บุญคือผลอันเกิดจากการกระทำความดี ส่วนบาปคือผลอันเกิดจากการกระทำชั่ว และผลของการกระทำดี และการทำชั่วนั้นเกิดขึ้นจากเจตนาที่ต่างกัน กล่าวคือ บุญเกิดจากเจตนาดี ส่วนบาปเกิดจากเจตนาที่ไม่ดี หรือถ้าจะพูดตามภาษาธรรมก็จะต้องบอกว่า บุญเป็นผลของการกระทำอันเกิดจากเจตนาฝ่ายกุศล ส่วนบาปเป็นผลของการกระทำอันเกิดจากเจตนาฝ่ายอกุศล
ดังนั้น บุญและบาปจะนำมารวมกันแล้วหักล้างกันไม่ได้ แต่บุญหรือบาปอันเกิดจากกรรมหนักจะให้ผลก่อนบุญและบาปที่เป็นกรรมเบา หรือลหุกรรมได้
ด้วยเหตุนี้ บางครั้งท่านผู้อ่านได้เห็นคนทำชั่วในปัจจุบัน แต่ยังเจริญด้วยลาภ ยศ เงินทอง และในทางกลับกันได้เห็นคนทำแต่ความดีในปัจจุบัน แต่ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน จึงทำให้เข้าใจผิดคิดว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดี ในทางกลับกัน ทำชั่วแล้วยังได้ดีจะเห็นได้จากคำพูดที่พูดกันจนติดปากว่า “ทำดีได้ดีมีไหม ทำชั่วได้ดีมีถมไป”
แต่ที่ยิ่งกว่านี้ก็คือ คนที่ทำความชั่ว แต่เข้าใจว่าทำดี และลุกขึ้นมาเรียกร้องทวงความดี ทวงความยุติธรรมให้แก่ตนเอง โดยนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้ที่ดีกว่าตน และเมื่อได้รับการตอบสนองก็ประกาศก้องว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม เกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้พบเห็นได้ดาษดื่นในสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. คำว่า กรรม ตามนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนาหมายถึงการกระทำที่มีเจตนาหรือความจงใจจะให้เกิดผลตามที่ใจตนเองต้องการ ทั้งในฝ่ายที่เป็นกุศลคือเจตนาดี และฝ่ายที่เป็นอกุศลคือเจตนาไม่ดี เมื่อผลของการกระทำเป็นไปตามเจตนาเรียกว่า กรรม (เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ ภิกฺขเว วทามิ) เราตถาคต เรียกการกระทำที่มีเจตนาว่ากรรม)
2. กรรมในพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทโดยอาศัยเจตนาคือ
2.1 กุศลกรรมคือ กรรมดี อันเกิดจากความคิดหรือมโนกรรมอันสุจริต และงดเว้นจากมโนกรรมอันทุจริต)
กรรมประเภทนี้ให้ผลเป็นบุญคือ ก่อให้เกิดความสุขกายและสุขใจแก่ผู้กระทำ
2.2 อกุศลกรรมคือ กรรมอันเกิดจากความคิดหรือมโนกรรมอันทุจริต
กรรมประเภทนี้ให้ผลเป็นบาปคือ ให้เกิดความทุกข์กายและทุกข์ใจแก่ผู้กระทำ
3. การกระทำที่ผิดกฎหมายจะเป็นการกระทำที่ผิดศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีล 5 ซึ่งเป็นศีลที่คฤหัสถ์ต้องรักษา ถ้าต้องการจะเป็นคนดีของสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมโดยรวมเป็นไปอย่างสงบ เพราะเพียงลำพังกฎหมายไม่มีทางที่จะทำให้ผู้คนในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ถ้าไม่ถูกจับกุมมาลงโทษหรือถูกจับแล้วถ้าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิพากษาลงโทษได้ ก็จะพ้นผิดเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังคงลอยนวลอยู่ต่อไปได้
2. แต่ผู้กระทำผิดศีลในทันทีที่กระทำผิด ด้วยเจตนาถือผิดศีล และถ้าผู้กระทำผิดศีลโอตัปปะคือ เกรงกลัวต่อผลของบาปก็จะไม่ทำอีก หลังจากรู้ว่ากระทำผิด
ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น ศีลธรรมอันเป็นคำสอนของศาสนา ยังคงมีความจำเป็นต่อสังคม
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ไม่มีศีลธรรมจะกระทำผิดได้ทุกโอกาสที่เห็นว่ามีทางหนีรอดการลงโทษทางกฎหมาย และคนกลุ่มนี้เองที่กระทำผิดซ้ำซาก ถ้าทำผิดแล้วกฎหมายลงโทษไม่ได้ จะด้วยเหตุที่ไม่มีหลักฐานมากพอที่จะเอาผิดได้ หรือจะด้วยทางเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ อันเกิดจากเกรงกลัวอิทธิพลหรืออาจด้วยตนได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการก่ออาชญากรรมเต็มบ้าน เต็มเมืองอยู่ในขณะนี้