xs
xsm
sm
md
lg

เรื่อง ‘ถังแตก’ แทบทำให้ ‘สติแตก’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"โสภณ องค์การณ์"

ปัญหาเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับรัฐบาล 3 ลุง ซึ่งยังขาดมาตรการ ฟื้นฟูอย่างเป็นระบบเพื่อยังคงเสถียรภาพ ทุกวันนี้เพียงแค่ใช้นโยบายประชานิยมต่างๆเพื่อกลบเสียงโอดครวญของประชาชน

และรัฐบาลยังคงมีความรู้สึกฉับไวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจซึ่งจะมีเสียงตอบโต้หรืออธิบายทันควันด้วยการยกตัวเลขต่างๆ มาอ้างว่าทุกอย่างยังเป็นไปด้วยดีแม้จะค้านกับสายตาคนทั้งประเทศก็ตาม

วันก่อนมีเสียงคนพูดว่า “ รัฐบาลถังแตก” ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นั่นก็ยังทำให้คนของรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีเศรษฐกิจออกมาชี้แจงเป็นวรรคเป็นเวรว่าเศรษฐกิจยังไปได้อยู่

เหตุของคำว่า “ถังแตก” เป็นเพราะจู่ๆ ก็มีเสียงร่ำลือว่ารัฐบาลจะขึ้นภาษีแวตเป็น 10%เต็มที่ ในขณะที่ชาวบ้านอยู่ในช่วงตีนถีบปากกัดดิ้นรนเอาชีวิตรอดจากสภาวะเศรษฐกิจตายซากมานาน 3-4 ปี

ดังนั้นจึงมีเสียงรัฐมนตรีเศรษฐกิจปฏิเสธอย่างแข็งแรงว่ารัฐบาลจะยังคงอัตราภาษีแวตอยู่ที่ 7% ไปอย่างน้อยอีกสองปี ฉะนั้นขอให้ชาวบ้านวางใจได้ว่าจะไม่มีปัจจัยใหม่ด้านภาษีไปกระทบกระเป๋า

ภาษีแวตเป็นภาษีซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนที่อยู่ในประเทศซึ่งมีความแตกต่างด้านรายได้และความยากจนมีอัตราสูงเพราะไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ต้องเสียภาษีแวตในอัตราเท่ากัน

ประเทศไทยมีคนเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร คาดกันว่าคนเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลมีประมาณ 5% ของประชากรและคนเหล่านี้เองซึ่งจ่ายเงินรับภาระต่างๆ ในประเทศ

เรื่องของการขึ้นภาษีแวตเกิดขึ้นหลายครั้งมักจะตามมาหลังจากคำพูดว่า “ถังแตก” ซึ่งเป็นสภาวะที่รัฐบาลยอมรับไม่ได้ เพราะจะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารการเงินการคลัง

ยิ่งมีคำครหาว่ารัฐบาล 3 ลุง ใช้เงินบริหารประเทศไปมากกว่า 20 ล้านล้านบาท ในช่วง 7 ปี ผลตอบรับด้อยค่า ไม่คุ้มกับเงินที่ใช้ไป ก็ยิ่งทำให้เกิดสภาวะ “ ละเอียดอ่อน” ด้านความรู้สึก เหมือนสภาพของ “วัวสันหลังหวะ” นั่นเอง

คำพูดเรื่อง “ถังแตก” เป็นเพราะตัวเลขเงินกู้ที่รัฐบาลจำเป็นต้องจัดหามาทุกปีงบประมาณเป็นเงิน 4-5 แสนล้านบาทต่อปีและยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถทำให้งบประมาณสมดุลย์ได้เมื่อไหร่เพราะจากนี้ไปก็ยังต้องกู้ทุกปีโดยอ้างการระบาดของ โควิด-19

ยิ่งเมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่ารัฐบาลนี้ไม่เคยยอมรับความผิดพลาดในการบริหารประเทศจึงย่อมทำให้จะต้องรีบแก้ตัวเป็นพัลวันเพราะถ้าหากปล่อยให้คำพูดเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีเรื่อยไปก็จะกระเทือนเสถียรภาพของรัฐบาล

ยิ่งช่วงนี้มีสารพัดม็อบจ้องจะเล่นงานรัฐบาล “ตู่แดง” ประกาศจะระดมคนวันที่ 4 เพื่อไล่ “ตู่เขียว” ซึ่งก็จะทำให้รัฐบาลดูไม่ดีแม้จะยังไม่รู้ว่าจะมีใครเข้าร่วมมากแค่ไหน

แต่เมื่อ “ตู่แดง” เน้นเรื่องความล้มเหลวในการบริหารประเทศ ไม่เกี่ยวโยงกับสถาบัน เหมือนม็อบ 3 นิ้วก็จะทำให้สถานการณ์หวาดเสียว ถ้าการระดมสามารถเรียกแขกได้มากและเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ขับไล่ใหญ่เพื่อรับช่วงกับการรำลึกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

จากสภาวะที่คนจนแทบล้นแผ่นดินคนว่างงานเป็นล้านๆ คน และยังไม่มีท่าทีว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างไร ดังนั้นไม่ว่าเรื่อง “ ถังแตก” จริงหรือไม่จึงเป็นประเด็นน่ากังวลเพราะต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีเสมอ

ดังนั้นการออกมาอธิบายอ้างว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวสูงถึง 4% จึงถูกติงว่าไม่น่าเป็นไปได้เพราะยังไม่มีปัจจัยสำคัญหนุนให้เป็นเช่นนั้น

มีการประเมินว่าอย่างดีก็เพียง 2.5 ถึง 3.5% เท่านั้น ดังนั้นการหวังจะให้ถึง 4% จึงเป็นการเล็งผลเลิศเกินไปซึ่งก็เป็นอย่างนี้ทุกปีด้วยการตั้งตัวเลขสูงไว้ก่อนแล้วมาปรับลดภายหลัง

ตัวแทนรัฐบาลยังอ้างว่าช่วงนี้กำลังอยู่ในสภาวะฟื้นตัวและการส่งออกปีนี้เริ่มส่อแววชัดเจนว่าจะขยายตัวอย่างน้อย 5% และยังอ้างอีกว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้นหลังจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป

นี่ก็เป็นการเล็งผลเลิศเพราะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยมากจนสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเมื่อสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ยังเป็นไปอย่างน่ากังวลทั้งโลกโดยเฉพาะในยุโรปยังมีการล็อกดาวน์ทั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนี

และยังไม่มีใครประกาศว่าพร้อมจะรับผิดชอบถ้าการเปิดประเทศจะนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย การฉีดวัคซีนป้องกันอย่างเป็นไปในอัตราต่ำและล่าช้าแม้จะมีจำนวนวัคซีนเข้ามามากแล้วก็ตาม

เศรษฐกิจอาจจะขยายตัวจากการลงทุนในโครงการต่างๆ ภาครัฐและโครงการขนาดใหญ่ของเอกชนแต่ระดับประชาชนทั่วไปความลำบากจะคงอยู่อีกนานเพราะขาด กำลังซื้อเนื่องจากประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของจีดีพีซึ่งหายากในประชาคมโลก

และหนี้สินของประเทศก็เกินกว่า 50% ของจีดีพีซึ่งรัฐบาลอ้างเสมอว่ายังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้และยังกู้ยืมได้ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังไม่มีหนทางที่จะอยู่รอดได้โดยไม่มีการกู้

เศรษฐกิจภาคชนบท รากหญ้าป่าคอนกรีตตายซาก ยอดขายสินค้าทั่วไปตกต่ำเพราะคนขาดอำนาจการซื้อและคนมีเงินก็ไม่พร้อมที่จะจ่ายเงินเพราะยังไม่รู้อนาคตของประเทศว่าจะเป็นไปทิศทางใด

ดังนั้นคำว่า “รัฐบาลถังแตก” จึงทำให้เกิดสภาวะเสียวสันหลังเพราะยิ่งใช้จ่ายโครงการประชานิยมจากการกู้เงินมากเท่าไหร่ก็ยิ่งจะทำให้เกิดภาระในการใช้หนี้คืนสำหรับประชาชนในระยะยาวมากขึ้นเท่านั้น

รัฐบาล 3 ลุงจึงอยู่ในสภาวะที่ “ลงไม่ได้” และจะต้องอยู่ต่อไปให้นานที่สุดเพื่อซื้อเวลาและยื้อในการทอดยาวอำนาจ ดังนั้นข่าวการตั้งพรรคสำรองเพื่อขออยู่ยาวจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ

ม็อบจะไล่อย่างไรคงจะไม่มีผลเว้นเสียแต่ว่าวิกฤติเศรษฐกิจแท้จริงจะเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤติศรัทธารุนแรงจนทำให้รัฐบาล 3 ลุงดิ้นรนอยู่ต่อไปไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น