบให้โรงพยาบาลผลิตต่อในบางขั้นตอนได้ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ และสุดท้ายเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร ที่จะมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง หรือมีรายได้ที่ยั่งยืนจากการปลูกกัญชา" นพ.กิตติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คงต้องมีกลไกการดำเนินงานอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งสถาบันกัญชาทางการแพทย์ จะร่วมกับภาคีเครือข่ายในการทำงานเพื่อสร้างอุปสงค์หรือความต้องการของทางการตลาดของผลิตภัณฑ์กัญชาให้มีความยั่งยืน ตั้งแต่การศึกษาความต้องการตลาดของผลิตภัณฑ์จากกัญชา ทั้งยาและไม่ใช่ยา การศึกษาวิจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นความต้องการของตลาด และการเสริมสร้างทักษะในการปลูกและการแปรรูปขั้นต้นให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับข่าวสารการดำเนินงานของสถาบันได้ที่ เพจสถาบันกัญชาทางการแพทย์


กำลังโหลดความคิดเห็น