ผู้นำกองทัพพม่าเหี้ยมโหดได้ถ้วยจากนานาชาติจริงๆ เมื่อยังคงสั่งให้ทหารฆ่าคนฉลองวันสำคัญ ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจของรัฐบาลคณะรัฐประหารรับบททรราชเต็มขั้น
วันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นวันกองทัพพม่าได้แสดงแสนยานุภาพด้านกำลังรบโชว์คนทั้งโลกให้เห็นว่าอยู่ในระดับไหน ซึ่งก็เห็นได้ว่ามีความแข็งแกร่งน่าเกรงขาม ทั้งด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลรบ จากการเลี้ยงดูปรนเปรออย่างดี
ด้วยกองกำลังทหารประจำการ 440,000 นายและมีกองกำลังสำรองอีก 70,000 นายก็ถือว่ามีความโดดเด่นไม่น้อยหน้าใครในกลุ่มประเทศอาเซียน
แต่ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์วันอาทิตย์ที่ผ่านมาคือ ทหารยังมีกิจวัตรประจำวันด้วยการใช้อาวุธและความเลือดเย็นอำมหิตสังหารประชาชนมีผู้คนเสียชีวิตอย่างน้อย 114 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บยังไม่มีตัวเลขปรากฏ
ตามภาพที่เห็นทหารพม่านั่งรถจี๊ปตระเวนไล่ยิงประชาชนทั้งที่ร่วมประท้วงและที่ผ่านไปมาอย่างไม่เลือกหน้าจนประชาชนร่ำร้อง “ทหารไล่ยิงพวกเราเหมือนยิงนกหรือ ยิงแล้วยิงซ้ำอีกไม่สนใจว่าใครจะมองหรือคิดอย่างไร”
มีเสียงประณามจากประชาคมโลกถึงความเหี้ยมโหดของทหารพม่า ซึ่งผู้นำกองทัพและเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่าจะรักษาความมั่นคงและประชาธิปไตยของประเทศ
ทั้งยังประกาศว่าจะจัดการให้มีการเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุดแต่ไม่ยอมบอกว่าจะเป็นเมื่อไหร่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้อ้างว่าจะใช้เวลา 1 ปีในการคืนอำนาจให้กับพลเรือน
แต่จากภาพที่ปรากฏและพฤติกรรมอันเป็นที่รับรู้ก็คือ ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งสังหารประชาชนเพื่อรักษาอำนาจที่ได้มาหลังจากการอ้างว่ามีการโกงเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่มีปรากฏหลักฐานมาแสดงให้ชาวโลกได้เห็น
สิ่งที่ผู้นำทหารได้กระทำก็คือพยายามทุกวิถีทางแม้แต่การสังหารประชาชนโดยไม่เลือกหน้า เพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจและรักษาผลประโยชน์มหาศาลจากกิจการต่างๆ ผ่านสัมปทานธุรกิจซึ่งสร้างรายได้มากมายในแต่ละปี
การสังหารวันอาทิตย์เกิดขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง ผู้เสียชีวิตมีเด็กอายุ 14 ปีและ 5 ปีด้วย สะท้อนให้เห็นความเลือดเย็นของทหารที่ลั่นกระสุนใส่เหยื่อ
จำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากการโดนทหารสังหารมีอย่างน้อย 400 รายทั่วประเทศและนับวันจำนวนก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นแต่ประชาชนก็ไม่ลดละในความพยายามที่จะลุกขึ้นต่อต้านกองทัพพม่า เพราะรู้ดีว่าถ้าพ่ายแพ้แล้วจะต้องอยู่ใต้ท็อปบูตอีกนาน
การสไตรค์หยุดงานเพื่อประท้วงก็ยังคงมีต่อไป แต่กองทัพพม่าดูเหมือนจะไม่แยแสและไม่สนใจไยดีต่อความเป็นไปของบ้านเมืองเพราะต้องการรักษาอำนาจ
วันกองทัพพม่าจึงถูกมองว่าเป็นวันแห่งความอัปยศที่สุดหลังจากการรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีต่างชาติไปร่วม 8 ประเทศมีรัสเซีย จีน อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เวียดนาม ลาว และไทย
มีผู้แทนจากรัสเซียคือรัฐมนตรีช่วยกลาโหมไปนั่งและพบกับพล.อ.มิน อ่อง หล่าย และได้รับคำชมว่า “รัสเซียคือเพื่อนแท้” ซึ่งเป็นความน่าภูมิใจหรือไม่เมื่อเป็นวันของการสังหารหมู่มีคนตายมากที่สุดใน 1 วัน
น่าอับอายและเป็นความอัปยศหรือไม่กับการที่แปดประเทศได้เข้าร่วมรับรองความโหดเหี้ยมของกองทัพพม่า มีเสียงประณามจากประชาคมโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประชาคมยุโรป
เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเนปิดอว์ได้บอกว่า “มันเป็นวันที่น่าสะพรึงกลัว” เมื่อมีคนถูกสังหารมาก กองทัพพม่าใช้อาวุธที่ซื้อมาจากเงินภาษีของประชาชน และควรที่จะใช้ปกป้องประชาชนแต่กลับมาเข่นฆ่าประชาชน
มีเสียงเรียกร้องมากขึ้นในประชาคมโลก เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติซึ่งสังเกตการณ์ดูบอกว่าโอกาสที่หัวหน้าคณะทหารของพม่าจะถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ ในข้อหากระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติมีความเป็นไปได้
ผู้นำกองทัพพม่าย่ามใจมาโดยตลอดว่าจะอยู่รอดได้แม้จะโดนคว่ำบาตรจากนานาประเทศ ทั้งจำเป็นต้องฆ่าคนเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจซึ่งผ่าน 2 บริษัทขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมกิจการ ถ้าเปลี่ยนทุกสาขา
ทั้ง 2 บริษัทเป็นท่อน้ำเลี้ยงขนาดใหญ่จ่ายเงินปันผลให้ผู้นำกองทัพ และเครือข่ายประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ทหารทุกระดับมีความพอใจในผลประโยชน์ ทำให้ทหารพม่าจึงจงรักภักดีหนักแน่น ไม่มีโอกาสได้เห็นการแตกแถว
จากนี้ไปคำถามที่ชาวโลกต้องตอบก็คือ ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ที่ต้องทนรับรู้กับความเหี้ยมโหดในการสังหารประชาชนของผู้นำกองทัพพม่าเพียงเพื่อรักษาอำนาจให้อยู่ได้นานที่สุด ทุกวันนี้ยังไม่มีประเทศใดรับรองรัฐบาลทหาร
ประชาคมโลกจะมีทางออกอย่างไรร่วมกันเพื่อที่จะให้มีการสิ้นสุดในการครองอำนาจของผู้นำกองทัพพม่า และหยุดยั้งการสังหารประชาชน
ประชาคมอาเซียนจะว่าอย่างไร เมื่อพม่าเป็นสมาชิก จะยังเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกหรือไม่ เพราะไม่สามารถจัดการกับวิกฤตที่เห็นการเสียชีวิตของประชาชนที่เป็นเหยื่อกระสุนของความกระหายเลือดของผู้นำทหารพม่า
จะมีสงครามกลางเมืองหรือไม่ ถ้าชนชาติพันธุ์ต่างๆ ฉวยโอกาสแยกตัวเป็นอิสระ และเกิดการสู้รบทั่วประเทศ เดินซ้ำรอยเดิมของยูโกสลาเวีย