นิด้าโพลสำรวจมาแล้วหลายครั้งว่าใครควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีทุกครั้งอันดับ 1 คือ ยังไม่มีตัวบุคคล อันดับ 2 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอันดับ 3 คือ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผลสำรวจทุกครั้งไม่มีเปลี่ยนแปลงไปจากนี้
ล่าสุดโพลบอกว่าอันดับ 1 ร้อยละ 30.10 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้อันดับ 2 ร้อยละ28.79 ระบุว่าเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นคนตรงไปตรงมาตัดสินใจได้เด็ดขาดมีความซื่อสัตย์มีโครงการต่างๆ ที่ช่วยเหลือประชาชนทุกเพศทุกวัยได้อย่างทั่วถึง ชื่นชอบในการบริหารงานได้ดีเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปและชื่นชอบเป็นการส่วนตัว
อันดับ 3 ร้อยละ 12.09 ระบุว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะอยากให้ผู้หญิงขึ้นมาบริหารประเทศบ้างมีประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาได้ดี เป็นคนตรงไปตรงมามีความเป็นผู้นำและชื่นชอบเป็นการส่วนตัว
นั่นแสดงว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังรอคอยคนที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมไปกว่าสองคนนี้ แต่คนนั้นจะเป็นใครก็ยากจะหาคำตอบได้ แล้วถ้ามีคนที่โดดเด่นเปิดตัวมาให้คนที่ยังไม่รู้จะเลือกใครก็ไม่ใช่ว่า คนที่ยังไม่เลือกใครร้อยละ 30.10 จะพอใจเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมด
แม้จะมีเสียงตอบรับที่สูง แต่ต้องยอมรับว่าพล.อ.ประยุทธ์ก็คือ วิกฤตการเมืองในตอนนี้ที่มีเสียงเรียกร้องจากม็อบให้ลาออกไป เพราะมองว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาจากการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบจากการโหวตของ 250 ส.ว.แต่ก่อนจะลาออกต้องเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นธรรมเสียก่อนจะไปเลือกตั้งกันใหม่
แต่ความผิดพลาดของม็อบก็คือ แทนที่จะขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งจะมีแนวร่วมจำนวนมาก กลับไปเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย เพราะยังมีคนไทยจำนวนมากยึดมั่นกับสถาบันพระมหากษัตริย์
และแม้จะเรียกร้องให้ปฏิรูป แต่น้ำเสียงการแสดงออกของม็อบก็ชัดเจนว่า มีน้ำเสียงที่ชิงชังดูถูกเหยียดหยามสถาบันพระมหากษัตริย์และแสดงออกมาว่า ต้องการจะล้มล้างมากกว่าการปฏิรูป
การต่อสู้ที่อ้างว่าเรียกร้องประชาธิปไตยจึงเปลี่ยนไปเป็นการต่อสู้ที่เป็นปรปักษ์ต่ออำนาจรัฐ ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ต่อการเปลี่ยนแปลงราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ องคาพยพของรัฐทุกส่วนจึงรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกัน
แน่นอนความคิดของเด็กเหล่านี้ถูกดันหลังจากผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งคนที่เคยสนับสนุนระบอบทักษิณ อดีตคนเดือนตุลาที่ผิดหวังจากการต่อสู้ อดีตนักวิชาการและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ชิงชังระบอบกษัตริย์ แต่คนเหล่านี้ไม่กล้าออกมานำมวลชน โดยผลักดันให้เด็กและคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งออกมาเป็นแนวหน้าเป็นแกนนำม็อบ และผลที่ตามมาก็คือ แกนนำม็อบเหล่านั้นต่างก็ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จำนวนมาก เพราะมีการกล่าวหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เมื่อแกนนำจำนวนหนึ่งเข้าคุกถูกดำเนินคดีพวกผู้ใหญ่ที่ดันหลังก็ออกมาโจมตีมาตรา 112 ว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือกับพวกที่เห็นต่างทางการเมือง ทั้งที่จริงๆ แล้ว มาตรา 112 ไม่ได้ไปเล่นงานคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือคนที่เห็นต่างทางการเมืองกับรัฐบาลอย่างพร่ำเพรื่อ แต่เล่นงานกับคนที่เข้าข่ายตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว ส่วนปริมาณที่มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะมีคนกระทำผิดเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
มีคำถามว่า แทนที่ผู้ใหญ่ที่ออกมาดันหลังเด็กจะหันไปโจมตีมาตรา 112 ทำไมถึงไม่ออกมานำเสียเอง ถ้าเชื่อว่า สิ่งที่ผู้ถูกดำเนินคดีกระทำไม่เข้าข่ายมาตรา 112 หรือรัฐไม่ควรบังคับใช้มาตรา 112 กับคนเหล่านั้น ทำไมผู้ใหญ่ถึงไม่ออกมานำหน้าและพูดแบบเดียวกับที่เด็กถูกดำเนินคดี ไม่ออกมาอ่านแถลงการณ์ 10 ข้อที่รุ้งอ่านเสียเอง หรือไม่ออกมาอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีเสียเอง รวมถึงไม่อ่านที่มายด์ออกมาอ่านที่ราชประสงค์เสียเอง
ที่ผู้ใหญ่ไม่ออกมาอ่านเสียเองก็เพราะรู้ใช่ไหมว่าข้อความเหล่านั้นเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 อย่างแน่นอน
วันก่อนผมฟังธงชัย วินิจจะกูลในคลับเฮาส์ ธงชัยอ้างว่ามาตรา 112 ไม่ควรอยู่ในหมวดความมั่นคง ผมถามว่าในเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์นั้น กระทบต่อความมั่นคงไหม ถ้ากระทบมันก็ควรอยู่ในความมั่นคงใช่ไหม และประเทศไหนในโลกนี้ก็มีกฎหมายปกป้องประมุขของประเทศเช่นเดียวกัน แต่ถ้าจะเถียงกันว่า มาตรานี้มีโทษสูงเกินไป ผมว่านั่นถึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่ถ้าถามถึงความจำเป็นต้องมีกฎหมายนี้ไหม ผมคิดว่าจำเป็นต้องมี
เรื่องการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ที่แม้จะมีข้อเสนอเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ ให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกเพื่อเลือกตั้งกันใหม่ จึงถูกกลบไปด้วยการไปก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ทั้งที่ข้อเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มีกติกาที่เป็นธรรม เป็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล และมีความชอบธรรมที่จะต่อสู้และต่อต้านอำนาจรัฐ เพื่อทำให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย ถ้าพล.อ.ประยุทธ์จะลงเลือกตั้งก็ให้มาสู้กับพรรคการเมืองอื่นด้วยกติกาเดียวกันไม่ใช่ถืออำนาจของ 250 ส.ว.ไว้ในมือ หากเป็นเช่นนั้นแล้วไม่ว่าฝ่ายไหนชนะอีกฝ่ายก็ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมที่จะออกมาชุมนุมได้ และบ้านเมืองจะได้เดินออกจากความขัดแย้งที่เราจมปลักมาเป็น 10 ปีเสียที
ถ้าประชาชนจะออกมาชุมนุมหลังจากนี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่รัฐบาลใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล ซึ่งสิ่งนั้นเป็นความชอบธรรมพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ์จะลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว
แต่น่าเสียดายที่ม็อบไม่สามารถกลับมาสู่จุดนี้ได้แล้ว เพราะพวกเขาถูกผู้ใหญ่จำนวนมากดันหลังให้ทะลุเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ โดยใช้พวกเขานั่นแหละเป็นเหยื่อทางการเมือง
การกระทำเช่นนี้ยิ่งจะทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีความเข้มแข็งขึ้น เพราะทุกอำนาจย่อมจะต้องปกป้องระบอบของรัฐ รูปแบบของรัฐ และประมุขของประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงเป็นประโยชน์กับฝั่งพล.อ.ประยุทธ์มากกว่าที่จะไปสั่นคลอนพล.อ.ประยุทธ์ได้
เราจึงเห็นพล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะแข็งขืนกับข้อเรียกร้อง เพราะเห็นแล้วว่า ม็อบที่เล่นใหญ่นั้นไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้ ทั้งที่พล.อ.ประยุทธ์เห็นอยู่แล้วว่า การแก้รัฐธรรมนูญเขียนกติกาที่เป็นธรรมแล้วไปเลือกตั้งกันใหม่ จะเป็นทางออกของประเทศก็ตาม
และประเทศไทยก็ไม่มีวันที่ประชาชนทั้งประเทศจะลุกฮือขึ้นมาพร้อมกันจะขับไล่รัฐบาลได้ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ยังมีมวลชนจำนวนมากหนุนหลัง และยิ่งม็อบก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นก็จะเป็นเพียงคนส่วนน้อยของประเทศนี้เท่านั้นไม่ใช่คนส่วนใหญ่ ชัยชนะของม็อบจึงเป็นเรื่องที่เพ้อฝันมากกว่าความจริง และกลายเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่ที่มีจิตใจโหดร้ายเท่านั้นเอง
มีบางคนบอกว่าทำไมไม่คุยกัน ทำไมไม่ฟังเสียงของเด็กเพราะพวกเขาเป็นอนาคตของประเทศ คำตอบก็คือ เด็กเหล่านี้ก็พาตัวเองเดินไปไกลที่จะย้อนกลับมานั่งคุยกับผู้ใหญ่แล้ว และข้อเรียกร้องของเด็กก็มากเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะยอมรับได้
วันเวลาอาจจะหมุนไปข้างหน้าไม่หมุนกลับมาก็จริง แต่ถ้ามุ่งจะทำลายศรัทธาของคนส่วนใหญ่เช่นนี้ ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาก็อาจจะหมุนกลับมาอีกครั้ง
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan