ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พรสรรค์ วัฒนางกูร
ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม [1]
ความนำ
การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2476-2477/ค.ศ. 1934 [2] (นับตามปฏิทินจันทรคติของสยาม) ค.ศ. 1934 มีความซับซ้อนหลายนัย มิใช่เพียงด้วยเหตุผลทางพระสุขภาพอันเป็นเหตุผลหลักอย่างเดียว แต่ยังแฝงวัตถุประสงค์อื่นไว้ด้วยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการทรงงานในยุโรปด้านการเมืองการปกครองระหว่างเสด็จประพาสยุโรปของ ณ ประเทศอิตาลี อังกฤษ และเยอรมนี สะท้อนประเด็นคำถามที่ว่า ระบอบการปกครองใดในโลกที่จะเหมาะสมกับประเทศสยามมากที่สุด
ทั้งหมดนี้ อยู่ในบริบทของการเมืองสยามหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิเสธการปกครองระบอบคอมมิวนิสม์ของสยามอย่างชัดเจนโดยการออก “พระราชบัญญัติคอมมิวนิสม์ พ.ศ. 2476” ภายหลังการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจต่อสภาของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 รวมทั้งปรากฏการณ์การเกิดระบอบการปกครองใหม่ในโลกช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั่นคือ ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่เริ่มขึ้นหลังการปฏิวัติบอลเชวิคในรัสเซีย ค.ศ. 1917 (พ.ศ.2460) และระบอบฟาสซิสม์ หรือลัทธิเผด็จการชาตินิยมฟาสซิสม์หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในอิตาลีและเยอรมนี (หรือสาธารณรัฐไวมาร์ ค.ศ.1919-1933 / พ.ศ.2462-2476) นอกเหนือไปจากระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอังกฤษหรืออีกหลายประเทศในยุโรป กับระบอบสาธารณรัฐ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการทรงงานด้านการเมืองการปกครองในยุโรป
เราไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงตระหนักตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ถึงสถานการณ์การเมืองว่า การปกครองสยามในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่อาจดำเนินไปได้แล้วในสถานการณ์ของประเทศสยามและโลกในขณะนั้น ทั้งยังทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่เสมอมา ดังได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.1931 เมื่อทรงรับการผ่าตัดพระเนตรครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยศึกษาวิธีการปกครองหลายแบบว่าแบบไหนจะเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศสยาม มิใช่ลอกเลียนรูปแบบตะวันตกมาทั้งดุ้น ทรงศึกษาไม่ว่าจะเป็นการปกครองในอังกฤษที่มีสภาสองสภา มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารและมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีอำนาจและปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระบุไว้ แม้แต่การปกครองแบบใหม่ของลัทธิฟาสซิสม์หรือ “เผด็จการชาตินิยม” ในอิตาลีโดยมุสโซลินี และในเยอรมนีตั้งแต่กลาง ค.ศ. 1934 หลังจากประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กถึงแก่อนิจกรรม โดยนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตั้งตัวเป็น “ผู้นำ” และ สถาปนาอาณาจักรเยอรมันที่สาม (The Third Reich / Das 3.Reich)
ระหว่าเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป ค.ศ. 1934/พ.ศ. 2476-77 พระมหากษัตริย์แห่งสยามได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมกิจการของฟาสซิสม์มากเท่าที่จะทรงทำได้ ทรงศึกษาทั้งวิธีการจัดตั้งรัฐบาล จัดระบบการปกครอง การแก้กฎหมาย ดูแลปรับเปลี่ยนระเบียบและระบบการบริหารในทุกด้าน ตลอดจนวิธีดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้พอกินพอใช้และมีความสุขทั่วหน้าไม่เหลื่อมล้ำทางฐานะจนเกินไป โดยทุกคนจะต้องมีจิตสำนึกรักชาติ นับเป็นรูปแบบการปกครองอย่างใหม่ในโลกที่ไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งลัทธิเผด็จการชาตินิยมในอิตาลีซึ่งเป็นต้นตอและเป็นต้นแบบของฟาสซิสม์ในเยอรมนีก็ยังแตกต่างจากฟาสซิสม์ในเยอรมนีตั้งแต่แรกด้วย
อิตาลีภายใต้ระบอบฟาสซิสม์ หรือเผด็จการชาตินิยมของมุสโซลินี ยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ของอิตาลีไว้อย่างเหนียวแน่น รัฐบาลฟาสซิสม์จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ คือ พระเจ้าวิคตอริโอ เอมมานูเอลที่ 2 แห่งราชวงศ์ซาวอย และเนื่องจากสถาบันกษัตริย์ของประเทศนี้ยังมิได้ถูกโค่นล้มหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อิตาลีเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลก จึงไม่ต้องประสบชะตากรรมเช่นอาณาจักรเยอรมนีที่ 2 ของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ที่จำเป็นต้องทรงสละราชสมบัติ มีการจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมันภายใต้ชื่อใหม่ว่า “สาธารณรัฐไวมาร์” (ค.ศ. 1918-1933) [3]
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเยอรมนีในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1934/พ.ศ. 2477 นั้น ประธานาธิบดีฮินเดนบวร์ก ประมุขของสาธารณรัฐไวมาร์กำลังเจ็บหนัก และหลังจากพระมหากษัตริย์แห่งสยามเสด็จพระราชดำเนินออกจากเยอรมนีเพื่อต่อไปยังกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียมในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1934 ได้เพียง 1 สัปดาห์ ประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กก็ถึงแก่อสัญกรรม เยอรมนีจึงกลายเป็นฟาสซิสม์เต็มตัวโดยเผด็จการชาตินิยมนาซี ตามชื่อของพรรคการเมืองของฮิตเลอร์ Nationalsozialismus
อันที่จริง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในระบอบการปกครองของเยอรมนีตั้งแต่ก่อนเสด็จประพาสเยอรมนีใน ค.ศ.1934
ใน ค.ศ.1926/พ.ศ.2469 อันเป็นปีแรกในรัชกาลของพระองค์ พระมหากษัตริย์แห่งสยามทรงสนพระทัยในระบบการปกครองแบบรัฐสภาที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของเยอรมนีสมัยจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ได้ทรงเชิญทูตเยอรมันคือดร.อัสมิส (Dr. Asmis) มาเข้าเฝ้าและร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารค่ำในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1926 ตามที่ทูตเยอรมันกราบบังคมทูลขอเข้าเฝ้าเป็นกรณีพิเศษก่อนที่จะจบภารกิจในสยามกลับเยอรมนีสืบเนื่องจากกรณีในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในค่ำวันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระปฏิสันถารกับทูตเยอรมันอยู่นาน ได้มีรับสั่งถามทูตอย่างละเอียดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญของเยอรมันในสมัยจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 และว่า การกำหนดเนื้อหารัฐธรรมนูญเยอรมัน ตำแหน่งหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีของอาณาจักรที่สองแห่งเยอรมนี (Reichkanzler) ตลอดจนขอบข่ายอำนาจแห่งรัฐสภาของเยอรมนีจะเป็นตัวอย่างให้แก่รัฐธรรมนูญของสยามต่อไป ทั้งยังได้กล่าวถึงบริษัทการค้า บี.กริม (B. Grimm & Co.) ว่า เป็นบริษัทเยอรมันที่สามารถเข้าใจว่าคนสยามชอบอะไรไม่ชอบอะไร ทั้งยังปรับความต้องการและการทำงานให้เข้ากับคนสยามได้ดีที่สุด [4]
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในตัวนายกรัฐมนตรีเยอรมันอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และผลงานของฟาสซิสม์ (ลัทธิเผด็จการชาตินิยม) อย่างมาก ในระหว่างการเสด็จประพาสกรุงลอนดอนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1934 ทูตเยอรมันที่ลอนดอน ชื่อ เฮอร์ช (Hoesch) ได้รับเชิญให้ร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารเย็น ณ สถานอัครราชทูตสยาม กรุงลอนดอน ซึ่งอัครราชทูตสยามจัดทูลเกล้าฯ ถวายเฉลิมพระเกียรติยศ มีคณะทูตผู้แทนรัฐบาลต่างๆ กับข้าราชการและชาวอังกฤษประมาณ 60 นาย [5] ทูตเยอรมันรู้สึกแปลกใจมากที่พระมหากษัตริย์แห่งสยามทรงสนพระทัยและทรงรู้เรื่องพัฒนาการของประเทศเยอรมนีเป็นอย่างดี กับทั้งยังมีรับสั่งว่า ได้ทรงอ่านประวัติของนายกรัฐมนตรีฮิตเลอร์จากฉบับแปลภาษาอังกฤษกับงานประพันธ์ของนายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์หัวหน้าพรรคนาซี ผู้นำลัทธิฟาสซิสม์เยอรมันที่ชนะการเลือกตั้งในเยอรมนีและดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีของเยอรมันได้ราว 1 ปีครึ่งตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 แล้ว ทั้งทูตเฮอร์ชยังรู้สึกว่า พระมหากษัตริย์แห่งสยามน่าจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนเยอรมนีด้วยทรงใคร่รู้เรื่องประเทศและกิจการต่างๆ ในเยอรมนีอย่างแท้จริง [6]
การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภเรื่องการจะนำเอารัฐธรรมนูญของ “อาณาจักรเยอรมันที่ 2” ในสมัยจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 มาเป็นแบบของรัฐธรรมนูญสยาม น่าจะเป็นเพราะรูปแบบการปกครองคล้ายกันในแง่ที่ว่า ทั้งสยามและเยอรมนีในช่วงนั้นมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เยอรมนีมีรัฐสภา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเยอรมนียุคจักรพรรดิวิลเฮล์มก็คือ จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ค่อนข้างมีอำนาจเบ็ดเสร็จและไม่ทรงฟังเสียงสภามากนัก พระองค์ทรงปลดเสนาบดีบิสมาร์กออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ.1890 ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ เนื่องจากความเห็นไม่ตรงกันและบิสมาร์ก “แข็ง” เกินไป ส่วนนายกรัฐมนตรีเยอรมันอีกหลายคนหลังจากบิสมาร์กก็ล้วนแต่ไม่กล้าขัดคำสั่งจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่พระองค์ทรงขยายกำลังกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพเรือ สร้างเรือดำน้ำ ‘อูโบ๊ต’ (U-Boat) ที่ใช้รบในสงครามโลกครั้งที่ 1 จนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชา ทั้งยังสร้างกองทัพอากาศเป็นกำลังรบใหม่ของประเทศเยอรมนีด้วย
พระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรีของสยามมิได้มีพระราชปรารภหรือศึกษาเท่านั้น แต่ทรงลงมือทำการทดลองรูปแบบการปกครองด้วยหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ค.ศ.1925/พ.ศ. 2468 ในยุคนั้น แทบจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กำลังมาแรง ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดี หรือประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ตามแต่ นับเป็นความเห็นที่ระบาดไปทั่วโลก “ถ้าจะไม่ใช้แบบ democracy เรา (คือสยาม: ผู้เขียน) ก็กลัวฝรั่งจะติเตียนว่า “Uncivilized” [7]
หลังจากเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ตั้งสภาอภิรัฐมนตรีเพื่อเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน มิใช่พระเจ้าแผ่นดินจะตัดสินพระทัยในกิจการต่างๆ ได้พระองค์เดียวแบบเบ็ดเสร็จอย่างในยุคการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การทดลองนี้ยังมีต่อมาอีกหลายขั้นตอน แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ประสบผลสำเร็จนักในการที่จะให้บรรดาเสนาบดีมาร่วมกันอภิปรายปัญหาและออกความเห็นต่างๆ ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวสยามตั้งแต่ค.ศ. 1926/พ.ศ. 2469 ที่ปรึกษาชาวอเมริกัน ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ จึงได้ทักท้วงไว้ และเป็นผล โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนชาวสยามยังไม่พร้อมด้านการศึกษาและยังไม่เข้าใจการปกครองระบอบใหม่นี้ว่า ประชาธิปไตยคืออะไร ควรชะลอไว้ก่อน และเตรียมด้านการศึกษาของพลเมืองให้พร้อมกว่านี้ [8]
อ้างอิง :
[1] ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. พรสรรค์ วัฒนางกูร (ศาสตราจารย์ ภาษาและวรรณคดีเยอรมัน) ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
[2] การนับปีในบทความนี้ โดยเฉพาะในส่วนของการเสด็จประพาสยุโรปจะใช้คริสต์ศักราช (ค.ศ.) เป็นหลัก และเทียบกับพุทธศักราช (พ.ศ.) เพื่อให้ชัดเจนขึ้นและสอดคล้องกับข้อมูลจากยุโรป พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปออกจากพระนครตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1934 ถ้านับเวลาอย่างสากล ใช้ปฏิทินสุริยคติ คือ นับเอามกราคมเป็นเดือนแรกของปีใหม่ จะตรงกับค.ศ. 1934 หรือ พ.ศ. 2476 แต่ถ้านับตามปฏิทินจันทรคติของสยามที่ นับวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ จะเป็นการเสด็จฯ ยุโรปในพ.ศ. 2476 ต่อเนื่องถึงพ.ศ. 2477
[3] ดูรายละเอียดใน: พรสรรค์ วัฒนางกูร (2012/2555, พิมพ์ครั้งที่ 2), สองยุคแห่งวัฒนธรรมเยอรมัน-ไวมาร์คลาสสิกและสาธารณรัฐไวมาร์, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 137-153.
[4] Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, R 65586, รายงานจากสถานทูตเยอรมัน ณ กรุงเทพฯ, J. Nr. 621 เรื่อง เหตุยุ่งยากเกี่ยวกับกรณีระหว่างงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงเทพฯ วันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1926/พ.ศ. 2469
[5] พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร, จดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. 2476-2477 ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 149
[6] Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, R 86066, รายงานของทูตเยอรมัน ณ กรุงลอนดอน เอกสารเลขที่ 14.1453 เรื่องพระมหากษัตริย์แห่งสยามก่อนเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมนี ถึงกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แบร์ลีน ลอนดอน วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1934/พ.ศ. 2477, ทูตเฮอร์ช รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับตนเป็นเวลานาน
[7] หจช., ร.7 ศ. 7/1 “พระราชกระแสตอบเสนาบดีกระทรวงธรรมการ” 27 พฤษภาคม 2475, ใน: สนธิ เตชานันท์ (ผู้รวบรวมเอกสาร) พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2545. แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 287 (เอกสารโดยความอนุเคราะห์ของหม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล)
[8] ปรีดา วัชรางกูร (2520), พระปกเกล้าฯ กับระบอบประชาธิปไตย พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสมบูรณ์, หน้า 79