นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการร่างรัฐธรรมนูญ และประเทศใช้มาแล้วหลายฉบับ และแต่ละฉบับมีผลบังคับใช้อยู่ได้ไม่นาน พูดได้ว่าไม่คุ้มค่าแก่สติปัญญา และเงินตราที่ทุ่มเทลงไป ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.อันเป็นขั้นตอนเบื้องต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า “โดยประชาชน เพื่อประชาชน”
หลังการเลือกตั้ง และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยได้ไม่นาน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเมือง และเกิดความวุ่นวาย ไร้เสถียรภาพ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน ส่วนใหญ่หรือพูดได้ว่าทุกรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค จึงทำให้ไม่มีเอกภาพในการขับเคลื่อนการบริหารประเทศให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้ปราศรัยหาเสียงไว้กับประชาชน
2. เกิดการทุจริต คอร์รัปชันในภาครัฐ โดยมีนักการเมือง ข้าราชการประจำ และพ่อค้าร่วมมือกันในลักษณะ 3 ประสานผลาญงบประมาณนับร้อยนับพันล้าน ส่วนใหญ่เกิดจากการจัดทำการขนาดใหญ่ ซึ่งใช้เงินกู้ทั้งในและนอกประเทศ จึงทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นทุกปี จะเห็นได้จากการจัดทำงบประมาณขาดดุลหลายปีติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และส่วนที่ขาดดุลนี้เองคือ ส่วนที่จะต้องกู้หนี้มาเพิ่ม
3. นอกจากการทุจริต คอร์รัปชันแล้ว รัฐบาลในบางยุคไม่มีศักยภาพในด้านบริหาร โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เนื่องจากรายได้ตกต่ำ แต่ราคาสินค้าและบริการซึ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพแพง ไม่สอดคล้องกับรายได้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมากิน มาใช้ จึงทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมคือ การลักเล็กขโมยน้อย จี้ ปล้น ชิงทรัพย์เกิดขึ้นตามมาอย่างดาษดื่น
4. เมื่อประชาชนเดือดร้อน เนื่องจากเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ก็ลุกฮือขึ้นประท้วงก่อความวุ่นวาย ขับไล่รัฐบาลจนกลายเป็นการก่อความไม่สงบให้เกิดขึ้นในประเทศ จึงเป็นเหตุให้กองทัพจำเป็นต้องออกมาทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล และปกครองประเทศในระบอบเผด็จการ ยุติการใช้รัฐธรรมนูญ และใช้ประกาศคณะปฏิวัติแทน ซึ่งสามารถทำให้ความวุ่นวายยุติลง และประเทศเข้าสู่ความสงบได้ ในทำนองเดียวกันกับเอาก้อนหินขนาดใหญ่มาวางทับหญ้าไว้ ทำให้หญ้างอกขึ้นมาไม่ได้ แต่ปัญหาต่างๆ ซึ่งเปรียบได้กับหญ้ายังอยู่เหมือนเดิม พร้อมที่จะเกิดขึ้นใหม่ เมื่อก้อนหินถูกนำออกไป ถ้าไม่มีการขจัดรากเหง้าและเมล็ดของหญ้าซึ่งเปรียบเสมือนต้นเหตุแห่งปัญหาให้หมดไป
ดังนั้น ทุกครั้งที่รัฐบาลในระบอบเผด็จการได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะประสบปัญหาเดิมๆ ซึ่งมีมาก่อนการทำรัฐประหาร และสุดท้ายก็เกิดความวุ่นวายแบบเดิมๆ แล้วก็จบลงด้วยการที่กองทัพจำเป็นต้องเข้ามายึดอำนาจแล้วปกครองในระบอบเผด็จการ แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วจัดการเลือกตั้งวนเวียนอยู่เช่นนี้หลายครั้งหลายหนในระยะ 80 กว่าปี
วันนี้และเวลานี้ ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ และมีพรรคร่วมรัฐบาลอีกหลายพรรค ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา รวมเวลาได้ 1 ปีกว่า และแล้วรัฐบาลประชาธิปไตยสืบต่อจากระบอบเผด็จการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประสบปัญหาในทำนองเดียวกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยต่อจากระบอบเผด็จการทุกรัฐบาล ทั้งนี้จะเห็นได้จากปัญหาต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. เศรษฐกิจตกต่ำ สืบเนื่องมาจากรัฐบาลก่อน ซึ่งก็คือรัฐบาลภายใต้การนำของคนเดียวกัน และซ้ำเติมด้วยโควิด-19 จึงทำให้ย่ำแย่หนักลงไปอีก
2. ปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรม อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจตกต่ำ
3. ความวุ่นวายทางการเมือง อันเกิดจากความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากรายได้ตกต่ำ และซ้ำเติมด้วยปัญหาการเมือง อันเกิดจากความอยากมีอยากเป็นของนักการเมือง เช่น การเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกให้แก้รัฐธรรมนูญ และพ่วงท้ายด้วยการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวงการเมืองไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มิได้เกิดจากประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะรองรับความเป็นประชาธิปไตยได้ จึงต้องร่างใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เกิดจากคนโดยเฉพาะคนการเมืองที่ต้องการอำนาจ และใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้องเป็นหลัก