ประชาชนชาวเมียนมา หรือพม่า ต้องสังเวยชีวิตให้กับการปราบปรามเข่นฆ่าโดยกองทัพพม่าอย่างน้อย 12 รายในวันเสาร์ที่ผ่านมา และคงไม่ใช่รายสุดท้าย ตราบใดที่ผู้นำคณะรัฐประหารยังคงมุ่งมั่นที่จะฆ่าประชาชนเพื่อให้คงอำนาจรัฐบาลไว้
ล่าสุด นักการเมืองที่ยังหลบหนีการจับกุมโดยกองทัพพม่าได้ประกาศให้ประชาชนรวมตัวกันก่อตั้งคณะกรรมการ ชื่อ The Committee for Representing Pyidaungsu Hluttaw (CRPH) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลกู้ชาติ เพื่อต่อต้านคณะรัฐประหาร
คณะกรรมการนี้นำโดย ส.ส.ของพรรคอองซาน ซูจี ชื่อนายมาน วิน ข่าย ถั่น Mahn Win Khaing Than ซึ่งเรียกร้องให้ประชาชนลุกฮือขึ้นสู้ ให้เป็นการปฏิวัติโดยประชาชน โดยผู้นำและคณะกรรมการหลบซ่อนหนีการจับกุมโดยกองทัพพม่า
นายมานยังเรียกร้องหาความร่วมมือจากบรรดาชาติพันธุ์ต่างๆ ให้ลุกขึ้นสู้กับกองทัพพม่าเพื่อหวังจะจัดตั้งรัฐที่ประกอบด้วยตัวแทนชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีอย่างน้อย 135 กลุ่ม และบอกว่านี่เป็นการทดสอบพลังในการต่อต้านรัฐประหาร
“พวกเราต้องลืมความขัดแย้งที่เคยมีอยู่ก่อน และร่วมมือกันจัดการกับรัฐบาลเผด็จการทหารที่กดขี่ประชาชนมานานหลายสิบปี และจัดตั้งรัฐบาลซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเพื่อให้ประเทศอยู่ได้ การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์” นายมานกล่าว
คณะกรรมการนี้หวังว่าจะได้รับการรับรองจากนานาชาติเพื่อต่อสู้เรียกร้องคืนอำนาจประชาธิปไตยให้คณะรัฐบาลที่ถูกสกัดกั้นโดยคณะทหารหลังจากชนะการเลือกตั้ง มีข้ออ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้
คณะรัฐประหารยังมีข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยต่อนางอองซาน ซูจีว่ากระทำผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดง จึงถูกมองว่าเป็นความต้องการอำนาจรัฐ เพราะกองทัพพม่ามีผลประโยชน์มหาศาล จึงต้องทำรัฐประหารเพื่อรักษาอำนาจ
และคณะรัฐประหาร นำโดยนายพลเอกมิน อ่อง หล่าย ยังคงไม่แยแสต่อเสียงประณามโดยประชาคมโลก รวมทั้งพลังการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และเครือข่ายผู้ใกล้ชิดกับผู้นำทหารพม่า เพราะเชื่อมั่นว่ายังอยู่ต่อไปได้
พม่าเคยปิดประเทศอยู่อย่างโดดเดี่ยวภายใต้นโยบายสังคมนิยมแบบพม่านานถึง 50 ปี หรือกว่า 1 ชั่วอายุคน เพราะเริ่มต้นไม่นานหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง และอังกฤษให้เอกราชต่อพม่าในปี 1948 หรือ พ.ศ. 2491
นับตั้งแต่การรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพพม่าและตำรวจได้ร่วมกันสังหารประชาชนไปแล้วประมาณ 80 ราย จับกุมคุมขังกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านมากเกือบ 2 พันราย ทั้งยังมี 4 รายเสียชีวิตในที่คุมขัง จากการสอบสวนและซ้อมร่างกาย
มีรายหนึ่งถูกจับไปขังเพียง 1 คืน วันรุ่งขึ้นทหารพม่าบอกให้ญาติพี่น้องไปรับศพ โดยอ้างเหตุว่าผู้ตายเป็นลม ทั้งๆ ที่หน้าตามีคราบเลือดเกรอะ เนื้อตัวฟกช้ำดำเขียวเพราะถูกการทรมานและซ้อมอย่างหนักจนทนไม่ได้ ถึงแก่ความตาย
การกระทำของทหารพม่าเต็มไปด้วยความอำมหิต โหดเหี้ยม เลือดเย็น ไม่ใส่ใจไยดีต่อคนชาติเดียวกัน เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวว่าพฤติกรรมเหี้ยมโหดเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ มีโอกาสถูกจับตัวส่งขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ
หลังจากประเทศยูโกสลาเวียแตกเป็นรัฐย่อย ผู้นำเซอร์เบียอย่างน้อย 3 นายถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ มีหนึ่งรายทนกับโทษตลอดชีวิตไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจฆ่าตัวตายในคุก เพราะดูแล้วคงไม่มีวันได้ออกมา
แม่ทัพ นายทหารพม่ามีโอกาสเช่นเดียวกันที่จะขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้นความพยายามของหลายฝ่ายที่จะให้กองทัพคายอำนาจให้นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้จะมีอาวุธปืนมาก แต่ก็ยังถือว่าไม่กว้างขวาง
หลักฐานอย่างอื่นที่ปรากฏก็คือรอยกระสุนสังหารที่ทหารตำรวจยิงใส่ผู้ชุมนุมเดินขบวนประท้วงนั้นเป็นการ “ยิงเพื่อสังหาร” ไม่ใช่เป็นการป้องปรามอย่างที่อ้าง
คณะรัฐประหารพม่าจึงอยู่ในสภาพเลือดขึ้นหน้า หลังชนฝา ถอยไม่ได้ ยอมคายอำนาจก็ไม่ได้ เพราะกลัวโทษทัณฑ์รุนแรง คงต้องตั้งป้อมเข่นฆ่าชาวบ้านเพื่อควบคุมสถานการณ์ หยุดยั้งการเดินขบวนประท้วง การต่อต้านให้ได้
มาตรการโหด ทำให้ประชาชนกลัวการถูกเข่นฆ่า จึงเกิดขึ้นตลอด และแม่ทัพพม่ากลัวสูญเสียผลประโยชน์จากธุรกิจ สัมปทานทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล สร้างความมั่งคั่งจนกล้าลืมภารกิจสำคัญ และกล้าฆ่าประชาชนเพื่อกุมอำนาจให้ได้
สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ไม่มีใครมองได้ว่าจะสิ้นสุดอย่างไร คนพม่าจะต้องตายอีกมากเท่าไหร่เพื่อให้พวกคณะทหารพม่าได้คงอำนาจ ประชาชนมีหลัก 3 ประการสำหรับการต่อสู้ นั่นคือการเดินขบวนประท้วง การหยุดงาน การสู้โดยรัฐบาลลี้ภัย
การสู้รบอาจกลายเป็นสงครามกลางเมือง เพราะอย่างน้อยมีกลุ่มชาติพันธุ์ มีกองกำลังติดอาวุธคือกลุ่มไทใหญ่ กลุ่มกะฉิ่น และกลุ่มกะเหรี่ยง ที่ได้เริ่มเปิดฉากสงครามสู้รบกับกองทัพพม่า เพื่อปกป้องประชาชนให้พ้นจากการกดขี่เข่นฆ่า
เมื่อเผชิญแรงต้าน ทหารพม่าเร่งมาตรการโหด เช่นการไล่จับกุมแกนนำและผู้ประท้วงยามค่ำคืนตามบ้านพักที่อาศัย สร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวเพื่อทำลายขวัญและกำลังใจของประชาชนที่ยังต่อต้าน เดินขบวนประท้วงทั่วประเทศ
ล่าสุดมีตำรวจพร้อมครอบครัวกว่า 400 ชีวิต ได้เข้าไปในอินเดียเพื่อขอลี้ภัย ทางการพม่าเรียกร้องให้มีการส่งตัวกลับ แต่ไม่มีผล เพราะทางการอินเดียยังไม่จัดการให้ และยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่จะขอข้ามแดนไปลี้ภัยเพิ่มอีก