พรสรรค์ วัฒนางกูร
ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ
ศาสตราจารย์ (Emeritus) ภาษาและวรรณคดีเยอรมัน ภาควิชาภาษาตะวันตก
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ฟรีดริช ฟอน ชิลเลอร์ (Friedrich (von) Schiller (1759-1805) กวีเอกชาวเยอรมันผู้ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็น ”พลเมืองกิตติมศักดิ์แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” (1792) เนื่องจาก ผลงานการประพันธ์จำนวนมากของท่านในช่วงแรกของชีวิตกวี โดยเฉพาะในวรรณกรรมบทละคร ล้วน แล้วแต่สะท้อนจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติตามแนวคิดของการปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นคือ แก่นเรื่องของ ละครสะท้อนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นในสังคมที่ต่อสู้เพื่อ “เสรีภาพ เสมอภาค และ ภราดรภาพ”
เช่นเดียวกับปรัชญาของกวีเจ้าของงานประพันธ์ คือตัวชิลเลอร์เอง
ก่อนที่เราจะได้มาศึกษารายละเอียดเรื่องที่มาและสาเหตุ ตลอดจนผลกระทบของการปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1789 ให้เรามาดูสภาพสังคมในยุโรปในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการปฏิวิติครั้งสำคัญนี้ โดย เฉพาะแนวคิดและสภาพสังคมที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนในผลงานวรรณกรรม เพราะวรรณกรรมย่อมเป็นกระจกเงาจองสังคม ปัญหาสังคมที่แก้ไขยังไม่ได้ กวีและนักเขียนมักจะเขียนถึงแล้วนำเสนอในผลงานวรรณศิลป์หรือในผลงานศิลปะประเภทหนึ่งประเภทใดตามความถนัดของตนเอง
ในดินแดนเยอรมันในคริสตศตวรรษที่ 18 ที่ยังไม่มีการรวมประเทศทางการเมือง มีแต่การรวมตัวกันของชนเผ่าเยอรมันในทางวัฒนธรรม ผ่านทางภาษา วรรณคดีและปรัชญา สะท้อนปัญหาสังคมให้เห็นอย่างมีนัยสำคัญในผลงานวรรณศิลป์และละครที่นำเสนอความเป็นจริงของสังคมซึ่งยัง เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างชนชั้น “ขุนนาง” และ “ชาวบ้าน” รวมทั้งสะท้อนสถานะทางสังคมของสตรีที่ยังตกอยู่ในสถานะของ “ผู้ตาม” ชะตากรรมของสตรีเยอรมันถูกกำหนดโดยปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมของสมัยนั้นให้ต้องประสบกับความหายนะ สังคมเยอรมันในคริสตศตวรรษที่ 18 เป็น ช่วงเวลาในยุคของวรรณกรรมสมัย “อารมณ์และปัจเจก” (Strum und Drang) ซึ่งแม้จะเป็น ยุคสมัยที่ยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานของสตรีแล้วก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดทาง และเพิกเฉยที่จะให้บุรุษทั้งหลายมีเพศสัมพันธ์กับหญิงที่มิใช่ภรรยาของตนได้ตามใจชอบ ซึ่งยิ่งทำให้ สตรีเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นเป็นสองเท่า ในยุคนั้น เราพบกรณีหญิงสาวตั้งครรภ์นอกสมรสแล้ว ฆ่า บุตรของตนเองจำนวนไม่น้อย ภาพสังคมในลักษณะดังกล่าว สะท้อนให้เห็นในงานประพันธ์หลายชิ้น ที่รู้จักกันดีก็คือ กรณีโศกนาฏกรรมของ “เกรทเชิน” (Gretchen) ในเรื่อง “เฟาสท์” (Faust) ของเกอเธ่อที่ยืมเค้าโครงเรื่องมาจากคดีฆาตกรรมของ ซูซันนา มาร์กาเร็ตตา บรันท์ (Susanne Magaretha Brandt) หญิงสาวผู้ถูกศาลตัดสิ้นประหารชีวิตใน วันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1772 เนื่องจากสังหารบุตรแรกคลอดของตนเองนั่นเอง
เราจึงพบว่า เหล่าหญิงสาวในศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นคริสต์ศตวรรษแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ต้อง จบชีวิตอย่างน่าเศร้าเป็นจำนวนไม่น้อย ถูกสังคมประนาม ถูกลงโทษ และถูกตัดสินประหารชีวิตตาม กฏหมาย เนื่องจากสังหารบุตรแรกคลอดของตนเพื่อให้พ้นจากความอับอายถูกสังคมประนาม เพราะ เสรีภาพของชาวบ้านที่เพิ่งจะเริ่มต้นในยุคนั้น ยังไม่ได้พัฒนาไปมากนักสำหรับทั้งฝ่ายชายและหญิง ให้มีเสรีภาพและได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย
วรรณกรรมแห่งคริสตศตวรรษที่ 18 จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของหญิงสาวที่ขัดแย้งกับสังคม และ ต้องจบชีวิตของตนเองในที่สุด “เอมิเลีย กาลอตติ” (Emilia Galotti) ในละครชื่อเดียวกันของเลสซิง Gotthold Ephraim Lessing 1729 - 1781) นักการละครและนักวิจารณ์คนสำคัญของเยอรมันในคริสตศตวรรษที่ 18 ต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือของบิดาตามคำร้องขอของเธอเอง ตัวละครตัวอื่น ๆ ใน บทละครของชิลเลอร์ เช่น “แฟร์ดินานด์ และ ลุยเซอ” (Ferdinand und Luise) ในละครเรื่อง เลห์รักกลลวง” (Kabale und Liebe) เสียชีวิตเนื่องจากถูกวางยาพิษ “ลอยเฟอร์” (Läuffer) ในเรื่อง Hofmeister ทำการตอนตัวเอง ส่วน “คาร์ล มัว” (Karl Moor) พระเอกของเรื่อง “จอมโจร” (Die Räuber) เป็นผู้ปลิดชีวิตคนรักที่เป็นคู่หมั้นของตน วรรณกรรมเยอรมันในคริสตศตวรรษ์ที่ 18 ล้วนเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมของหนุ่มสาวและชาวบ้านที่เป็นตัวเอกของเรื่องที่ต้องถึงแก่ความพินาศ เพียงเพราะไม่สามารถประนีประนอมกับราชสำนักและสังคมในสมัยนั้นได้ จึงดูเหมือนว่า หนทางที่ ”วีรบุรุษ หรือ วีรสตรีชาวบ้าน” เหล่านี้จะรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ จะมีอยู่หนทางเดียว คือ ทำลายตนเองให้พ้นไปจากสภาพสังคมที่เลวร้ายนั้น
อะไร คือความเลวร้ายของสังคมยุโรปในคริสตศตวรรษที่ 18
สังคมยุโรปในศตวรรษที่ 18 ยังตกอยู่ในเงื้อมมือของกษัตริย์และขุนนางผู้ร่ำรวย มีทั้งอิทธิพล และอำนาจเนื่องจากมีกองทัพหนุนหลัง เป็นสมัยที่จอมโจรวายร้ายผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด รวมทั้งใน ดินแดนเยอรมนีที่ยังไม่ได้รวมชาติทางการเมือง แต่ประกอบด้วยรัฐเล็กรัฐน้อยที่มีกษัตริย์และเจ้าผู้ ครองแคว้นเป็นจำนวนไม่น้อยใช้อำนาจข่มเหงชาวบ้านได้ตามใจชอบ
แนวความคิด “ขบถ” ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 มีที่มาสาเหตุจากไหน และทำไม
แนวคิด “ขบถ” ดังกล่าว ไม่ได้เพิ่งเริ่มในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18
อะไรคือที่มาของแนวความคิดที่เป็น “ขบถ” ที่นำไปสู่การปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส ทั้งที่ใน คริสตวรรษก่อนหน้า คือในคริสตศตวรรษที่ 17 ประเทศฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นับเป็นศูนย์กลางของยุโรปทั้งในทางการทหาร โดยเฉพาะในด้านภาษาและวัฒนธรรม คนยุโรปที่มีการศึกษาหรือผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ในยุโรปจะต้องรู้ภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดี ซึ่งนับเป็นภาษาต่างประเทศสมัยใหม่ นอกเหนือจากภาษาเก่าคือภาษากรีกและละติน แม้แต่กษัตริย์เยอรมันอย่างฟรีดริช แห่งพรอยซัน หรือ ปรัสเซีย (Friedrich der Große von Preußen หรือ เฟเดอริคมหาราช) ก็ยังตรัสและทรงพระอักษรเป็นภาษาฝรั่งเศสในชีวิตประจำวัน พระเจ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงได้รับสมญาว่า “จักรพรรดิแห่งสุริยา” (Der Sonnenkönig) ได้ทรงแผ่อิทธิพลของฝรั่งเศสไปไกลถึงเอเซียและประเทศสยามในสมัยสมเด็จพระนารายน์มหาราชโดยอาศัยศาสนาคริสต์โรมันคาธอลิคเป็นกลไกสำคัญ แนวคิดของนักปรัชญาฝรั่งเศสเผยแพร่ไปทั่วยุโรป ในขณะเดียวกัน ยุโรปและเยอรมนีในศตวรรษที่ 18 นับเป็นผลพวงจากแนวคิดของนักปรัชญาทั้งชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสของยุคแห่งแสงสว่าง ทางปัญญา (Aufklärung หรือ Enlightenment) คือ จอห์น ลอค (John Locke 1632-1704) เดวิด ฮูม (David Hume 1711-1776) มองเตสกีเออ (Montesquieu) รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau 1712-1778) และวอลแตร์ (Voltaire 1694-1778) แนวคิดปรัชญาเหล่านี้ เป็นที่มาของอุดมการณ์ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ที่นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ.1789
ความคิดที่เป็น “ขบถ” ในประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของ “ยุโรป” โดยภาพรวม เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางความคิด ความเป็น “ขบถ” นี้เริ่มมาตั้งแต่ยุคกลาง (Middle Age) “ขบถ” ที่ว่า ไม่ใช่ “ขบถ” ต่ออำนาจของศักดินา แต่เป็น “ขบถ” ต่อต้านคริสตจักรโรมันคาทอลิกเพื่อปลดปล่อยตนเองให้หลุดพ้นจากโซ่ตรวนของคำสอนที่เบ็ดเสร็จ ตายตัวและโต้แย้งไม่ได้ของศาสนจักรโรมันคาทอลิกซึ่งเน้นให้มนุษย์มีศรัทธาและความเชื่อในศาสนาและศาสนจักรอย่างไร้ขอบเขต มิฉะนั้นจะไม่ได้รับการช่วยให้รอดและไม่อาจขึ้นสวรรค์ได้ หากมนุษย์ผู้ใดไร้ซึ่งศรัทธาและไร้ความเชื่อ ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนจักร จะต้องถูกขับไล่ออกจากศาสนจักร (excommunication) และลงนรก ซึ่งชาวคริสต์ในยุคก่อนหวาดกลัวกันมาก ดังปรากฏชัดเจนในหลายเหตุการณ์ในประเทศสเปน โปรตุเกส หรือแม้แต่ในประเทศอังกฤษจนกระทั่งถึงสมัยควีนอลิซาเบ็ธที่ 1 ที่สามารถทำให้คนอังกฤษมีอิสระในการนับถือศาสนาคริสต์ผ่านทาง Church of England ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ศาสนจักรยังมองว่า มนุษย์ไร้ความสำคัญเมื่อเทียบกับอานุภาพของพระเจ้าและศาสนจักร ความคิด “ขบถ” ที่ว่านี้ ได้นำไปสู่แนวคิด “มนุษยนิยม” (Humanism) ในยุคเรอเนสซองส์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14–16 ที่เน้นความสำคัญของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลมากขึ้น ปราชญ์ในอิตาลีหันมาศึกษาและฟื้นฟูแนวคิดปรัชญาของกรีกและโรมันที่เน้นความสำคัญของมนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลกและธรรมชาติ ความคิด “ขบถ” เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดการปฏิรูปศาสนาของมาร์ติน ลูเธอร์ในดินแดนเยอรมนีในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ลูเธอร์เสนอแนวคิดใหม่ทางศาสนาที่ค้านคำสอนของศาสนจักรโรมันคาธอลิกที่กรุงโรม จนถึงในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักปราชญาชาวเยอรมัน ฟรีดริช นีชเชอ (Friedrich Nietzsche ค.ศ.1844-1900) ถึงกับประกาศจุดจบของคริสตศตวรรษที่ 19 ว่า “พระเจ้าตายแล้ว” เท่ากับเป็นการปิดฉากแห่งศรัทธาอันไร้ขอบเขตของคริสตศาสนิกชนและสั่นคลอนความเชื่อที่เคยมั่นคงในพระเจ้าของชาวคริสต์ของโลกตะวันตกครั้งสำคัญ
ความคิด “ขบถ” ต่อศาสนจักรของคนยุโรปที่เน้นความสำคัญของตนเอง ได้นำไปสู่การค้นพบทางวิชาการมากมาย ทั้งยังเป็นบ่อเกิดของการที่มนุษย์ต้องการเอาชนะควบคุมและยืนอยู่คนลขั้วกับธรรมชาติโดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในเวลาต่อมา
อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาด้านความคิด ซึ่งก็คือศาสตร์สาขาด้านปรัชญาของฝรั่งตะวันตกได้เบียดให้ความเชื่อและศรัทธาในคริสตศาสนาของผู้คนในสังคมตะวันตกให้ถดถอยลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคกลางจวบจนถึงปัจจุบัน
แนวคิดที่ปลุกระดมชาวยุโรปให้ลุกขึ้นมาต่อสู้และต่อต้านทรราชชั้นปกครองของสังคมศักดินา แบบเก่าที่ทำให้คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นจุดเริ่มต้นของคริสต์ศตวรรษที่ชาวบ้านลุกฮือขึ้นมาล้มอำนาจ กษัตริย์และขุนนางที่ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่ได้ดูแลประชาชน กษัตริย์ยุโรปส่วนใหญ่ไม่มีปฏิสัมพัทธ์กับประชาชน ชาวบ้านเหล่านี้แสวงหาความเสมอภาคและเสรีภาพในการใช้ชีวิตทำให้คริสต์ศตวรรษที่ 18 ของยุโรปกลายเป็นยุคสุดท้ายแห่งอำนาจอันรุ่งเรืองที่ไม่เคยสั่นสะเทือนของชนชั้นปกครองและขุน นางเป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนที่ระบบศักดินาจะเสื่อมลงในหลายประเทศหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงหลังของคริสตศตวรรษที่ 19 และก้าวสู่ความล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบ เบ็ดเสร็จในเวลาต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บทละครเรื่อง “จอมโจร” (Die Räuber) ของฟรีดริช ชิลเลอร์ซึ่งถือกำเนิด ใน ค.ศ. 1782 เป็นเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 จะเป็นผลงานละครเด่นของ ชิลเลอร์ “จอมโจร” เป็นเรื่องราวของคาร์ล มัว (Karl Moor) บุตรชายคนโตของคหบดีตระกูล”มัว” ที่ออกจากครอบครัวไปเป็นโจรปล้นคนรวยเพื่อนำทรัพย์ไปช่วยคนจน เป็นเรื่องราวของชายหนุ่ม นักต่อ สู้เพื่ออุดมคติที่ต่อต้านชนชั้นปกครองและระเบียบของสังคมภายใต้กฏของกษัตริย์และขุนนางผู้ไร้ซึ่ง ความยุติธรรม คาร์ล มัว ผู้ที่ประกาศ ก่นด่า สาปแช่งกฏหมายบ้านเมืองพร้อมกับตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้คนจะต้องตกเป็นเหยื่ออารมณ์ของบุคคลคนเดียวครังแล้วครั้งเล่า คาร์ล มัว ผู้ซึ่งประกาศก้อง แสดงเจตจำนงที่จะให้เยอรมนีเป็นสาธารณรัฐ อันเป็นแนวคิดล้ำยุคก่อนที่เยอรมนีจะเป็นสาธารณรัฐ [2] จริงๆ ถึง 137 ปี แต่ในท้ายที่สุด ชายหนุ่มผู้มีจิตวิญญาณปฏิวัติผู้นี้ก็ต้องยอมจำนนมอบตัวต่อศาล อันเป็น ตัวแทนของระเบียบสังคม ศักดินาที่เขาไม่สามารถต่อต้านได้สำเร็จ
ความจริงในเยอรมนีเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็คือ ตลอดเวลาแห่งศตวรรษนี้ เยอรมนีเต็ม ไปด้วยแก๊งโจรที่มีสมาชิกมากกว่า 1,000 คน และบางส่วนของสมาชิกแก๊งโจรเหล่านี้ยังรวมตัวกัน ได้ต่อไปอีกหลายร้อยปี หัวหน้าโจรที่มีชื่อเสียงในดินแดนเยอรมนีในยุคศตวรรษที่ 18 เช่น ฮีเซิล (Hiesel) เป็นชาวบาเยิน (หรือ บาวาเรีย) เป็นหัวหน้าโจรในดินแดนเยอรมนีตอนใต้ โจรที่มีชื่อเสียง อีกคนก็คือ ชินเลอร์ฮันเนส (Schillershannes) จากดินแดนรัฐแถบแม่น้ำรายน์ทางตะวันตกของ เยอรมนี บรรดาสมาชิกแก๊งโจรเหล่านี้ประกอบไปด้วยชาวนาที่ถูกยึดที่นา คนงานหาเช้ากินค่ำที่ไม่มี งานทำ ทหารที่ถูกปลดประจำการ หรือกลุ่มคนที่ถูกพวกขุนนางข่มเหงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง กลายเป็น ชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์ ทั้งในเขตเมืองและชนบท นอกจากนี้ สมาชิกแก๊งโจรยังมีเหล่าปัญญาชน เช่น ครูพิเศษที่สอนหนังสือ ตามบ้านคนรวยและขุนนาง [3] นักคิดอิสระ รวมทั้งผู้ที่ร่ำเรียนจบปริญญาโท และข้าราชการด้วย
สมาชิกแก็งโจรเหล่านี้กระทำการทั้งในที่ลับและในที่แจ้งเพื่อโค่นอำนาจขุนนางและข้าราชการ ในระบบศักดินา ทำการปล้นสถานที่ราชการ ปล้นคุกเพื่อปลดปล่อยนักโทษ รวมทั้งปล้นทรัพย์คนรวย เพื่อนำไปแจกคนจน เพราะพวกเขาไม่มีทางออกในสังคม ไม่มีใครช่วยเหลือ พวกเขาไม่ใช่โจรที่ปล้น เพื่อฆ่า หรือเพื่อขโมยทรัพย์ ดังนั้น ชาวบ้านผู้ต่ำต้อยและถูกกดขี่จึงเป็น “สหาย” ของสมาชิกแก๊งโจร นี้ด้วย
เช่นเดียวกับ คาร์ล มัว พระเอกของเรื่อง “จอมโจร” ในละครของชิลเลอร์ คาร์ล มัว และ “จอมโจร” กลายเป็นจิตวิญาณแห่งการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคอันเปรียบเสมือนตัวแทนของศตวรรษ ที่ 18 เป็นผลงานวรรณศิลป์ที่ทำให้ชิลเลอร์มีชื่อเสียงดังระเบิดไปทั่วเยอรมนีและได้รับยกย่องจาก ฝรั่งเศสให้เป็น “พลเมืองกิตติมศักดิ์แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” ใน ค.ศ. 1792
ผลงานละครช่วงแรกของชิลเลอร์ เช่น “จอมโจร” (1782) “เลห์รักกลลวง” (1783) จึงเป็น ตัวแทนของวรรณกรรม “ยุคแห่งอารมณ์และปัจเจก” ที่เสนอประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาว บ้านและสังคมศักดินา โดยเฉพาะกษัตริย์และขุนนางผู้ปกครองของยุคนั้น แต่พัฒนาการของการ ปฏิวัติฝรั่งเศสเข้าสู่ยุคแห่ง “ความน่าสะพรึงกลัว” (Reign of Terror) ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของ คริสตศตวรรษ กลับทำให้ชิลเลอร์ได้เรียนรู้ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น แม้จะเป็นผลจากความพยายาม ของมหาชนที่จะปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการกดขี่ของผู้ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน ชิลเลอร์ก็ตระหนักว่า การใช้อำนาจเถื่อนและความโหดเหี้ยมทั้งหลายที่ตามมา หลังการปฏิวัตินั้นมิใช่หนทางสู่การปลดปล่อยตนเองทางสังคมที่ถูกต้องในระดับชาติ
การปฏิวัตินองเลือดที่บานปลายถึงกับปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์และราชินีแห่งฝรั่งเศส การต่อสู้ระหว่างกลุ่มจาโคมีและจิรองแดง คนที่คิดต่างถูกสังหารด้วยกิโยติน รวมทั้งเหตุการณ์สังหาร โรเบสปิแอร์ซึ่งล้วนแต่ส่อให้เห็นถึง ความโหดร้ายไร้ระเบียบและอารมณ์แปรปรวนที่ควบคุมไม่ได้ของ ฝูงชนชาวฝรั่งเศส ทำให้ชิลเลอร์ เกอเธ่อ รวมทั้งกวีและปัญญาชนเยอรมันหลายคนไม่สามารถ สรรเสริญการปฏิวัติฝรั่งเศสได้อีกต่อไป เราได้พบจดหมายส่วนตัวของชิลเลอร์ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1793 ถึงเคอร์เนอร์ (Kröner) สหายสนิทว่า “อ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสไม่ลงถึง 14 วัน เนื่องจาก คลื่นเหียนจากการกระทำเยี่ยงโจรของประชาชนฝรั่งเศส” [4]
ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติในสังคมในความเห็นของชิลเลอร์ก็คือ ความเชื่อมั่นและรู้ แจ้งในศีลธรรมโดยมีวรรณศิลป์และศิลปะเป็นสื่อกลาง อันจะช่วยให้มนุษย์ดีขึ้น มีอิสระและเป็นไทได้ อย่างแท้จริง
ดังนั้น หลังจากที่ชิลเลอร์ได้ทุมเทให้กับการศึกษาประวัติศาสตร์และเขียนงานประพันธ์ด้าน ประวัติศาสตร์รวมทั้งวรรณกรรมกรีกและโรมัน ก็เริ่มหันมาเขียนละครอิงประวัติศาสตร์ ทฤษฎีละคร และทฤษฎีสุนทรียศาสตร์อย่างจริงจังตั้งแต่ ค.ศ. 1787 เป็นต้นมา เราจึงพบว่า ผลงานประพันธ์ ของชิลเลอร์ในช่วงแรกที่เสนอแก่นเรื่องความขัดแย้งทางสังคมภายนอกระหว่าง “ชาวบ้าน” กับ ”ขุน นาง” การต่อสู้เพื่ออิสรภาพและความเป็นธรรม ได้แปรเปลี่ยนไปเป็น “ความขัดแย้งในจิตใจ” โดย เฉพาะระหว่าง ค.ศ. 1791-1793 ชิลเลอร์ได้ศึกษาปรัชญาของอิมมานูเอล คันท์ (Immauel Kant 1724 – 1804) อย่างละเอียด นำไปสู่ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์สำหรับการละครอันเป็นหนึ่งในทฤษฎีละคร คลาสสิกเยอรมันที่มีชื่อเสียง ผลงานเอกชิ้นอื่นที่เกี่ยวข้อง คือ บทรวมจดหมาย “ว่าด้วยการอบรม ด้านสุนทรียศาสตร์ของมนุษย์” (Über die Ästhetische Erziehung des Menschen 1794) เพราะสำหรับชิลเลอร์ “โรงละคร” คือ “สถานที่อบรมศีลธรรม” (eine moralische Anstalt) ของ คนเยอรมันที่ยังอ่อนหัดด้านสำนึกทางการเมือง ชิลเลอร์เองถึงกับเคยกล่าวว่า “ถ้าเรามีโรงละครแห่ง ชาติเมื่อใด เมื่อนั้นเราก็จะเป็นชาติ” [5]
นั่นย่อมหมายความว่า นักประพันธ์เอกฟรีดริช ชิลเลอร์ ผู้เริ่มมีชื่อเสียงระบือไปทั่วดินแดน เยอรมนีจากละครเรื่อง “จอมโจร” มิใช่เป็นเพราะด้วยจิตวิญญาณการปฏิวัติฝรั่งเศสของท่านเท่านั้น แต่ชิลเลอร์ยังเป็นตัวแทนแห่ง “การปฏิวัติอย่างสันติ” ผ่านทางการศึกษาและการอบรมจากวรรณศิลป์ ในโรงละครเพื่อผลทางการเมืองในการรวมชาติเยอรมันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกด้วย
งานประพันธ์สำคัญของชิลเลอร์
ผลงานเด่นของชิลเลอร์ คือ วรรณศิลป์ประเภทบทละคร นอกจากนี้มีกวีนิพนธ์ บัลลาด ทฤษฎี ละครและทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์ งานทั้งหมดสะท้อนปัญหาที่เกี่ยวพันกับกระบวนการเปลี่ยนแปลง ทางความคิดและการเมืองในยุโรปช่วงต่อศตวรรษที่ 18 และ 19 ที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของชาวยุโรปในเวลาต่อมา
สำหรับวรรณศิลป์ประเภทบทละคร ชิลเลอร์ได้รับยกย่องว่า สามารถเชื่อมโยงบุคลิกภาพ ของตัวละครในบทละครของท่านได้อย่างมีศิลปะ โดยเฉพาะบทละครของชิลเลอร์ช่วงหลังที่ประเด็น เรื่อง “ความขัดแย้ง” เริ่ม เปลี่ยนจาก “ความ “ขัดแย้งภายนอกในสังคม” เป็น “ความขัดแย้ง ภายในจิตใจมนุษย์” สำหรับชิลเลอร์ ละคร คือ เครื่องมือขัดเกลาจิตใจมนุษย์ การชมละครคือ “การศึกษา” และ โรงละครเป็น “สถานอบรมศีลธรรม” ของมนุษย์ นั่นคือ ละครสามารถขัดเกลาศีลธรรมของมนุษย์ ยกระดับจิตใจและสร้างรสนิยมอันดีให้ชาวเยอรมันซึ่งส่วนใหญ่ในขณะนั้น ยังมีการศึกษาน้อย ที่สำคัญสำหรับชิลเลอร์ก็คือ ละครจะเป็นเครื่องมือหรือพลังทางวรรณศิลป์ที่จะเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้คนเยอรมันรวมชาติทางการเมือง เพราะ เยอรมนีในศตวรรษที่ 18 ยังไม่ได้รวมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมือง
ดังนั้น บทประพันธ์ประเภทละครในช่วงหลัง ชิลเลอร์วิเคราะห์ประเด็นเรื่อง ความขัดแย้งภาย ในจิตใจของมนุษย์ที่หาทางออกไม่ได้ พร้อมกับเสนอว่า ถ้ามนุษย์มีศีลธรรมเป็นเครื่องนำทาง ก็จะสามารถเข้าใจชีวิตและผ่านพ้นอุปสรรคของพันธนาการทางจิตใจนี้ไปได้และได้รับอิสรภาพอย่างแท้ จริงอันเกิดจากสภาวะ “ปลง” เทียบได้กับการชำระล้างจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ตามแนวโศกนาฏกรรม กรีก (Katharsis) นับได้ว่า โศกนาฏกรรมของตัวละครของชิลเลอร์มิได้เกิดจากข้อบกพร่องที่แก้ไขไม่ได้ (tragic Flaw) ของตน และที่น่าสนใจก็คือ ชิลเลอร์เสนอปัญหาด้านจิตใจไปพร้อม ๆ กับปัญหาทางการเมืองโดยใช้ฉากเรื่องจริงของประวัติศาสตร์ยุโรปต่างสมัย เช่น บทละครเรื่อง “มาเรีย สจัวต” (Maria Stuart) ที่เสนอ เรื่องราวของพระนางมาเรีย สจ็วต แห่งสก็อตแลนด์ กับพระนางอลิซาเบ็ธที่ 1 แห่งอังกฤษ ในตอน ท้ายเรื่อง แม้พระนางมาเรีย (แมรี่) ถูกลงโทษประหารชีวิตโดยพระญาติ คือ อลิซาเบ็ธ ที่ 1 แต่ก็ สามารถ “ปลง” และให้อภัยแก่ผู้สั่งปลิดชีวิตได้ นับเป็นการเอาชนะจิตใจตนเองที่ยิ่งใหญ่ตามทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ของชิลเลอร์
ฟรีดริช ชิลเลอร์ได้รับยศขุนนางเป็น“ฟอน” (von) จากจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 แห่งเวียนนา ใน ค.ศ. 1802
ละครอีกหลายเรื่องของชิลเลอร์ที่ตามมา เช่น “เล่ห์รัก กลลวง” (Kabale und Liebe 1783) ที่ฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels 1820 -1895) ปราชญ์และนักการเมือง สหายของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx 1818-1883) เคยวิจารณ์ไว้ว่า แก่นเรื่องของละครเรื่องนี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างบุคคล แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้น คือ ชนชั้นขุนนาง และ ชาวบ้าน
ส่วนเรื่อง “สาวพรหมจารีแห่งออร์-เล-อองส์” (Die Jungfrau von Orleans 1802) บรรยายเรื่องสงครามต่อสู้กับอังกฤษเพื่อกู้ชาติฝรั่งเศส และเรื่อง “วิลเฮลม์ เทล” (Wilhelm Tell, 1804) เป็นศึก กู้แผ่นดินของชาวบ้านสวิสที่ต่อต้านอำนาจปกครองของอาณาจักรออสเตรีย เล่าถึงกระบวนการปลด ปล่อยตนเองของชาวบ้านที่รวมตัวกันต่อสู้เพื่ออิสรภาพและเอกภาพใหม่ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าตน อันเป็นการต่อสู้ของชนชั้นชาวบ้านต่อต้านอำนาจทรราชผู้ปกครองซึ่งอาจตีความจากมุมมองของลัทธิมาร์กซิสม์ได้ว่า เป็นตัวอย่างของ “วีรกรรมทางประวัติศาสตร์” โดยนัยของลัทธิสังคมนิยมคอมมูนิสต์
ด้วยเหตุนี้เอง ชิลเลอร์จึงได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะกวีเอกของชาติจากประเทศ เยอรมนีตะวันออก หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (DDR) ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (1949 -1990) และยังได้รับการสดุดีจากฟรังซ์ เมริง (Franz Mehring 1864 - 1919) นักประวัติศาสตร์และนักการเมืองผู้ได้รับสมญาว่า เป็น “มาร์กซิสต์เยอรมันที่แท้จริงคนแรก”
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ของเมริงออกจะผิดพลาดอยู่หลายประเด็น เพราะทางออกสำหรับ ปัญหาทางการเมืองตามทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ของชิลเลอร์ ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างชนชั้นเพื่อช่วงชิง อำนาจการเมืองและปฏิวัติโดยใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมตามแนวลัทธิมาร์กซ์ แต่เป็นทางออกในการศึกษาเพื่ออบรมชาวเยอรมันให้มีศีลธรรมโดยผ่านศิลปะการแสดงอันได้แก่ละคร โดยชิลเลอร์มองมนุษย์ในฐานะปัจเจกที่ต้องใช้ความดีชนะใจตนให้ได้ จึงจะมีเสรีภาพอย่างแท้จริง มิได้มองมนุษย์เป็น “กลุ่ม” อย่างในลัทธิมาร์กซ์
ปัจจุบัน เมืองมาร์บัค (Marbach) บ้านเกิดของชิลเลอร์ เป็นเมืองของที่ตั้งห้องสมุดทางวรรณคดี มี พิพิธภัณฑ์ทางวรรณกรรมของยุคสมัยที่สำคัญและวรรณกรรมเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 20 รวมทั้งเป็นที่ตั้งของ “สมาคมชิลเลอร์” (Schillergesellschaft) อีกด้วย
ส่วนบทประพันธ์ร้อยกรอง An die Freude ซึ่งต่อมา ลุดวิก วาน เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven 1770-1827) นำไปใส่ทำนองในค.ศ. 1793 ปรากฏในบทร้องหมู่ท่อนสุดท้ายของซิมโฟนีหมายเลข 9 ในอีก 30 ปีต่อมา ปัจจุบันเป็นเพลงชาติของสหภาพยุโรป (European Union)
ท้ายเรื่อง
จากการศึกษาและพิเคราะห์เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่า การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างนองเลือดเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองเดิม ได้แก่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 และการปฏิวัติบอลเชวิคในรัสเซีย ค.ศ. 1917 ล้วนมีสาเหตุเดียวกัน คือ ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนข้นแค้นแสนสาหัสและไม่ได้รับการช่วยเหลือเอาใจใส่จากกษัตริย์และชนชั้นปกครอง สำหรับกรณีประเทศฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 คนราชสำนักใช้ชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้อ ถึงกับมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนางมารี อังตัวแนตรพระชายาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ว่า เมื่อมีคนมาทูลว่า มีประชาชนหิวโหยไม่มีขนมปัง พระนางตรัสตอบว่า “ก็ให้พวกเขากินขนมเค็กสิ” ความยากจนแสนสาหัสของคนฝรั่งเศสในยุคนั้นต้องเผชิญยังดำเนินต่อไปอีกถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เหตุการณ์ทางการเมืองพลิกผันจากหลายปัจจัย คนฝรั่งเศสรวมถึงกลุ่มแกนนำนักศึกษาจึงต้องยื้อยุดต่อสู่เพื่อนำระบอบสาธารณรัฐที่เคยได้มาหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1789 กลับมาอีกครั้งตลอดมาตั้งแต่หลังการประชุม ที่เวียนนา ค.ศ. 1815 ที่กลุ่มกษัตริย์และขุนนางยุโรปยึดอำนาจกลับคืนมาได้อีกครั้งหลังรบชนะนโปเลียน โบนาปาร์ต การต่อต้านกษัตริย์ที่รุนแรงที่สุดในหลายเมืองใหญ่ของยุโรป ทั้งที่ปารีส แบร์ลีนในค.ศ. 1848 สะท้อนให้เห็นในนวนิยายและภาพยนตร์เรื่อง Le Miserabel ของวิคเตอร์ อูโก ที่ชาวเมืองพยายามขับไล่ระบอบกษัตริย์ที่กลับมาใหม่ด้วยอิทธิพลและผลกระทบทางการเมืองหลังจากนโปเลียน โบนาปาร์ตตั้งตนเป็นจักรพรรดิใน ค.ศ. 1806 ภายหลังเหตุการณ์นองเลือดสังหารกันด้วยกิโยดิน ที่เรียกว่า “ยุคแห่งความสะพึงกลัว” กินเวลาหลายปี เมื่อกลุ่มก่อการปฏิวัติฝรั่งเศสหักหลังฆ่ากำจัดกันเองอย่างทารุณมากน้อยแล้วแต่ ซึ่งความขัดแย้งของกลุ่มปฏิวัติมักพบภายหลังทุกการปฏิวัติในหลายประเทศอยู่เสมอ รวมทั้งหลังการปฏิวัติบอลเชวิกหรือแม้แต่หลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ในประเทศสยาม การใช้กำลังฆ่าทำลายชีวิตและทรัพย์สินอย่างนองเลือดจะรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับแรงกดดันที่เกิดจากความยากจนตลอดจนลักษณะนิสัยของคนชาตินั้นๆ ด้วย
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ทุกการปฏิวัติ จะมีเหตุผลทางหลักการการเมืองหรือมีหลักปรัชญาหนุนหลังเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิวัติ เช่นหลักปรัชญาของนักคิดยุโรปหลายคนดังกล่าวแล้วสำหรับการปฏิวัติฝรั่งเศส และลัทธิมาร์กซิสสังคมนิยมคอมมิวนิสม์สำหรับการปฏิวัติบอลเชวิก ข้อนี้เป็นลักษณะของคนตะวันตก ความพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในประเทศใดๆ โดยใช้กำลังรุนแรงที่ไร้ข้อแม้ทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและทางการเมือง เพียงเพื่อเอาอย่างฝรั่ง จึงเป็นความเข้าใจผิด เพ้อฝัน และไร้ความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง
อ้างอิง :
[1] ขยายความใน พรสรรค์ วัฒนางกูร. คลาสสิกยุโรปและคลาสสิกในวรรณกรรมไทย,ใน วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2543, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 112 – 114. และใน Akten des XI. Internationalen Germanistenkongresses Paris 2005, Band 11, 111-117. (In German)
Also: Special lecture at ‘Thai-Tag’, Asien-Afrika-Institute, University Hamburg, 8 May 2010.
In: (MP 3) http://www.aai.uni-hamburg.de/soa/Forschen2.html
[2] คือ สาธารณรัฐไวมาร์ 1919 -1933 อันเป็นช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และก่อนที่ฮิตเลอร์จะก้าวขึ้น สู่อำนาจเต็มด้วยคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง และสถาปนาเยอรมนีเป็น “อาณาจักรที่สาม” (Drittes Reich) หลังปี ค.ศ. 1933
[3] ก่อนที่เยอรมนีจะมีโรงเรียน คนรวยและขุนนางนิยมจ้างครูพิเศษมาสอนบุตรหลานที่บ้าน มหากวีเกอเธ่อเองก็เป็น อีกผู้หนึ่งซึ่งเรียนหนังสือจากครูเหล่านี้ในช่วงแรกก่อนที่จะไปโรงเรียนในภายหลัง
[4] ดูรายละเอียดใน พรสรรค์ วัฒนางกูร (2543). สองยุคแห่งวัฒนธรรมไวมาร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 56-60.
[5] T.U. Reed (1986), The Classical Centre. Goethe and Weimar. บทที่ 2 Theatre and Nation. Oxford: Oxford University Press, หน้า 21.