xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์สั่ง'ดร.เซปิง'จ่าย2แสนฐานโฆษณา"เฟซออฟ”เกินจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ศาลอุทธรณ์สั่ง “ดร.เซปิง” ชดใช้เงินผู้เสียหายทำศัลยกรรมใบหน้า-หน้าอก จำนวน 2 เเสนบาท พร้อมดอกเบี้ย ฐานโฆษณาเกินจริง ส่วนเเพทย์กับจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่ นางพัทธนันท์ อินทร์สะอาด หรือจุฑาลักษณ์ เปมากร เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.เซปิง ไชยศาส์น หรือ ดร.เซปิง, นายบทมากร วัฒนะนนท์, บริษัทเอ็ม เอฟ เซอร์เจอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด, นายกมล พันธ์ศรีทุม และนายธีระ ยั่งยืน เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดเรื่องละเมิด สัญญา ตัวแทน หุ้นส่วน เรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายกรณีโจทก์เข้าร่วมศัลยกรรมโครงการเฟซออฟ โดยหลังจากผ่าตัด ใบหน้าของโจทก์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง หน้าอกไม่เท่ากัน มีรอยแผลเป็นที่บริเวณด้านหน้าและด้านหลังของใบหูทั้งสองข้าง ใบหน้าโจทก์เสียโฉม ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 7,070,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลขาดอายุความ

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้จะเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดในมูลละเมิด แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดอาญาด้วย อันเป็นการกล่าวหาในเรื่องละเมิดในมูลอันเป็นความผิดอาญา แม้จะยังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งห้าในทางอาญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448วรรคสอง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ ซึ่งความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนมีอายุความในทางอาญา 10 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

ส่วนประเด็นจำเลยที่ 4-5 ประมาทเลินเล่ออันละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายสภาพหน้าอกของโจทก์ แล้วไม่มีสภาพหน้าอกไม่เท่ากันอย่างชัดเจน อีกทั้งภาพถ่าย ซึ่งเป็นภาพรอยแผลที่บริเวณด้านหน้าและด้านหลังใบหูทั้งสองข้างอันเป็นรอยแผลจากการผ่าตัดดึงหน้ารอยแผลดังกล่าวก็มิได้ชัดเจนถึงขนาดที่จะถือเป็นการผ่าตัดที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์แต่อย่างใด โจทก์อาจจะไม่พึงพอใจผลการผ่าตัดทั้งสองอย่างนี้ แต่จำเลยที่ 4-5 เบิกความยืนยันว่าได้ผ่าตัดไปตามมาตรฐานทางการแพทย์แล้ว โดยที่โจทก์ก็ไม่ได้มีพยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความยืนยัน เพื่อหักล้างว่าการผ่าตัดของจำเลยที่ 4-5 เป็นการกระทำที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ในประเด็นนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 จงใจโฆษณาด้วยข้อความที่ไม่ตรงกับความจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า เรื่องนี้จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิเสธว่าไม่มีการโฆษณาตามที่โจทก์อ้าง การที่มีการโฆษณาว่าไม่มีรอยแผลเป็น ไม่บวม ไม่ทัก ไม่เจ็บนั้น ชัดว่าเป็นการโฆษณาที่ขัดต่อหลักความจริงในการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดจะต้องมีรอยแผลดังที่จำเลยที่ 5 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า การผ่าตัดทุกครั้งต้องมีรอยแผล ไม่ว่าการผ่าตัดจะดีเท่าไรต้องมีรอยแผลในการการผ่าตัด จะต้องใช้ยาแก้ปวด ยาลดบวม ทำให้เชื่อว่ากรณีของโจทก์ก็ต้องมีอาการเจ็บและบวม ส่วนรอยแผลของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่ารอยแผลเป็นไม่ใช่รอยแผลนั้น ประชาชนทั่วไปเมื่อเห็นโฆษณาของจำเลยที่ 1 คงไม่ได้แยกแยะว่าอย่างไรเป็นรอยแผลอย่างไรเป็นรอยแผลเป็น แม้โจทก์จะเคยทำศัลยกรรมดึงหน้าและทำหน้าอกที่โรงพยาบาลอื่นมาแล้วก็ตาม การโฆษณาของจำเลยที่ 1 อาจทำให้โจทก์เข้าใจว่าเป็นการผ่าตัดที่ไม่เหมือนกับที่โจทก์เคยทำมา

ส่วนที่โจทก์ถ่ายคลิปวีดีโอพูดว่าไม่เจ็บ ไม่มีรอยแผลเป็นนั้น โจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้บอกให้โจทก์พูดเช่นนี้ ซึ่งน่าเชื่อว่าข้อความในคลิปวิดีโอโจทก์ไม่ได้คิดคำพูดขึ้นเอง แต่เป็นการถ่ายทำเพื่อการโฆษณาของโครงการจำเลยที่ 1 ในภาวะเช่นนั้นโจทก์ย่อมต้องพูดไปตามที่จำเลยที่ 1 บอกดังกล่าว

ดังนั้น ข้อความที่จำเลยที่ 1 โฆษณาทางเว็บไซต์จึงเป็นข้อความที่ไม่ตรงกับความจริง หากไม่มีข้อความดังกล่าว โจทก์อาจไม่ตกลงเข้าร่วมโครงการของจำเลยที่ 1 และที่อ้างว่ามีคำเตือนแล้วว่า ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับเฉพาะบุคคลนั้น คำเตือนดังกล่าวไม่ใช่การเตือนเรื่องไม่มีรอยแผลเป็น ไม่เจ็บ แต่เป็นคำเตือนเรื่องผลของการทำศัลยกรรม เป็นตัวหนังสือเล็กๆ อยู่ใต้ข้อความอื่น จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ามีการเตือนแล้วไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มีการโฆษณาและคำรับรองดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเข้าร่วมโครงการ ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เมื่อเป็นการโฆษณาและคำรับรองที่ไม่ตรงกับความจริง จึงเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ข้อสุดท้ายว่าจำเลยทั้งห้าต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 4-5ไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งห้าจึงไม่ต้องรับผิดเกี่ยวข้องกับการละเมิด คือเงินที่โจทก์เสียไปในการผ่าตัดดึงหน้าและหน้าอก รวมทั้งเงินที่โจทก์ต้องผ่าตัดแก้ไขแผลที่น่าเกลียดและรักษาแผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความเสียหายส่วนนี้นอกจากจะไม่มีการทำละเมิดแล้ว ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปเมื่อใดและเป็นจำนวนเท่าใด รวมทั้งค่าเดินทางมาดำเนินคดี กับค่าขาดรายได้ในชีวิตประจำวันด้วย

ส่วนของค่าเสียหายเป็นค่าทนทุกข์ทรมานทางร่างกายและจิตใจ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ผลการผ่าตัดมิได้เป็นไปดังที่ทำการโฆษณายืนยัน ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความทุกข์ทรมาน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์ แต่ที่โจทก์เรียกร้องมาสูงถึง 2 ล้านบาทนั้นสูงเกินไป เมื่อพิจารณาหลักฐานประกอบแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์จำนวน 2 แสนบาท ส่วนค่าเสียอิสรภาพโดยถูกบังคับให้ถ่ายคลิปวีดีโอนั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ข่มขู่ให้โจทก์ถ่ายคลิปวีดีโอ แต่เป็นเรื่องความสมัครใจของโจทก์เองในขณะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้

ส่วนจำเลยที่ 2-5 โจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏว่ามีส่วนรู้เห็นกับการโฆษณาของเลยที่ 1 โดยเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 3 นั้น ก่อนที่โจทก์จะเข้ารับการผ่าตัดในคดีนี้ จำเลยที่ 3 ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาละเมิดและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเว็บไซต์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ตกลงที่จะหยุดการกระทำซึ่งการละเมิดต่อจำเลยที่ 3 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์จากการโฆษณาดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3-5 เป็นเพียงผู้รับทำการผ่าตัดคนไข้ตามที่จำเลยที่ 1 ส่งมาเท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2-5 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (19 เม.ย. 2562) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น