ในอดีตที่ผ่านมา เป็นเวลายาวนาน ถ้าพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ผู้ที่สนใจการเมือง และติดตามอย่างใกล้ชิดก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาคใต้เป็นที่มั่นทางการเมืองของ ปชป.ไม่มีพรรคใดเข้าไปแทรกได้ เลือกตั้งทุกครั้งชนะทุกครั้ง ถึงกับนักการเมืองคนพูดออกมา ปชป.ส่งเสาไฟฟ้าลงเลือกตั้ง คนใต้ก็เลือก และที่เป็นเช่นนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยทางการเมืองดังต่อไปนี้
1. ปชป.มีนโยบายและพฤติกรรมองค์กรชัดเจนในการต่อสู้กับการทุจริต คอร์รัปชัน และต่อสู้กับระบอบเผด็จการ
2. นับตั้งแต่ ปชป.ได้ก่อตั้งมา บทบาทที่โดดเด่นของพรรคนี้ก็คือ การต่อสู้กับระบอบเผด็จการ และการเป็นฝ่ายค้านในสภาฯ
แต่ในขณะที่ ปชป.มีความโดดเด่น 2 ประการดังกล่าวข้างต้น ปชป.ก็มีข้อด้อยในด้านบริหาร ทั้งนี้อนุมานจากพฤติกรรมองค์กร และพฤติกรรมของบุคลากรทางการเมืองของพรรคในฐานะเป็นปัจเจกดังต่อไปนี้
1. บุคลากรของพรรค โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแกนนำของพรรคขาดความหลากหลายในด้านวิชาชีพ และประสบการณ์ในด้านการดำเนินชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นนักกฎหมาย และจำกัดอยู่ในวงของนักการเมืองอาชีพ จึงทำให้มีข้อจำกัดในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายในด้านเศรษฐกิจและในด้านสังคม ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าในด้านการเมือง ซึ่ง ปชป.มีความถนัดและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ตลอดมา
2. โดยนัยตามข้อ 1 ดังนั้นเมื่อ ปชป.ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จึงขาดนโยบายในเชิงรุกที่จะสร้างชื่อเสียงให้พรรคในด้านการพัฒนาในฐานะเป็นผู้บุกเบิกในแต่ละด้าน จะมีก็เพียงนโยบายในเชิงรับคือ คอยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นการตั้งรับโดยอาศัยกลไกของข้าราชการประจำเป็นหลัก จึงทำให้รัฐมนตรีจาก ปชป.ถูกครอบงำจากข้าราชการประจำตลอดมา ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ ปชป.จึงไม่มีความขัดแย้งกับข้าราชการประจำ นี่คือข้อดีของ ปชป.แต่ก็ข้อดีที่ว่านี้ก็ทำให้เกิดข้อด้อยคือ ไม่มีนโยบายเชิงรุกใหม่ๆ เกิดขึ้น และข้อนี้เองที่ทำให้ ปชป.พ่ายแพ้ทางการเมืองให้แก่พรรคการเมืองในระบอบทักษิณตั้งแต่ยุคของพรรคไทยรักไทย เป็นต้นมาจนถึงยุคของพรรคเพื่อไทย
วันนี้และเวลานี้ ปชป.ได้เสื่อมถอยไปจากเดิมเป็นอันมาก ทั้งนี้อนุมานจากพฤติกรรมองค์กร และพฤติกรรมของบุคลากรอันเป็นปัจเจกดังต่อไปนี้
1. การที่ ส.ส.จาก ปชป.ส่วนหนึ่งยอมเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากระบอบเผด็จการ จึงเท่ากับ ปชป.ได้ละทิ้งอุดมการณ์เดิมคือ การต่อต้านระบอบเผด็จการ
2. การที่บุคลากรทางการเมืองของพรรคเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต คอร์รัปชัน จนถึงขั้นตกเป็นจำเลยทั้งทางสังคม และทางกฎหมาย จึงทำให้ผู้ที่เคยศรัทธา ปชป.ส่วนหนึ่งเสื่อมศรัทธา และนี่คือที่มาของการพ่ายแพ้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับ ปชป.หลังจากที่พรรคทางการเมืองภายใต้การชี้นำของนักธุรกิจการเมือง เฉกเช่นอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และล่าสุดได้แพ้การเลือกตั้งที่นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวแล้วข้างต้น ผู้เขียนในฐานะคนที่นิยมชมชอบพรรคประชาธิปัตย์ และลงคะแนนให้ ปชป.มาตลอด จึงใคร่ขอเสนอให้ ปชป.ปฏิรูปพรรคโดยการปรับปรุงด้วยการเปลี่ยนในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ควรจะสรรหาบุคลากรทางการเมืองรุ่นใหม่จากหลากหลายสาขาวิชาชีพ และปลูกฝังอุดมการณ์ของพรรคซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิมคือ ต่อต้านระบอบเผด็จการ และต่อต้านทุจริต คอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่เพียงแค่พูด แต่ไม่ทำหรือทำตรงกันข้ามกับที่พูด
2. ในกรณีที่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือได้เข้าร่วมรัฐบาลจะต้องคัดสรรบุคลากรที่เหมาะสมเข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี โดยเน้นความรู้ ความสามารถให้ตรงกับตำแหน่ง และมีคุณธรรมเป็นที่ยอมรับของประชาชน
3. ในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและสังคม จะต้องมีความชัดเจน และปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย
ถ้า ปชป.ปรับปรุงเปลี่ยนตัวเองให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้ เชื่อว่าในการเลือกตั้งทั่วไปในอนาคต คงจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของ ปชป.เป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคมอีกครั้งแน่นอน