ย่างเข้าเดือนที่ 3 หลังจากการรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์คณะทหารเผด็จการพม่ายังไม่มีวี่แววว่าจะส่งอำนาจคืนให้พลเรือนผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยตามคำประกาศ
ตรงกันข้าม ผู้นำทหารพม่ากลับแสดงท่าทีหวงอำนาจอย่างมาก หลักฐานที่ปรากฏชัดก็คือการที่ยังมุ่งเน้นการสังหารประชาชนผู้เดินขบวนต่อต้านการกุมอำนาจรัฐซึ่งยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 ราย
แม้จะมีเสียงประณามจากทั่วโลกผู้นำเผด็จการทหารพม่าก็ไม่ใส่ใจหรือนำพาเพราะเชื่อมั่นในอำนาจว่ากองทัพซึ่งมีกำลังกว่า 500,000 นายจะสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แม้จะต้องฆ่าคนอีกมากกว่านี้ก็ตาม
และหลักฐานปรากฏชัดเช่นกันว่าเหตุผลแท้จริงของการหวงอำนาจ นั่นก็คือการห่วงทรัพย์สมบัติมหาศาลผ่านการครอบครองโดยกลุ่มสองบริษัทใหญ่ และองค์การทหารผ่านศึกซึ่งควบคุมให้แต่ละบริษัทมีหัวหน้าเป็นนายทหารทั้งสิ้น
ดังนั้นเหตุผลที่แท้จริงของการอ้างเพื่อการรัฐประหารนั้น ไม่ใช่เป็นการโกงเลือกตั้ง เพราะถ้ามีการโกงจริงก็สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ แต่แท้ที่จริงกองทัพพม่านำโดยพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ต้องการควบคุมประเทศและขุมทรัพย์จากกิจการธุรกิจมูลค่ามหาศาลต่างหาก
การสำรวจและศึกษาโดยองค์การสหประชาชาติในปี 2019 แสดงให้เห็นว่ากองทัพพม่าโดยเฉพาะพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ได้เป็นทั้งผู้ควบคุมการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศอย่างเด็ดขาด โดยที่ประชาชนชาวพม่าได้แต่มองตาปริบๆ
ถ้าจะว่าไปแล้วหัวหน้าคณะรัฐประหาร หัวหน้ารัฐบาล และเจ้าของธุรกิจก็คือบุคคลเดียวกันและเป็นผู้กุมอำนาจทุกอย่างจะว่าเป็นผู้ควบคุมทิศทาง และชะตากรรมของประเทศก็ว่าได้
นิตยสารฟอร์บส์ ไม่ได้ประเมินความมั่งคั่งของหัวหน้ากองทัพพม่าไว้ว่าเป็นอย่างไร ถ้าหากมีการประเมินอย่างจริงจังอาจจะติดอันดับโลกในฐานะมหาเศรษฐีสุดยอดรายหนึ่งก็เป็นได้
เพราะเพียงแค่การคุมสัมปทานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ก็เป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปีจากมูลค่าการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ
ทั้งสองบริษัทใหญ่ Myanmar Economic Corporation และ Myanmar Economic Holdings Limited มีบริษัทย่อยกว่า 100 รายควบคุมกิจการทุกด้าน ทั้งการผลิตเหล้าเบียร์และเครื่องดื่มสารพัดชนิด บุหรี่ บริษัทนำเที่ยวบันเทิง
พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เป็นประธานทั้งสองบริษัท
รายได้หลักยังมาจากธุรกิจธนาคารหลายแห่ง บริษัทประกันภัย ขนส่ง เมืองแร่ทั้งหยกและทองคำนอกเหนือจากอัญมณีสารพัดที่พม่ามีมหาศาล
อะไรก็ตามที่มีกำไรและมีมูลค่ากองทัพพม่าถือสัมปทานทั้งหมด รวมทั้งบริษัทสื่อสารและโทรศัพท์มือถือของ 2 บริษัทคุมเครือข่ายทั่วประเทศ
ยังมีสถานีโทรทัศน์และเคเบิลทีวีหลายแห่งรวมทั้งบริษัทมีเดีย ซึ่งสามารถคุมกลไกการสื่อสารทั้งหมดโดยที่เอกชนไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่
ความมั่งคั่งของกิจการเหล่านี้สามารถจ่ายเงินปันผลให้คณะนายทหารควบคุมผลประโยชน์ได้ปีละกว่า 50,000 ล้านบาท แบ่งสันปันส่วนกันในกลุ่มนายทหารซึ่งต้องแสดงความจงรักภักดีต่อผู้นำเพื่อแลกกับรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ที่เหนือกว่าประชาชนพม่าโดยทั่วไป
เงินและรายได้จากการบริหารกิจการสามารถทำให้กองทัพมีงบประมาณสำหรับซื้ออาวุธพิเศษนอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี จะเห็นได้ว่ากองทัพพม่ามีอาวุธทันสมัยทั้งเครื่องบินรบสามารถทำให้เกิดความแข็งแกร่งและควบคุมสถานการณ์เหนือชนชาติพันธุ์ต่างๆ ได้
ความมั่งคั่งจากทรัพยากรของประเทศไม่ถึงมือประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งยังอยู่ในสภาวะยากจน รวมทั้งการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการไปได้เพราะกองทัพย่อมมุ่งเน้นความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเหล่าทัพ
เมื่อมีเงินทั้งอำนาจทำให้ผู้นำกองทัพและคณะรัฐประหารลำพอง และเชื่อมั่นว่าต่อให้สังหารประชาชนเป็นหลายพันรายเหมือนในปี 1988 หรือปี 2007 ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น
การคว่ำบาตรโดยสหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตกอื่นๆ ไม่สามารถส่งผลกระทบต่อผู้นำรัฐประหารในเร็ววัน แต่อาจจะส่งผลในระยะยาวต่อผู้นำและสองบริษัทซึ่งกุมธุรกิจทั่วประเทศซึ่งมาตรการเข้มก็คงจะมีเพิ่มขึ้น
มาตรการอื่นเช่นการสอบสวนเพื่อเอาตัวผู้นำทหารไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศและศาลโลก ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะจัดการกับคณะเผด็จการได้ แต่นั่นต้องรอวันสิ้นอำนาจ
และก็ไม่ง่ายนักเมื่อรัสเซียและจีนยังเป็นผู้สนับสนุนที่แข็งแกร่งของผู้นำเผด็จการทหารพม่า ซึ่งตอนนี้ได้ถูกยกระดับเป็นทรราชเต็มขั้นแล้ว