ถ้าท่านผู้อ่านได้ติดตามความเป็นมาของการเมืองไทยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่ามีปรากฏการณ์ทางการเมืองประการหนึ่งน่าสนใจ และควรจะได้นำมาศึกษาเพื่อหาคำตอบว่าทำไมประชาธิปไตยจึงไม่ก้าวหน้าเช่นประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย
ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ว่านี้ก็คือ การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่การปกครองในระบอบเผด็จการสิ้นสุดลง และมีการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งเป็นขั้นต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นเสมือนบันไดขั้นแรกให้นักการเมืองผู้แสวงหาอำนาจก้าวขึ้นสู่อำนาจรัฐ โดยการลงเลือกตั้ง ดังนั้นพรรคการเมืองใหม่ๆ จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อรองรับความอยากมี อยากเป็นของนักการเมือง ทั้งนี้จะเห็นได้จากปรากฏการณ์ทางการเมืองดังต่อไปนี้
1. ก่อนที่ผู้มีอำนาจในระบอบเผด็จการ เนื่องจากจำเป็นต้องจัดให้มีการเลือกตั้งแต่ยังเสพติดยึดอำนาจ จึงจำเป็นต้องตั้งพรรคการเมืองเพื่อรองรับความต้องการอำนาจในระบอบประชาธิปไตยสืบต่อ โดยใช้เสียงของบรรดานักเลือกตั้งเป็นฐานขึ้นสู่อำนาจตามครรลองระบอบประชาธิปไตย เช่น พรรคมนังคศิลาในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพรรคสหประชาไทยในยุคของพล.อ.ถนอม กิตติขจร และพรรคสามัคคีธรรมในยุคของพล.อ.สุจินดา คราประยูร และล่าสุดคือพรรคพลังประชารัฐในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้น
2. ในขณะที่มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมารองรับผู้มีอำนาจในระบอบเผด็จการเพื่อสืบทอดอำนาจตามข้อ 1 ทางซีกของนักการเมืองที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงกันข้ามกับระบอบเผด็จการ ก็มีการแยกตัวออกมาตั้งพรรคเพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ โดยการเข้ารัฐบาลกับพรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เช่น พรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งแยกตัวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์
จากการที่มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมากในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และในแต่ละพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ ต่างก็ดึงเอานักการเมืองเก่าซึ่งแต่ละคนมีฐานเสียงของตนเองเข้ามาอยู่ในสังกัด จึงทำให้พรรคการเมืองใหม่มีโอกาสได้รับเลือกตั้ง และนี่เองคือสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แม้กระทั่งพรรคการเมืองเก่าแก่เช่นพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับเลือกเข้ามามีเสียงมากพอจัดตั้งรัฐบาล และบริหารงานได้อย่างมีเสถียรภาพ จึงทำได้แค่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมเท่านั้น และการที่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเป็นรัฐบาลผสมตลอดมานี้เอง ทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็น เฉกเช่นประเทศตะวันตกที่เจริญแล้วเช่น อังกฤษ เป็นต้น และที่เป็นเช่นนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ในการเลือกตั้งไม่ว่าในระดับท้องถิ่นหรือในระดับชาติ คนไทยส่วนใหญ่ยังยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าพรรค ดังนั้นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่จึงต้องดึงนักการเมืองเก่าซึ่งประชาชนนิยม และได้รับเลือกมาก่อนมาเข้าพรรค โดยเสนอผลประโยชน์ในของตัวเงิน และตำแหน่งทางการเมืองถ้าได้รับเลือกในกรณีที่พรรคได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือได้เข้าร่วมรัฐบาล และนี่เองคือที่มาของการย้ายพรรคจากเก่ามาสู่ใหม่ ทั้งเป็นที่มาของคำว่า ส.ส.ขายตัวด้วย
2. ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งมีการใช้เงินซื้อเสียงทั้งทางตรงคือ จ่ายเป็นรายหัวเป็นเงินสด และโดยทางอ้อมในรูปแบบของสัญญาว่าจะให้โดยผ่านทางการปราศรัยหาเสียงในทำนองรับปากล่วงหน้าว่าจะทำโน่น ทำนี่ให้เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ ดังนั้นผู้ที่จะตั้งพรรคการเมืองจะต้องมีเงินของตนเองหรือมีนายทุนให้การสนับสนุนในจำนวนที่มากพอจะทำกิจกรรมทางการเมือง ในทำนองเดียวกันกับประกอบธุรกิจ และนี่เองคือที่มาของการทุจริต คอร์รัปชันในวงราชการที่มีนักการเมืองและพ่อค้าเข้าไปเกี่ยวข้องในรูปแบบของการถอนทุนทางการเมืองที่ลงทุนไปในการเลือกตั้ง
จากเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น จะเห็นได้จากพรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ตั้งขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจ หรือแม้กระทั่งที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อการสืบทอดอำนาจล้วนแล้วแต่เป็นพรรคเฉพาะกิจเกิดง่าย และตายเร็วทั้งสิ้น
ในทำนองเดียวกัน พรรคการเมืองที่มีข่าวว่าจะเกิดขึ้นในขณะนี้ ก็คงหนีไม่พ้นคำว่า พรรคเฉพาะกิจ และถ้าการอนุมานถูกต้อง ประชาธิปไตยของประเทศไทย ก็คงจะอยู่ในวังวนเดิมๆ ไปอีกนานตราบเท่าที่พรรคการเมืองตั้งขึ้นเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจ และสนองความอยากมี อยากเป็นเพื่อการแสวงหาอำนาจ และใช้อำนาจที่ได้มาแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง และพวกพ้องยังคงอยู่ในวงการเมือง