xs
xsm
sm
md
lg

ราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เมื่อปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรมีความเห็นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการฆ่าล้างราชวงศ์จักรีให้สิ้นซาก และสถาปนาประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เท่าที่ได้อ่านแนวความคิดนี้มีอยู่ในคณะราษฎรสายทหารบางส่วน อันได้แก่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนักเรียนฝรั่งเศส ประเทศที่มีการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพลงชาติฝรั่งเศสทุกวันนี้พูดถึงการล้มล้างสถาบัน มีเนื้อหารุนแรงมาก ผมพอจะอ่านภาษาฝรั่งเศสได้ ได้เรียนภาษาฝรั่งเศสมาสองปีกับ อาจารย์วัฒนพร วัฒนพงศ์ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพราะผมเป็นเด็กห้องวิทย์-คณิต-ฝรั่งเศส ผมจำได้ว่าอาจารย์สอนร้องเพลง Le Petit Garcon เป็นเพลงน่ารักมาก แต่ทำไมไม่สอนร้องเพลงชาติฝรั่งเศส พอได้มาฟังเพลงชาติฝรั่งเศสในภายหลัง ผมยังพูดกับอาจารย์วัฒนพรหรือครูเหมียวเลยว่าผมเข้าใจแล้วว่าทำไมครูไม่สอนร้องเพลงชาติฝรั่งเศส ที่เนื้อหาดุเดือด ก้าวร้าว ฮึกเหิม นองเลือด ฆ่าล้าง ทลายแหกคุกบาสติลกันทีเดียว

ในขณะที่คณะราษฎรอีกสายไม่เห็นด้วย และเห็นว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ คณะราษฎร (2475) เองยังเป็นเด็กอ่อนหัดและยังไม่มีบารมีพอที่จะปกครองประเทศไปเองโดยลำพัง คนกลุ่มหลังนี้มีทั้งคณะราษฎรสายทหารและพลเรือนได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือ ซึ่งภายหลังถูกจอมพล ป พิบูลสงครามพยายามกำจัด จนต้องหนีไปที่เขมร ทำขนมขายยังชีพอย่างยากลำบาก แล้วไปตายที่เขมรหลังจากถูกวางยาพิษในขนมหรืออาหารที่มีคนอ้างว่าเป็นลูกศิษย์นำมาให้กิน

ท้ายที่สุดเป็นไปตามที่องค์ประกันในวันที่ 24 มิย. 2475 คือสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่กล่าวไว้กับนายประยูร ภมรมนตรีที่มาเชิญไปเป็นองค์ประกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคมว่า สุดท้ายที่สุดพวกแกจะฆ่ากันเองจนตาย ให้ระวังไว้ด้วย

ท้ายที่สุดคณะราษฎร ตัดสินใจอย่างหลังคือ คงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และสมาทานระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ที่เรียกว่า Constitutional monarchy มา ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย (Democracy) แบบสาธารณรัฐ (Republic) แบบฝรั่งเศส และรัฐธรรมนูญตลอดจนการเมืองการปกครองของไทยก็เดินตามเส้นทางนี้แบบลุ่มๆ ดอนๆ มากว่า 80 ปี ไม่ได้เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง เพราะสุดท้ายประชาชนก็ตกอยู่ในอามิสสินจ้าง อิทธิพล และการครอบงำของคนบางกลุ่มบางพวก คือนักการเมือง

ทำไมเลือกแปลคำว่า Constitutional monarchy ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งไม่ได้ตรงกับศัพท์ในภาษาอังกฤษเลย ทั้งๆ ที่พยายามลอกจากอังกฤษ คำตอบหากให้ผมสันนิษฐานก็คือคณะราษฎรอีกข้างต้องการคำว่าประชาชนและประชาธิปไตย ให้มีคำว่าประชาธิปไตย หรือ Democracy แต่เมื่อเป็น Constitutional monarchy จะขาดพระมหากษัตริย์ไปได้อย่างไร ก็เลยต้องแผลงแปลคำว่า Constitutional monarchy เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้ความหมายจะไม่ตรงนักแต่ก็พอเข้าใจได้ และตรงกับจริตสายฝรั่งเศสที่ต้องการล้มสถาบันและต้องการเน้นย้ำให้เห็นว่าประชาชนเป็นผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

Constitutional monarchy คือ ระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ ตามรากศัพท์ คำว่า monarchy มาจาก mono ที่แปลว่าเดี่ยวหรือเป็นหนึ่งเดียว และ arch ที่แปลว่าเป็นใหญ่หรือปกครอง monarchy จึงหมายถึงการปกครองที่เป็นใหญ่และปกครองเป็นหนึ่งเดียว monarchy จึงแปลได้ว่าราชาธิปไตย ศ. ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็ใช้คำว่าราชาธิปไตยเช่นกัน

Constitutional monarchy แปลว่าราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ หาใช่ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขก็หาไม่ เป็นการแปลที่ผิดเพี้ยน ตามนิยามด้านล่างนี้ ราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ เป็นระบอบการปกครอง ที่พระราชาร่วมปกครองกับรัฐบาลที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ ในระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุข รัฐธรรมนูญได้จัดสรรอำนาจที่เหลือจากอำนาจบริหารไปยังอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการ


ทั้งนี้ระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาทุกฉบับ ในหมวดทั่วไป มาตรา ๓ ได้บัญญัติเอาไว้ว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ในมาตรานี้มีใจความสำคัญหลายประการ

ประการแรก อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
ประการสอง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Head of state)
ประการสาม พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ (Sovereignty) เพราะทรงใช้อำนาจในการปกครองบ้านเมือง

ประการที่สาม หลัก The king can do no wrong ตามหลักราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ เพราะทรงใช้อำนาจผ่านสามสถาบันคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่ไม่ใช่ The king can do no wrong เพราะ The king can do nothing ซึ่งย้อนแย้งกับมาตรานี้อย่างสิ้นเชิง

หลักการของ The king can do no wrong ของระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญยังปรากฎในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๒ ที่บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ ข้อนี้ต้องแยกให้ออกระหว่างราชการแผ่นดิน (Government affair) กับราชการส่วนพระองค์ (Royal affair) ดังกรณีประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชโองการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อคราวทรงวินิจฉัยว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมืองและทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้อง พระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาทและพระบรมราชวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับพระองค์หรือแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ ดังนั้นพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหา กษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขอให้พึงสังเกตได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินในระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญยังทรงมีพระราชอำนาจ รวมไปถึงพระราชอำนาจพิเศษ (Royal prerogative) ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการตักเตือน อำนาจในการยับยั้ง และอำนาจในการสนับสนุน แนะนำ ให้กำลังใจ พระราชาธิบดีแห่งสวีเดนทรงใช้พระราชอำนาจพิเศษนี้ผ่านการที่คณะรัฐมนตรีทั้งคณะเข้ามากราบบังคมทูลรายงานการบริหารบ้านเมืองทุกสัปดาห์ เช่นเดียวกันกับที่ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบ็ธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักร ก็ทรงพระมหากรุณาธิคุณให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์และกิจการบ้านเมืองทุกสัปดาห์เป็นธรรมเนียมที่ทำมาโดยตลอดเช่นกัน

พระราชอำนาจนั้นมีทั้งพระราชอำนาจตามกฎหมายและพระราชอำนาจตามนิติราชประเพณี แม้กระทั่งการประหารชีวิต ก็ต้องลงพระปรมาภิไธย เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าชีวิต และพระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเวลาเดียวกัน ความเป็นพระเจ้าแผ่นดินคือการที่ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร พระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานโอกาสให้ประชาชนได้มีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินครั้งแรกโดยทรงตั้งกรมแผนที่ทหารและกรมที่ดิน มีการออกโฉนดที่ดินเป็นครั้งแรกของไทย ขอให้อ่านหนังสือพระราชอำนาจที่เขียนโดยนายประมวล รุจนเสวี ที่ตรงกับพระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร์ ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสว่า "…เราอ่านแล้ว เราชอบมาก เขียนได้ดีเขียนได้ถูกต้อง"


ในปัจจุบันนี้ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) ได้แก่ประเทศในยุโรปตะวันตกจำนวนมาก ได้แก่ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ส์ เบลเยี่ยม นอร์เวย์ เดนมาร์ค สเปน ลักเซ็มเบิร์ก โมนาโค ลิกเต็นสไตร์ และสวีเดน สำหรับประเทศในโลกตะวันออกคือทวีปเอเชียที่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญคือไทยกับญี่ปุ่น เป็นต้น

ข้อที่น่าพิจารณาคือ เป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งว่า การเมืองไทย นักการเมืองไทย และกลุ่มคนบางกลุ่มมีความพยายามจะลดพระราชอำนาจและด้อยค่าสถาบันตลอดเวลา เช่น มีการเผยแพร่แนวความคิดที่ว่า The king can do no wrong เพราะ The king can do nothing. อันเป็นข้อความที่ไม่เป็นจริงและขัดแย้งกับระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง

ความพยายามลิดรอนพระราชอำนาจที่ได้มาจากสถาบันพระมหากษัตริย์นับแต่ 2475 มีมาเสมอ ทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหามาโดยตลอด ประเทศไทยไม่เคยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เนื่องจากเรามีนักการเมืองเลว และมีประชาชนที่ยังเห็นแก่ตัวมาก ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เทศน์เอาไว้ว่า

ประชาธิปไตย ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่
ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่
ประชาชนเป็นใหญ่นั้นมันไม่แน่
ประชาชนบ้าบอก็ได้
ของประชาชน โดยประชาชน
ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวแล้วฉิบหายหมด
พุทธทาสภิกขุ


และประเทศไทยก็ยังไม่เคยปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) ที่แท้จริงอีกเช่นกัน เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ถูดลิดรอนพระราชอำนาจและด้อยค่ามาโดยตลอด


กำลังโหลดความคิดเห็น