xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวแก้ร่างกม.แพ่งปรับลดดบ.ผิดนัดชำระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ครม.ไฟเขียว แก้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลังใช้มานานเกือบ 100 ปี ปรับลด "ดอกเบี้ย" ผิดนัดชำระ ทั้งดอกเบี้ยที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน มาตรา 7 เหลือ 3% ต่อปี และดอกเบี้ยเมื่อลูกหนี้ผิดนัด มาตรา 224 เหลือ 5% ต่อปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงประโยชน์ของกฎหมาย และมีโอกาสชำระหนี้ได้มากขึ้น โดยจะลดอัตราดอกเบี้ย กรณีผิดสัญญาเงินกู้ และกรณีผิดนัดชำระหนี้ จากเดิม 7.5% ซึ่งจะนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

"กฎหมายนี้ใช้มาแล้วกว่า 95 ปี การแก้ครั้งนี้เพื่อลดภาระให้กับประชาชน"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ย 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 7 อัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ก่อน และมาตรา 224 อัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดยทั้ง 2 มาตรากำหนดดอกเบี้ยไว้ที่ 7.5% ต่อปี ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีได้ไปศึกษาจากหลายประเทศ จึงนำเสนออัตราใหม่เข้ามาให้ ครม.เห็นชอบ ดังนี้

ในส่วนดอกเบี้ยที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน มาตรา 7 เดิมคิดอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี เป็นอัตราคงที่ตลอด ปรับใหม่เป็น 3% ต่อปี และให้กระทรวงการคลังประเมินทุก 3 ปี หากจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเมื่อลูกหนี้ผิดนัด มาตรา 224 ปัจจุบันคิดที่ 7.5% ต่อปี อัตราคงที่ตลอด ปรับใหม่เหลือ 5% มาจากดอกเบี้ย 3% ตามมาตรา 7 และบวกเพิ่มอีก 2% สำหรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดเวลาผ่อนส่งเป็นงวด เดิมคิดจากเงินต้นที่ค้างทั้งหมด ของใหม่คิดจากเงินต้นเฉพาะงวดที่ผิดนัดเท่านั้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า มีเจ้าหนี้บางรายอาศัยความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ให้ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระต้องจ่ายดอกเบี้ยบนเงินต้นทั้งหมด เมื่อผิดนัดเพียงแค่งวดใดงวดหนึ่ง รวมไปถึงเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของศักยภาพของประเทศในภาพรวมด้วย คาดว่าเมื่อสภาเปิดสมัยประชุมสามัญแล้ว จะมีการประสาน เพื่อให้ทางสภาฯ รับเรื่องร่างกฎหมายฉบับนี้พิจารณา และน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น