xs
xsm
sm
md
lg

คลังดึง'บินไทย'กลับรสก.-คค.ค้านแบกหนี้3แสนล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - กระทรวงการคลัง เตรียมดึง "การบินไทย" กลับมาเป็นรัฐวิสหกิจอีกครั้ง ให้กองทุนวายุภักษ์ ขายหุ้นให้ "ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์" ที่คลังถือหุ้น 100% เพื่อให้ใส่เงินเสริมสภาพคล่อง ขณะที่ "คมนาคม" ลุยค้านแหลก กระทบเพดานหนี้สาธารณะ เพิ่มเข้ามาทันที 3 แสนล้านบาท แถมต้องนำภาษีอากรของคนทั้งชาติมาจ่ายให้อีกปีละ 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ รมว.คลัง เผยยังไม่มีข้อสรุป รอความชัดเจนแผนฟื้นฟูฯ ก่อน ด้าน "ศักดิ์สยาม" เคาะ3มาตรการช่วยแอร์ไลน์ สู้วิกฤตโควิด

วานนี้ (28 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ทำเนียบรัฐบาลได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พร้อมตัวแทน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) บริษัท ผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด รวมที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย และ บริษัท การบินไทยจำกัด เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้นำเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาการบินไทย ในแนวทางที่จะให้นำกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกครั้งโดยทางกระทรวงการคลังรายงานว่า ปัจจุบัน ถือหุ้น การบินไทย 47.86% และล่าสุดการบินไทย ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า กองทุนวายุภักษ์ มีการขายหุ้น การบินไทย ในสัดส่วน 0.3088% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ คงเหลือ 14.9335% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ

นอกจากนี้ ยังมีการรายงานว่า ทางกระทรวงการคลังจะให้บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส.เข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วนตั้งแต่ 2.15% ขึ้นไป ซึ่งจะมีผลทำให้การบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกครั้ง ตาม พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ และ พ.ร.บ.เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ และพ.ร.บ. อื่น ๆ

โดยในประเด็นดังกล่าว กระทรวงการคลัง และกระทรวงการคมนาคม ได้มีความเห็นไม่ตรงกัน ในส่วนที่จะดำเนินการกับสถานะของการบินไทย ซึ่งหลายฝ่ายมีความกังวลว่า หากให้ ธพส. ไปซื้อหุ้นการบินไทย จะทำให้สถานะของการบินไทย กลับมาเป็นของรัฐอีกครั้ง เนื่องจากสัดส่วนผู้ถือหุ้นจะเป็นรัฐถือหุ้นสูงสุด ขณะเดียวกันจะสอดคล้องกับแนวทางที่กระทรวงคลัง เสนอมายังที่ประชุมเพื่อให้รัฐสามารถค้ำประกันเงินกู้ได้หากมีการเพิ่มทุน โดยกระทรวงคมนาคมเห็นว่า หากมีการค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย จะเกิดภาระกับรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นมาร่วม 300,000 ล้านบาท เพิ่มจากเดิม ที่มีอยู่ 200,000 ล้านบาท

สำหรับประเด็นในที่ประชุมแสดงความเป็นห่วง อาทิ 1. การบริหารจัดการหนี้ หลังจากที่กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกครั้ง เรื่องนี้จะส่งผลต่อตัวเลขหนี้สาธารณะให้เพิ่มขึ้นมา จากวันที่พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ มีอยู่ 220,000 ล้าน แต่วันนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้าน ซึ่งจะถูกโอนมาเป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งก็คือภาษีอากรของประชาชน ในทันที 2. รัฐจะต้องนำงบประมาณไปสนับสนุนให้บริษัทการบินไทย ปีละ 5 หมื่นล้านบาท ตามค่า KPI ทำให้รัฐต้องเข้าไปค้ำประกันไม่น้อยกว่า 3- 5 ปี กว่า บริษัทการบินไทย จะกลับมามีกำไร

3. เกิดข้อครหาจากประชาชน เพราะเมื่อ 9 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ดำเนินการขายหุ้น จนทำให้การบินไทยออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ทำไมวันนี้มาเสนอให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นการตบตาประชาชนหรือไม่ 4. ความเสี่ยงจากที่อยู่กับเอกชน เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจ ความเสี่ยงจะกลับมาอยู่กับภาครัฐในทันที และ 5. การดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ที่กระทรวงคมนาคม เสนอไว้ ได้พยายามดำเนินการหรือยัง และหากยังไม่ดำเนินการ มั่นใจได้อย่างไรว่าจะฟื้นฟูไม่สำเร็จ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปในการจะดึงบมจ.การบินไทย (THAI) กลับมามีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจาก THAI ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ที่กำหนดจะจัดประชุมเจ้าหนี้ให้โหวตแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พ.ค.นี้ จึงจะทราบว่าเจ้าหนี้จะรับแผนฯ หรือไม่

"ให้ไปคุยกันให้เรียบร้อย และต้องดูข้อเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ ต้องรอดูความชัดเจนของผลโหวตรับแผนฯ จากเจ้าหนี้ เพราะการเพิ่มทุนมีหลายแนวทาง ซึ่งขณะนี้แผนฟื้นฟูการบินไทย ยังอยู่ในขั้นตอนของผู้ทำแผนฯ กับทางเจ้าหนี้" รมว.คลังกล่าว

ส่วนกรณีที่กองทุนวายุภักษ์ 1 ขายหุ้น THAI ช่วงที่ผ่านมานั้น รมว.คลัง มองว่าเป็นการบริหารจัดการพอร์ตหุ้นตามปกติ ตามกลไกราคา

“ศักดิ์สยาม”เคาะ3มาตรการช่วยแอร์ไลน์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.) ครั้งที่ 4/2564 วันที่ 28 เมษายน 2564 ที่ประชุม มีมติเห็นชอบให้มีการประกาศใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID - 19 ระยะที่ 3 ไตรมาสที่ 2/2564 โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขประกอบการดำเนินการ3 หน่วยงาน ได้แก่

1.มาตรการปรับลดและยกเว้นค่าบริการสนามบินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. โดยให้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดจากวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นวันที่31 มีนาคม 2565

2.มาตรการปรับลดและยกเว้นค่าบริการสนามบินของ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดย ทย. สามารถดำเนินการได้เมื่อได้รับเงินชดเชยเข้าเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานจากรัฐบาลแล้ว และจะดำเนินการคืนเงินค่าบริการส่วนต่างดังกล่าวที่เรียกเก็บมาแล้วคืนให้แก่สายการบินต่อไป

3.มาตรการปรับลดค่าบริการการเดินอากาศ ของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้มีการพิจารณาคำขอของสมาคมสายการบินประเทศไทยที่ขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ค่าบริการการเดินอากาศ ในงวดเดือนมกราคม - ธันวาคม 2564 จาก 90 วัน เป็น 180 วัน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่สายการบินได้รับจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่

โดย บวท. ได้เสนอทางเลือกว่าจะขยายระยะเวลาชำระหนี้ค่าบริการให้แก่สายการบินซึ่ง กบร. ให้ กพท. ประสานไปยังสมาคมฯ เพื่อทราบข้อเสนอของ บวท. ต่อไป

และ ให้ กพท. พิจารณาทบทวนการปฏิบัติตามพ.ร.บ. การเดินอากาศฯ และการออกกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับค่าบริการต่าง ๆ ของผู้ประกอบการด้านการบินเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการเดินอากาศเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

เห็นชอบเพิกถอนใบอนุญาต”นิวเจน แอร์เวย์ส”

นอกจากนี้ กบร.ยังมีมติให้ความเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ หรือ AOC (ใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน) เลขที่ 5/2560 ที่ออกให้แก่บริษัทนิวเจน แอร์เวย์ส จำกัด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 41/129 แห่ง พ.ร.บ. การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ประกอบข้อ 50 ของข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ และประเภทการทำงานทางอากาศ เช่น ไม่สามารถดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง (ยกเลิก/เลื่อนเที่ยวบินจำนวนมาก) ไม่มีอากาศยานให้บริการ มีผลขาดทุนมาก มีหนึ้สินถึงกว่า 2 พันล้าน ขาดสภาพคล่อง ขาดแหล่งเงินทุน โดยมีการหยุดทำการบินตามสิทธิในเส้นทางบินที่ได้รับอนุญาตแล้วทั้งหมด โดยกบร. กำชับให้ กพท. ตรวจติดตามให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย

สำหรับ นิวเจนแอร์เวย์ส ก่อตั้งเมื่อเดือน ก.ค. 2555 (เดิมชื่อสบายดี แอร์เวย์) โดยได้แจ้ง กพท.ขอหยุดทำการบินเมื่อ เดือน ส.ค. 2562 เนื่องจากประสบปัญหา ในการประกอบธุรกิจ ซึ่ง กพท. ตรวจสอบไม่พบว่ามีผู้โดยสารตกค้างหรือได้รับผลกระทบ จึงอนุมัติให้หยุดทำการบินได้ และต่อมา ทางสายการบินไม่ได้มีการให้บริการ โดยได้ปลดประจำการเครื่องบินทุกลำไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น