xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม”เร่งแลนด์บริดจ์ ออกแบบท่าเรือน้ำลึก เคาะทางรถไฟเชื่อม2ทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-“ศักดิ์สยาม”เร่งเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ติดตามการออกแบบท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ฝั่งอันดามัน และทางรถไฟเชื่อม 2 ฝั่งทะเล กำชังต้องสั้นและตรง เกิดการพัฒนาในพื้นที่ ประชาชนมีส่วนร่วม และเกิดประโยชน์กับท้องถิ่น พร้อมดันตั้งพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเร่งผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าของการศึกษาความเหมาะสมการออกแบบเบื้องต้นของโครงการ โดยได้มีการกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาของโครงการออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม , ด้านการพัฒนาพื้นที่หลังท่า , ด้านการส่งเสริมการขนส่ง และด้านสิ่งแวดล้อมและการยอมรับของมวลชน

ทั้งนี้ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ได้มีการออกแบบท่าเรือให้มีความลึก 16 เมตร ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน แนวเส้นทางสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางรถไฟและทางหลวงสายหลักได้ สามารถรองรับทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสาร พร้อมทั้งรองรับระบบขนส่งทางท่อ

ด้านการพัฒนาพื้นที่หลังท่า จะมีการจัดตั้งพื้นที่หลังท่าเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่าตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ด้านการส่งเสริมการขนส่ง มีการศึกษาปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อลดขั้นตอนและเอกสารในการขนส่งสินค้า ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ให้สิทธิพิเศษทางภาษี เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เปลี่ยนมาใช้เส้นทาง

ด้านสิ่งแวดล้อมและการยอมรับของมวลชน ในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และต้องเกิดประโยชน์กับท้องถิ่น เช่น กำหนดโควตาการรับสมัครเข้าทำงานในโครงการให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบพื้นที่ จัดทำและดำเนินโครงการ แผนงานความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้โครงการสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

“ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับข้อสังเกต และประเด็นเพิ่มเติม โดยเฉพาะในการคัดเลือกแนวเส้นทาง ให้คำนึงถึงการลดระยะเวลาในการขนส่งจากท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง ที่สั้นและตรงที่สุด รวมถึงพิจารณาเรื่องการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในพื้นที่บริเวณโดยรอบโครงการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ และเกิดการกระจายการพัฒนาไปสู่ท้องถิ่น และการเปรียบเทียบโครงการในทุกมิติ เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ของโครงการต่อการพัฒนาประเทศชาติ รวมทั้งให้พิจารณาประเด็นการสร้างพันธมิตรที่เหมาะสมสำหรับการร่วมพัฒนาโครงการ โดยให้ครอบคลุมทั้งภายในประเทศ ประเทศในภูมิภาค และจากประเทศต่างๆ ในเวทีโลก”นายศักดิ์สยามกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น