วิกฤตการณ์เป็นบททดสอบคุณภาพและคุณค่าของความเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับใดก็ตาม ยิ่งเป็นผู้นำประเทศด้วยแล้ว ก็ยิ่งสำคัญในด้านการดำรงความศรัทธา ความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน ว่าสมควรได้รับการไว้วางใจหรือไม่
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 ในบ้านเราก็เช่นเดียวกัน เป็นเครื่องวัดอย่างดี สำหรับคุณค่าและมาตรฐานของผู้นำรัฐบาลและคณะว่าเป็นอย่างไร
การระบาดรอบใหม่เป็นคำตอบอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นผลจากการปล่อยปละละเลยโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และนโยบายของรัฐบาลซึ่งเป็นไปในรูปแบบของการขาดมาตรฐานด้านการปฏิบัติ และการตอบรับสถานการณ์วิกฤต
ตัวเลขของการระบาดสะท้อนให้เห็นความรุนแรง เป็นสีแดงและสีส้มทั้งแผ่นดิน ไม่มีจังหวัดใดรอดจากการระบาด เกือบทั้งหมดมีต้นตอจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ แหล่งปลดปล่อยอารมณ์ของเสนาบดีและนักเที่ยวกระเป๋าหนัก
สะท้อนให้เห็นความบกพร่องในการตอบรับ ยิ่งเกิดช่วงวันหยุดยาว ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าไม่มีความฉุกเฉินในการตอบรับสถานการณ์ ทุกอย่างยังเป็นระบบราชการ
ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Sense of Urgency หรือ Sense of Crisis ที่สะท้อนให้ตระหนักถึงความรู้สึกของความร้ายแรงของปัญหา ความเร่งด่วนในการจัดการ และยังขาดความสามารถในการจัดการกับภาวะวิกฤต หรือ Crisis Management
เห็นแต่ท่าดีทีเหลว ลีลาเยอะ ปล่อยให้หมอ บุคลากรทางการแพทย์รับความเสี่ยง ทำงานหนัก แทบไม่มีเวลาได้พักผ่อน ทั้งยังขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็น
ผู้นำรัฐบาลและคณะยังพักผ่อนเบิกบานสำราญใจ ทั้งๆ ที่เห็นตัวเลขขยับสูงทุกวัน มาทำงานวันศุกร์ก็ประกาศมาตรการห้ามประชาชนทำนั่นนี่โน่น ส่งผลกระทบกันทั่ว แต่ไม่บอกสักคำว่านอกจาก “ห้าม” แล้วภาครัฐมี “ให้” อะไรทดแทนเยียวยา
มีแต่วางมาดเข้ม ออกท่าทางขึงขัง ซึ่งเป็นเวลาคุ้นชินสายตาชาวบ้านให้รู้ว่านี่เป็นลูกเล่นเดิมๆ ที่ป้องกันไม่ให้สื่อซักหนัก แต่ชาวบ้านสวดชยันโตให้ทั้งแผ่นดิน
คราวนี้หนักหนาสาหัส ภาคการท่องเที่ยวยิ่งทรุด พ่อค้า ร้านค้าขายอาหารประเภทแซ่บทั้งหลายต้องปิดเรียบ เพราะถ้าไม่ขายสุราเครื่องดื่มมึนเมา ก็ไร้ลูกค้า
ถึงรัฐบาลไม่สั่งปิด ก็ต้องปิดตัวเองโดยปริยาย แล้วเจ้าของต้องเผชิญกับการขาดรายได้ อย่างน้อยก็ 14 วันช่วงลองของว่าจะเอาอยู่หรือไม่ กลุ่มร้านเหล่านี้อยู่ได้แบบรายได้วันต่อวัน ไม่มีเงินทุนหนาเป็นร้อยๆ ล้านเหมือนอัครฐานบันเทิงวีไอพี
เสนาบดีบางรายยังทำปากดี ว่าตัวเลขจีดีพียังจะดีอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะการส่งออกยังดี ทำเป็นไม่รู้ตัวว่าความน่าเชื่อถือน้อยกว่าพระเอกลิเกในสายตาชาวบ้าน
หายนะรอบนี้รุนแรงกว่าเดิม ผู้นำประเทศไม่เอ่ยปากขอโทษ เหมือนเดิม ไม่จดจำประวัติศาสตร์ อยู่ไปแต่ละวันแก้ผ้าเอาหน้ารอด รักษาคะแนนความนิยมด้วยการทุ่มเงินในนโยบายประชานิยม กลัวชาวบ้านรวมตัวกันขับไล่ให้พ้นจากอำนาจ
มีคำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกว่า 1 ปี แต่พฤติกรรมการตั้งรับสถานการณ์ไม่สะท้อนให้เห็นความฉุกเฉิน ไม่กระตือรือร้น ห่วงอย่างเดียวคือเก้าอี้รัฐมนตรี
ยิ่งได้ยินเสียงโอดครวญ ร่ำร้องจากผู้บริหารโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศอย่างน้อย 4 แห่ง ขอรับการบริจาคเงินและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชาวบ้านก็ยิ่งตกใจแกมสลดหดหู่ ว่าทำไมผู้บริหารรัฐบาลทนกับเสียงร้องที่เหมือนคำประจานได้
ถ้าผู้บริหารร้องอย่างนี้ แสดงว่าขาดแคลนจริงๆ หลังจากท่านผู้นำมีคำสั่งห้ามนั่นนี่โน่น ยังไม่มีสักแอะ ออกจากปากว่ามีงบประมาณสำหรับการตั้งรับสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” รอบใหม่อย่างไร ทำไมปล่อยให้ภาคการรักษา อยู่ในสภาวะเช่นนี้
ไม่ “ถังแตก” ตามคำพูดเชิงสงสัยไม่ใช่หรือ มีปัญหาอะไรด้านการเงินหรือไม่
งบกลางของปี 2564 มีอยู่ 6.5 แสนล้านบาท หายไปไหน ยังเหลืออีกหรือไม่ หรือผันไปจ่ายอีลุ่ยฉุยแฉกในโครงการประชานิยมและโครงการอื่นๆ จนเกลี้ยง
ถ้ายังมีเหลือ บอกประชาชนได้หรือไม่ ครั้งแรกเมื่อเกิดการระบาด รัฐบาลกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทอ้างว่าจะใช้กิจการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูประเทศ เจียดเงินเพียง 6.8 หมื่นล้านบาทให้ภาคสาธารณสุข ซึ่งเป็นจำนวนน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับปัญหา
ยิ่งรู้ว่ายาจำเป็นที่ใช้รักษาอาจไม่เพียงพอ ก็สั่งมาเพิ่มเล็กน้อย ทั้งที่ตัวเลขผู้ป่วยก็มีมากเกินจำนวนเม็ดยา Favipiravir ที่มีอยู่และจะส่งเข้ามาใหม่
ทำไมรัฐบาลจึง “เขียม” อย่างแรงกับภาคสาธารณสุข หรือเกรงว่าจะมีใครได้หน้ามากกว่าผู้นำประเทศ หรือมีความจำเป็นอื่นใดในการใช้เงิน โดยเฉพาะงบกลาง
ครั้งนี้การระบาดเกิดขึ้นในกลุ่มชนระดับบน มีเงินทอง ไม่เดือดร้อน แต่ส่งผลกระทบหนัก แม้แต่เด็กยังไม่มีโอกาสได้ไปเรียนหนังสือ แต่ผู้ละเมิดกฎหมายในระดับต่างๆ ยังไม่ถูกดำเนินคดีหรือลงโทษอย่างจริงจัง ด้วยปัญหาลูบหน้าปะจมูก
นี่ยังแค่เป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ระบาดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ 1.7 เท่า ถ้าเป็นสายพันธุ์บราซิลหลุดรอดเข้ามาได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ จะเลวร้ายแค่ไหน เมื่ออัตราการระบาดเร็ว 2.5 เท่า และวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันได้ผล
และยิ่งมีปัญหาด้านเงินด้วยแล้ว ก็ทำให้เกิดความรู้สึกสยองว่าจะรับไหวหรือไม่ เอ๊ะ! หรือว่าการขาดงบช่วยเหลือแพทย์ครั้งนี้จะถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกู้เงินรอบใหม่ สวมรอยอีกครั้ง มีแว่วๆ ว่าตัวเลขจะสูงถึง 2.4 ล้านล้านบาท เช่นนั้นเรอะ
อ้างว่าหนี้สาธารณะยังไม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ยังกู้ได้อีก ฉะนั้นวิกฤตรอบนี้จะเป็นโอกาสสำหรับวาระ “หวานคอแร้ง” รอบใหม่ ใช่หรือไม่