xs
xsm
sm
md
lg

จับตาสรรหา กสทช. ทำไมไม่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พันธุ์ศักดิ์ ซาบุ



พันธุ์ศักดิ์ ซาบุ
ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบโครงการด้านดิจิทัล และการพัฒนาสู่สังคมดิจิทัลวิถีใหม่


ด่านแรกของข้อสงสัยในสังคมกับการสรรหา กสทช. ที่ไม่สำเร็จ คือ ทำไม? “ไม่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม” เหตุใดจึงปฏิบัติแตกต่างจากจารีตประเพณีหรือวิถีการสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระอื่นของรัฐ

สุดท้ายก็เลือกคนขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่วุฒิสภาแล้วก็เลือกไม่ได้ รอบนี้จะวนเวียนเช่นเดิมหรือไม่? คณะกรรมการสรรหาจะไม่รู้เชียวหรือว่า คนที่ตนเลือกขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ทั้งที่เจ้าหน้าที่ก็นำเสนอข้อมูลครบถ้วน หรือเจ้าหน้าที่ไม่นำเสนอข้อมูล? ถ้าไม่ใช่คณะกรรมการสรรหาก็คงเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขาฯ บกพร่องแน่นอน

แต่ข่าวลืออันเชื่อถือไม่ได้หาเป็นเช่นนั้นไม่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขาฯ จัดทำรายงานและแนบหลักฐานครบถ้วนระบุชัดเจนว่าคนไหนขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายมาตราใด แต่ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ เขาลือกันว่ากรรมการสรรหาบางท่าน ก็ยังคงเลือกคนที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

คงด้วยเหตุผลบางประการที่ชั่งน้ำหนักแล้วว่าความพึงพอใจที่ตนได้รับสูงกว่าความริบผิดชอบที่ไม่สนว่าผลลัพธ์จะจบอย่างไร ซึ่งเหตุผลทั้ง ประชาชน และสื่อมวลชนที่ติดตามข่าวสารเฝ้ารอคอยก็ได้ทราบคำตอบอย่างที่คิด เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 คณะกรรมการสรรหาฯ ได้มีคำชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยนายวิษณุ วรัญญู เลขานุการคณะกรรมการสรรหา ใจความว่า

เหตุที่คณะกรรมการสรรหาให้ผู้สมัครทุกคนเข้าแสดงวิสัยทัศน์ โดยไม่ตัดผู้ผ่านคุณสมบัติก่อนนั้น เพราะกฎหมายไม่ได้บอกไว้ว่ามีขั้นตอนอย่างไร (ข้อสังเกตว่า หาช่องไม่ทำตามประเพณีหรือวิถีปฏิบัติเหมือนการสรรหาแบบองค์อิสระอื่นที่เขาปฏิบัติกัน)

“คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่กลั่นกรองเบื้องต้น แล้วเสนอชื่อให้วุฒิสภาเลือกคนที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม” เพราะฉะนั้นราวกับเป็นว่าหน้าที่วุฒิสภาที่ต้องเลือกคนมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าใครขาดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ก็ต้องตรวจสอบใหม่ซ้ำซ้อนอีกครั้ง ถ้ากรรมการสรรหาไม่คัดกรองมาก่อน (ข้อสังเกตคือ กรรมการสรรหาไม่ดูเจตนารมณ์กฎหมาย จะมีกฎหมายไหนที่มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาก่อนแล้วส่งวุฒิสภาเลือก แต่วุฒิสภาค่อยพิจารณาคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามภายหลัง)

แน่นอนว่าคำชี้แจงของคณะกรรมการสรรหาฟังเป็นการเลี่ยงบาลีหาช่องว่าง มากกว่าค้นหาเจตนารมณ์ เพราะมานั่งพิจารณาตัวอักษรอะไรเขียนขาด อะไรเชียนครบ ช่องว่างคือทำอย่างไรคณะกรรมการสรรหาจะเลือก “คนขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม” ให้ได้ ซึ่งถ้าคิดย้อนกลับว่า ถ้าพิจารณาคนผ่านคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามก่อน คณะกรรมการสรรหาจะไม่มีทางเลือกคนขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามได้เลย และจะเป็นบรรทัดฐานไม่ให้คนขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแบบเดียวกับที่ประกาศมาสมัครอีกให้เสียเวลาในอนาคต

กลัวฟ้องร้อง? อย่ามาเป็นกรรมการสรรหาเลยครับถ้ากลัว แล้วจะกลัวทำไมกฎหมายให้อำนาจเยอะแยะ ตั้งแต่เป็นตัวแทนที่คนไทยไม่ได้เลือกตั้งมา นอกจากกฎหมายระบุไม่ให้การฟ้องร้องต้องหยุดสรรหาแล้ว ยังให้อำนาจกรรมการสรรหาวินิจฉัยคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามเป็นที่สิ้นสุด ดังบัญญัติไว้ใน “มาตรา 15/1 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาหรือผู้ได้รับการคัดเลือก ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด

ทีนี้สมมุติว่าเราเป็นคณะกรรมการสรรหาไม่อยากประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามล่ะจะทำอย่างไร? ทั้งที่กฎหมายบอกให้คำวินิจฉัยคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาเป็นที่สิ้นสุด ก็เลือกส่งไปวุฒิสภาก่อน แล้ววุฒิสภาค่อยส่งกลับมาให้กรรมการสรรหาพิจารณาคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายอีกทีเหรอ?

แล้วถ้าคณะกรรมการสรรหาประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามเหมือนองค์กรอิสระอื่นๆ เขาทำ เรียกว่าทำแบบชาวบ้านน่ะ จะเดือดร้อนอะไร? เมื่อกฎหมายให้พวกท่านตัดสินเป็นที่สิ้นสุด เมื่อเลือกคนขาดคุณสมบัติ ผู้เสียหายไปฟ้องศาล ศาลก็บอกให้กรรมการสรรหาตัดสินอยู่ดี เพราะกฎหมายเขียนอย่างนั้น

จึงเป็นไปไม่ได้เลยว่าคราวนี้จะเลี่ยงไม่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม แม้จะบอกว่าให้โอกาสผู้ไม่มีคุณสมบัติ และลักษณะต้องเข้าห้ามชี้แจง ก็จะต้องแยกส่วนให้เข้าชี้แจงให้ชัด เพราะการรวมการชี้แจงกับสัมภาษณ์แล้วเลือกเลย ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมและผู้สมัครจะได้ไม่รู้ว่าเขาขาดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามอย่างไร เพื่อเป็นบรรทัดฐานสังคมให้เกิดความรู้ว่าตีความอย่างไร ใช้กฎหมายอย่างไร รวมถึงกรรมการสรรหาบางท่านอีกด้วย เพราะมีผู้สมัครบางท่านขาดคุณสมบัติเขาลือกันว่ากรรมการสรรหาบางคนยังเลือกเขาเลย เนื่องด้วยดุลพินิจต่างกัน กรรมการสรรหาไม่ได้เป็นนักกฎหมายเหมือนกันตีความต่างกัน เจ้าหน้าที่ส่งข้อมูลให้เฉยๆ จะให้ตรัสรู้ได้ไงว่าใครผ่านคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ควรประชุมแล้วดีเบตกัน แล้วมีมติร่วมกันประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ เจตนาที่ท่านไม่มีมาตรการป้องกันการเลือกคนขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามนี่สิเรื่องใหญ่ ความเสียหายสำเร็จ คนที่ไม่ได้เลือกก็ฟ้องท่านอยู่ดีเพราะถ้าศาลดูเจตนารมณ์กฎหมายขึ้นมา คำเลี่ยงบาลีของท่านอาจไม่เป็นผลก็ได้

อีกทั้งผู้เขียนติดตาม เลขานุการคณะกรรมการสรรหาให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ ของไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 64 เรื่องคุณสมบัติ กสทช. ด้านวิศวกรรมว่า มีสื่อมวลชนติงว่าทำไมไม่กำหนดคุณสมบัติตามกฎหมาย “...ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากสภาวิศวกรตามกฎหมาย เพราะใน พรบ. กสทช. ระบุไว้ว่าเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านวิศวกรรม ไม่ได้บอกว่าต้องเป็นวิศวกรตามกฎหมาย ซึ่งผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านวิศวกรรมอาจจะไม่ได้เป็นวิศวกรก็ได้” ประเด็นนี้ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่เสนอความเห็นว่า ควรเป็นไปตามกฎหมายไม่ใช่มามองหาช่องว่างกฎหมายให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของสังคม

พ.ร.บ.วิศวกรฯ มาตรา 47 บอกว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ “ถ้อยคำ” หรือ “ข้อความ” แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญ “วิศวกรรม” รวมถึงพร้อมทำงานวิศวกรรม หากไม่ได้รับอนุญาตจากสภาวิศวกร มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 1 ปี

แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร? ที่ผู้สมัคร กสทช. ใช้ถ้อยคำว่าตนมีความรู้ความชำนาญและบอกว่าตนพร้อมทำงานวิศวกรรม แต่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากสภาวิศวกร ติดคุกสิครับ คือมีความรู้เฉยๆ ได้ แต่บอกคนอื่นไม่ได้ว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญหรือมีประสบการณ์งานวิศวกรรมไม่ได้ เพราะกฎหมายปิดปากไว้ การจะมีประสบการณ์ได้คือต้องเคยลงมือทำ แล้วลงมือทำโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ผิดกฎหมายสิครับ แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่ ผู้สมัคร กสทช. มีความรู้ และประสบการณ์ด้านวิศวกรรม โดยไม่ทำตามกฎหมาย เอาอะไรมาคิด? แลดูตรรกะเป็นไปไม่ได้เลย

ทั้งที่ควรตีความตามเจตนารมณ์ว่า พรบ. วิศวกรฯ มีไว้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่า คนมีความรู้และพร้อมทำงานด้านวิศวกรรมควรมีคุณสมบัติเช่นใด และผู้ที่เชี่ยวชาญสูงควรจะเป้นเช่นใด เพื่อให้คนทำงานวิวกรรมอันเป็นรากฐานเศรษฐกิจมีความรู้และประสบการณ์เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ จะได้ไม่เกิดปัญหาดังในอดีตจึงมีการตรากฎหมายขึ้นมา แต่คณะกรรมการสรรหาเลือกมองหาช่องว่างกฎหมาย มากกว่าการยึดเจตนารมณ์กฎหมาย ก็แปลกดี อยากให้สังคมเห็นอะไรจากการชี้แจงของท่านกันแน่

เมื่อพูดถึงกลุ่มวิชาชีพแล้ว องค์กรอิสระอื่นทั้ง กกต. และ ปปช. กฎหมายได้วางหลักที่มาของกรรมการองค์กรอิสระว่าต้องมาจากบุคคล 3 ด้านคือ นักบริหาร (รองหัวหน้าหรือหัวหน้าส่วนราชการขึ้นไป) นักวิชาการ (รองศาสตราจารย์หรือศาสตราจารย์) และผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพ (ทนายความหรือวิศวกร) ซึ่งคณะกรรการ กสทช. ก็มาจากบุคคล 3 กลุ่มนี้เช่นกัน โดยที่

กลุ่มผู้บริหาร มาจากมาตรา 14/1 (1) (2) และ (5) เป็นหรือเคยเป็นรองหัวหน้าส่วนราชการขึ้นไป

กลุ่มนักวิชาการ มาจากมาตรา 14/1 (4) เป็นหรือเคยเป็นรองศาสตราจารย์ขึ้นไป

กลุ่มวิชาชีพ 14/1 (6) มีประสบการณ์ด้านกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า มาตรา 14/1 (6) ผู้มีประสบการณ์ด้านกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม อดีตรัฐมนตรีพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ล่าสุด ได้แถลงต่อสภาให้ทราบว่าเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากให้กลุ่มวิชาชีพเข้ามาสมัครได้ในมาตรานี้ “ไม่ว่าจะเป็น คุณครู คุณหมอ พยาบาล สมัครได้ แต่ต้องมีความรู้ประสบการณ์ประกอบด้วย” ดูเหมือนท่านแสดงเจตนารมณ์ในการตรากฎหมายเปิดกว้างมากเกินไป ถ้าคุณครู คุณหมอ พยาบาล มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารก็สมัครได้ว่าอย่างนั้น ดังนั้นมาตรานี้คณะกรรมการสรรหาควรจะกำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป และควรกำหนดเป็นผู้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพชั้นสูงสุดไว้ด้วยไม่ว่าจะเป็น ทนายความ หมอ ครู วิศวกร เภสัชกร หรือพยาบาล ก็ตาม เพื่อยกระดับให้เท่ากลุ่มนักบริหารและนักวิชาการ ไม่ใช่เพียงแค่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพชั้นต้นเท่าเด็กจบใหม่ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพตัวจริง

อย่างไรก็ตาม สังคม ประชาชน และสื่อมวลชน จับตาการสรรหา กสทช. ตลอดเวลา ล้วนปรารถนาให้การสรรหาโปร่งใสตรงไปตรงมา ไม่มีทั้งนายทุนหรือทหารอยู่เบื้องหลัง อยากได้ผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อสารตัวจริง และการตีความกฎหมายของคณะกรรมการสรรหาควรให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมเป็นหลัก เป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น