xs
xsm
sm
md
lg

เชื้อแอฟริกาวัคซีนPfizerเอาอยู่ "หมอยง"แนะฉีดเข็ม3สลับยี่ห้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โควิดติดเชื้อเพิ่ม 3,382 ราย ตายเพิ่ม 17ราย เจอ 3 ราย เป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่คลัสเตอร์ตากใบ หมอศิริราช เผยสายพันธุ์นี้ มีวัคซีน Pfizer ตัวเดียวที่เอาอยู่ แนะรัฐเร่งนำเข้าวัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่น "หมอยง" ชี้ต้องศึกษากระตุ้นเข็มที่ 3

วานนี้ (23พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 3,382 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อใหม่ 2,922 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 460 ราย เสียชีวิต 17 ราย หายป่วยกลับบ้าน 2,131 ราย ผู้ป่วยสะสม 100,637 ราย (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) โดย จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่สูงสุด ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 983 ราย 2.เพชรบุรี 968 ราย 3.สมุทรปราการ 181ราย 4.นนทบุรี 107 ราย 5.ฉะเชิงเทรา 103 ราย

พบสายพันธุ์แอฟริกาที่ตากใบ3ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึง ประเด็นโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่พบในประเทศไทย อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่า ได้รับรายงานจากกรมควบคุมโรค สธ. ว่ามี 3 ราย โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงว่า กรมควบคุมโรคได้รับแจ้งจากการตรวจพบเชื้อจากห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ ของคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ซึ่งกรณี อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีการสุ่มตรวจ และพบสายพันธุ์ B.1.351 เป็นสายพันธุ์พบมากในทวีปแอฟริกา อย่างไรก็ตาม คลัสเตอร์ตากใบ ปัจจุบันพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ขณะนี้พบติดเชื้อ 83 ราย

สำหรับ คลัสเตอร์ตากใบ เริ่มจากเพศชายคนไทย อายุ 32 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว ปฏิเสธโรคประจำตัว ขณะที่ป่วยอยู่หมู่ 9 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ เริ่มป่วยช่วงเดือนเม.ย. จากการที่มีภรรยาเป็นชาวมาเลเซีย มาเยี่ยมและอยู่ด้วยกัน และชายคนนี้มีอาการไข้ ปวดเมื่อย ปวดท้อง และไปพบแพทย์หลายแห่ง กระทั่งได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด และส่งรักษาตัวรพ. ขณะนี้หายดีแล้ว ส่วนภรรยาและลูกเดินทางกลับมาเลเซีย

ทั้งนี้ เมื่อพบกรณีดังกล่าวได้มีการปิดพื้นที่ ไม่ให้มีการเข้าออก และสอบสวนโรคจนพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งขณะนี้ผู้ติดเชื้อทุกรายได้รับการกักกันตัว และมีมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ค้นหาติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในครอบครัวและค้นหาเชิงรุกในชุมชน ซึ่งมี 698 ราย ค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ 160 ราย พบผู้ติดเชื้อ 83 ราย ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิต หายป่วยแล้ว 16 รายกำลังรักษา 67 ราย และสุ่มตรวจเชื้อแอฟริกาใต้ พบ 3 ราย ทั้งหมดหายป่วยแล้ว

"ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ได้ แนวโน้มไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติมจากนี้ กรณีนี้ทำให้ทราบว่าโอกาสติดเชื้อ โดยเฉพาะการข้ามพื้นที่ชายแดน อย่างมาเลเซีย ที่เราทราบว่า เป็นประเทศเพื่อนบ้าน และมีการติดเชื้อรุนแรงหลายสายพันธุ์ จึงต้องระวังมากในการเดินทางข้ามไปข้ามา และหากพบผู้เดินทางเข้ามาผิดกฎหมายให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมโรคทันที" นพ.โอภาส กล่าว

สำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีข้อมูลเกี่ยวกับการตอบสนองของวัคซีน ต่อสายพันธุ์นี้อาจไม่ดีเท่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนยังมีประโยชน์ เพราะลดความรุนแรงลดอัตราการเสียชีวิตได้

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีมีสื่อมวลชนหนึ่ง เผยแพร่ข้อมูลผ่านออนไลน์ว่า มีการพบโควิดสายพันธุ์แอฟริกา ในเรือนจำ จ.นราธิวาส นั้นขอเรียนว่าข้อมูลดังกล่าว ไม่เป็นความจริง เนื่องจากปัจจุบันเรือนจำ จ.นราธิวาส ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่รายเดียว ทั้งเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขังที่เคยติดเชื้อได้รับการรักษาจนหายหมดทุกรายแล้ว และไม่ปรากฏยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม

โควิดแอฟริกาต้องใช้วัคซีน Pfizer

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า มีข่าวว่า B.1.351 (South African variant)มาเยือนเมืองไทยแล้ว สายพันธุ์นี้ ป้วนเปี้ยนแถวชายแดนใต้มาเป็นเดือน เนื่องจากมีการระบาดในมาเลเซีย ขออย่าให้เข้ามาระบาดถึงใจกลางเมืองหลวง แบบ B.1.617.2(Indian variant)นะครับ เพราะวัคซีนที่ได้ผลกับสายพันธุ์นี้ มีแค่ Pfizer (และอาจรวมถึง Moderna ด้วย) ที่ 75%, J&J ที่ 64-66% และ Novavaxที่ 60.1% (สำหรับ non-HIV)ส่วน AstraZenecaเหลือแค่ 10.4% สำหรับ Sinovacถ้าเทียบระดับ antibodyที่ขึ้นหลังฉีดแล้ว คาดว่าคงแทบไม่ได้ผลเช่นกัน

อาจถึงเวลาที่ภาครัฐ จะต้องเปลี่ยนนโยบาย เร่งนำเข้า Pfizer,Modernaและ J&Jvaccineมาให้เพียงพอและครอบคลุมประชากรครับ ถ้าปล่อยให้ B.1.351 ระบาดนี่อาจดูไม่จืดเลย

ในปัจจุบัน B.1.351 เป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีน และ antibodyที่สุด รองลงมาคือ P.1 หรือสายพันธุ์ Brazilซึ่งมี E484Kเช่นกัน ส่วนสายพันธุ์ India ที่ก่อนหน้านี้ ระบาดคือ B.1.617.1 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกันแต่เป็น E484Q ทำให้ดื้อบ้าง แต่ไม่เท่ากับ B.1.351 แต่สายพันธุ์อินเดียที่ระบาดหนักในขณะนี้ และเพิ่งพบในบ้านเรา คือ B.1.617.2ไม่พบ E484Q ซึ่งคาดว่าสายพันธุ์นี้ ไม่น่าจะดื้อต่อวัคซีน

"หมอยง"ชี้ต้องมีเข็ม3 สลับยี่ห้อ

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หน.ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิดในภูมิภาคต่างๆของโลก และเชื้อมีการกลายพันธุ์ ซึ่งประเทศไทยเพิ่งเริ่มให้วัคซีน ขณะนี้ ครอบคลุมเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ จะต้องทำให้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 4 เดือน เราจึงจะเห็นผล

การให้วัคซีนจะต้องปูพรมไปก่อน ครอบคลุมให้ได้มากที่สุด ด้วยวัคซีนที่เรามีอยู่ AstraZeneca และตาม ด้วยการกระตุ้นเข็ม 2ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องพยายามหาวัคซีนอื่นๆ เพิ่มเติมมาอีก เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ จำเป็นจะต้องมีการกระตุ้นให้ภูมิสูงอยู่ตลอดเวลา หรือปรับเปลี่ยน วัคซีน ให้เหมาะสมกับการกลายพันธุ์ของไวรัส

การติดตามภูมิต้านทานในประชากรไทยที่ได้รับวัคซีน มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องประเมินประสิทธิภาพในการป้องกัน ในบริเวณที่มีการระบาด ศึกษาแนวทางการกระตุ้นในเข็มที่ 3 เพื่อให้คงสภาพภูมิที่สูงอยู่ตลอดเวลา ใช้ในการป้องกันระยะยาวต่อไปมีความจำเป็น ที่จะต้องเริ่มทำการศึกษา

สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา คือ การสลับปรับเปลี่ยนชนิดหรือยี่ห้อของวัคซีน เพราะขณะนี้เราเริ่มเห็นปัญหา เช่น นักเรียนหรือผู้ที่จะเดินทางไปยุโรป หรืออเมริกา ยังไม่แน่ใจว่าจะยอมรับวัคซีนจีน หรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับเราจะฉีดวัคซีนเพิ่มเติม หรือมีการสลับปรับเปลี่ยนชนิดของวัคซีนที่กำลังฉีดอยู่ได้หรือไม่ คนที่แพ้วัคซีนเข็มแรก เข็มที่ 2 ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนชนิดวัคซีน หรือในอนาคต ที่มีวัคซีนหลายยี่ห้อมา ถ้าต้องการกระตุ้นในคนที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว จะสามารถทำได้อย่างไร ข้อมูลทั้งหมดจะต้องรีบทำการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในประเทศของเรา

กรุงเทพฯเจอ 2 คลัสเตอร์ใหม่

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดใน กทม. มีคลัสเตอร์เพิ่มขึ้น จาก 31 คลัสเตอร์เป็น 33 คลัสเตอร์ คือ บางกะปิ เชื่อมโยงแคมป์คนงานก่อสร้างรามคำแหง และคลัสเตอร์สำเพ็ง ซึ่งเป็นคลัสเตอร์เดิมที่กำลังจะปิดเคส แต่กลับมาใหม่อีก จึงต้องเรียนรู้ร่วมกัน อย่ามั่นใจว่าหายแล้วหายเลย แต่มีโอกาสกลับมาใหม่ได้ถ้าการ์ดตก

ส่วนที่มีคนถามว่าสถานการณ์ กทม.จะอยู่อีกสักเท่าไรนั้น ต้องยอมรับว่ากทม.มีหลายคลัสเตอร์ หลายเขต มีลักษณะการแพร่กระจายของเชื้อแตกต่างกันไป มีความซับซ้อนในสังคมของ กทม. โดยเฉพาะที่เราเป็นห่วงคือแรงงานต่างด้าวที่พบในแคมป์คนงาน ในที่ประชุมจึงขอให้ผู้ประกอบการดูแลคนงานของท่าน ไม่ว่าจะเจ็บป่วย หรือไม่เจ็บป่วยแต่ถูกบับเบิลแอนด์ซีล ขอให้ช่วยดูแลส่งข้าว ส่งน้ำ ร่วมด้วยช่วยกัน

เปิดจุดฉีดวัคซีนนอกรพ."เซ็นทรัล ปิ่นฯ"

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม. กล่าวภายหลัง ตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีนนอกรพ. "หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร - หอการค้าไทย" บริเวณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า ว่า จุดนี้เป็น 1 ใน 25 สถานที่ฉีดวัคซีนนอกรพ. ตั้งเป้าหมายให้บริการฉีดวัคซีน1,000 คน/วัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. -17.00 น.

ทั้งนี้ กทม.จะเร่งขยายสถานที่ฉีดวัคซีนนอกรพ. ให้ครบตามเป้าหมาย 25 แห่งทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ภายในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ และเมื่อเปิดครบทุกแห่ง จะมีศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 38,000-50,000 คน/วัน และรวมกับศักยภาพการให้บริการฉีดภายใน รพ.126 แห่ง วันละ 30,000 คน/วัน คาดการณ์ว่า ภายใน 2-3 เดือน กทม. จะสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ 7-8 ล้านคน

"บิ๊กตู่"ฉีดแอสตร้าฯเข็มที่ 2 วันนี้

วันนี้ (24 พ.ค.) เวลา 08.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีกำหนดการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็ม 2 ที่สถาบันบำราศนราดูร โดยไม่อนุญาตให้สื่อเข้าบันทึกภาพ ทำข่าว เพราะสถานที่คับแคบ โดยจะเผยแพร่ภาพผ่านสำนักโฆษกทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ นายกฯได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก ก่อนการประชุมครม. เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่าไม่มีผลกระทบข้างเคียงใดๆหลังดูอาการครบ 30 นาที ก็เข้าประชุมครม.ทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น