ท่านผู้อ่านหลายท่าน คงจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า คนมีทิฏฐิมานะ โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่พูดถึงพฤติกรรมของบุคคลอื่นที่ดื้อรั้น ไม่ยอมรับฟังเหตุผลว่าเป็นเพราะมีทิฏฐิมานะ
คำว่า ทิฏฐิหมายถึงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ซึ่งเกิด และดำรงอยู่รอบตัวเรารวมถึงตัวเราเองด้วย ซึ่งมีความหมายทั้งแง่ดีเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ และในแง่ไม่ดีเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ และทิฏฐินี้เองเป็นบ่อเกิดหรือที่มาของการพูด และการกระทำ ส่วนว่า การพูด และการกระทำจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับความคิดเห็นทิฏฐินั่นเอง กล่าวคือ ถ้าคนมีความคิดเห็นดีหรือมีสัมมาทิฏฐิ การพูดและการทำก็จะดีไปตาม ในทางกลับกัน ถ้าคนมีความคิดเห็นไม่ดีหรือมิจฉาทิฏฐิ การพูดและการทำก็ไม่ดีไปด้วย
ด้วยเหตุที่ความคิดเห็นเป็นบ่อเกิดหรือเป็นต้นเหตุของการพูด และการกระทำ คนจึงจำเป็นต้องฝึกตนให้มีสัมมาทิฏฐิ โดยการรักษาศีล ทำสมาธิ และพัฒนาปัญญา
คำว่า ศีลหมายถึงการงดเว้นจากกายทุจริตคือ ความชั่วอันเกิดจากการกระทำ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และประพฤติผิดทางกาม เป็นต้น รวมไปถึงการงดเว้นจากวจีทุจริตหรือความชั่ว อันเกิดจากการพูดเช่น การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ เป็นต้น
คำว่า สมาธิหมายถึงการฝึกจิตให้สงบจากมโนทุจริตหรือความชั่วทางใจเช่น ความอาฆาต พยาบาท เป็นต้น
ส่วนคำว่า ปัญญาหมายถึงการรอบรู้ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ
1. สัญชานาติ รู้เพราะจำได้ได้แก่ ความรู้ที่ได้จากการอ่าน การฟัง และจำได้
2. อภิชานาติ ได้แก่ความรู้อันเกิดจากการปฏิบัติ และมีความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ตามความเป็นจริง
เวลานี้ สังคมโลกได้เจริญก้าวหน้า และมีการพัฒนาทางด้านวิชาการแขนงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาศาสตร์ จึงทำให้ความเจริญทางด้านวัตถุก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลทั้งในด้านสร้างสรรค์ และในด้านทำลายล้าง
แต่ในขณะเดียวกัน คุณธรรม และจริยธรรมซึ่งเป็นศาสตร์ขัดเกลาจิตใจ และกำกับมิให้มนุษย์ทำความชั่ว อันเป็นเหตุให้ตนเองและสังคมเดือดร้อน กลับเสื่อมถอย จึงทำให้เกิดความไม่สมดุล จิตใจกับวัตถุ และนี่เองคือสาเหตุในสังคมมนุษย์สับสนวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ศาสนา ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นแหล่งเรียนรู้คุณธรรม และจริยธรรม รวมไปถึงการฝึกอบรมจิตใจเพื่อเข้าถึงสัจธรรมของชีวิตกำลังเสื่อมถอย และมีแนวโน้มเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาประเภทเทวนิยม (Theism) เนื่องจากว่า คำสอนในระดับอันติมสัจ (Ultimate Reality) ขัดแย้งกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ จึงทำให้คนรุ่นใหม่เหินห่างศาสนาประเภทนี้ เพียงแต่ยังคงมีผู้เลื่อมใสศรัทธาในส่วนของศีลธรรมขั้นต้น และปฏิบัติตามในส่วนที่เป็นพิธีกรรม แต่ก็ไม่ทำให้จิตใจมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะต่อต้านกระแสแห่งวัตถุนิยมได้ จะเห็นได้จากปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน และการก่ออาชญากรรมรุนแรงเกิดขึ้นในหมู่ชนที่มีการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
2. ในปัจจุบัน กระแสแห่งวัตถุนิยมครอบงำจิตนิยม จะเห็นได้จากการแสวงความสุข โดยอาศัยวัตถุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน คนที่เข้าวัดเพื่อหาความสุขทางใจ อันเกิดจากความสงบด้วยการปฏิบัติธรรมลดลง
ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการนี้ ความขัดแย้งอันเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น ทั้งในระดับปัจเจกกับปัจเจกไปจนถึงระดับประเทศกับประเทศ ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม(Atheism) มีคำสอนให้เลือกนำไปใช้เป็นเครื่องในการแสวงหาความสุข อันเกิดจากวัตถุหรือที่เรียกว่า อามิสสุข และความสุขที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุ หรือที่เรียกว่า นิรามิสสุข
แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนไทยอยู่ไม่น้อยที่เป็นพุทธเพียงชื่อ มิได้ศึกษาค้นคว้าและนำไปปฏิบัติ จะเห็นใครมีพฤติกรรมที่แสดงออกต่อสังคมโดยรวมเช่น การทุจริต คอร์รัปชัน และการก่ออาชญากรรม ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในทุกชนชั้นของสังคม และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุอันเดียวคือ มีความคิดเห็นผิด จึงพูดผิด และทำผิด