วันมะรืนนี้ (12 พ.ค.) จะมีการประชุมเจ้าหนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อลงมติว่า จะเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ โดยเป็นการประชุมแบบออนไลน์
การบินไทยมีเจ้าหนี้ 13,000 ราย มูลหนี้ทั้งหมดประมาณ 410,000 ล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่คือ ผู้ถือหุ้นกู้ 71,000 ล้านบาท เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ประมาณ 80 แห่ง มีสัดส่วน 40% ของเจ้าหนี้ทั้งหมด ธนาคารเจ้าหนี้เงินกู้ 29,000 ล้านบาท มีสัดส่วน 17% กระทรวงการคลัง 13,000 ล้านบาท คิดเป็น 7%
ตามกฎหมายล้มละลายแผนฟื้นฟู ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้เสียงข้างมาก ทั้งจำนวนรายต้องมากกว่าครึ่งหนึ่งของเจ้าหนี้ทั้งหมด และจำนวนหนี้ต้องเกิน 2 ใน 3 ของมูลหนี้
ถ้าเสียงไม่ถึง คือ เจ้าหนี้ไม่รับแผนฟื้นฟู การบินไทยจะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายขายทรัพย์สินเอาเงินมาคืนเจ้าหนี้ ตามการคำนวณของการบินไทยเฉลี่ยแล้วจะได้รายละ 13% ของมูลหนี้ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี
แผนฟื้นฟูการบินไทย ฉีกตำราแผนฟื้นฟูทั่วไป เพราะไม่มีการลดหนี้ หรือแฮร์คัต ไม่มีการลดทุน เพราะเจ้าหนี้รายใหญ่คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ยอม และหนี้กระทรวงการคลัง ตามกฎหมายลดหนี้ไม่ได้ การปรับโครงสร้างหนี้จึงทำได้เพียงยืดหนี้ พักหนี้ และแปลงหนี้เป็นทุน
เมื่อไม่มีการแฮร์คัต และลดทุน การหาผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่อเติมเงินกิจการอีก 50,000 ล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่มีใครอยากจะเข้ามาแบกรับความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการฟื้นฟูกิจการร่วมกับผู้ถือหุ้นเดิม กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต้องเพิ่มทุนเองเป็นเงิน 25,000 ล้านบาท อีก 25,000 ล้านบาท ขอกู้จากเจ้าหนี้สถาบันการเงินรายเดิม แต่เจ้าหนี้มีเงื่อนไขว่า กระทรวงการคลังต้องค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะค้ำประกันได้ การบินไทยต้องกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง
การประชุม ครม.วันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเสนอให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อปลดล็อกเรื่องการค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของแผนฟื้นฟู โดยให้กองทุนวายุภักษ์ขายหุ้นตั้งแต่ 2.15% ขึ้นไป ให้บริษัท ธนารักษ์ พัฒนาสินทรัพย์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ทำให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 คือ เป็นบริษัทชั้นลูกของรัฐวิสาหกิจ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายกำกับรัฐวิสาหกิจ ไม่ต้องมีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บอร์ด และซีอีโอไม่ต้องมาจากการสรรหา และมีคุณสมบัติเหมือนรัฐวิสาหกิจประเภทที่ 1
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคัดค้าน โดยอ้างว่า จะทำให้เพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่เรื่องหนี้สาธารณะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นคนเสนอแนวทางนี้ และเป็นการนำภาษีของประชาชนมาอุ้มการบินไทย ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่กล้าตัดสินใจ ต้องซื้อเวลาเลื่อนออกไปอีก 1 สัปดาห์
การประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 ก่อนที่จะมีการประชุมเจ้าหนี้ เพื่อลงมติแผนฟื้นฟูการบินไทยในวันรุ่งขึ้น หากพล.อ.ประยุทธ์ ยังเกรงใจพรรคภูมิใจไทย ไม่กล้าทุบโต๊ะ เหมือนกรณีต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ค้างเติ่งมาจนบัดนี้ เพราะพรรคภูมิใจไทยทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง ก็มีโอกาสสูงมากที่เจ้าหนี้สถาบันการเงินจะไม่รับแผนฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งจะทำให้การบินไทยล้มละลาย ประเทศไทยจะไม่มีสายการบินแห่งชาติ
การบินไทยมีปัญหาการบริหารงาน การทุจริต การแทรกแซงจากกองทัพอากาศ และนักการเมือง แต่การบินไทยในสถานะสายการบินแห่งชาติ มีความสำคัญมากต่อความเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ขนส่ง และเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครือข่ายการบินระดับโลก หรือ Global Network ที่การบินไทยสร้างขึ้นมาตลอดอายุ 60 ปี เป็น “สินทรัพย์” ที่สำคัญของชาติ ถ้าหายไปเพราะไม่มีการบินไทยที่เป็นสายการบินแห่งชาติ จะเป็นความเสียหายที่รุนแรงมากเป็นโบว์ดำของพล.อ.ประยุทธ์
การบินไทย ทำให้ไทยเป็นเป้าหมายการเดินทาง การลงทุน การทำธุรกิจ เพราะมีเที่ยวบินที่ออกจากเมืองต่างๆ ทั่วโลก เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ทำให้สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางการค้า ธุรกิจ และสายการบินเอมิเรสต์ ทำให้เมืองในทะเลทรายอย่างดูไบ เป็นมหานครที่เชื่อมต่อโลกตะวันตกกับตะวันออก
การบินไทยจะได้ไปต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของพล.อ.ประยุทธ์ ในการประชุม ครม.วันพรุ่งนี้