xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 15) เบื้องหลังปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการ กับปริศนาการตายรัฐมนตรีไทยสายญี่ปุ่น/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปีพ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นแฟ้นขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ในการประชุมใหญ่สันนิบาตชาติเพื่อประณามญี่ปุ่นที่ได้รุกรานแมนจูเรีย ปรากฏว่าตัวแทนประเทศไทยได้สละสิทธิ์ในการลงมติประณามญี่ปุ่น สวนมติของสมาชิกสันนิบาตชาติ 42 ประเทศ หลังจากนั้นทั้งรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งข้าราชการได้เดินทางไปเยือนที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าลัทธิชาตินิยมของประเทศนั้น ได้อิทธิพลส่วนสำคัญจากประเทศญี่ปุ่น

สำหรับในเรื่องดังกล่าวนี้ บุคคลหนึ่งที่กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญการเจรจาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นจนได้ดิบได้ดีมากลายเป็นรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ก็คือ“นายวนิช ปานะนนท์”ซึ่งสวมบทบาทเป็นรัฐมนตรีที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ได้ถูกยกฐานะให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี แต่นายวนิช ปานะนนท์ กลับมีจุดจบด้วยความตายอย่างมีปริศนายิ่ง

ทั้งนี้นายวนิช ปานะนนท์เกิดที่จังหวัดชลบุรีได้สอบเข้าเป็นนักเรียนนายเรือได้เมื่อปีพ.ศ. 2463ต่อมาในปีพ.ศ. 2467ได้ลาออกจากโรงเรียนนายเรือเพราะสนใจที่จะทำการค้าด้วยเพราะเวลานั้นพี่ชายคือนายขจร ปานะนนท์ได้เริ่มเปิดร้านในกรุงเทพ

นายวนิช ปานะนนท์ร่วมเป็นหุ้นส่วนกับพี่ชายทั้งสองชื่อเอส.วี.บราเดอร์สตั้งอยู่ที่ถนนมหาราชใกล้ตลาดท่าเตียนเร่ิมดำเนินการค้าเมื่อพ.ศ. 2468ผลการค้าดำเนินไปด้วยดีเมื่อดำเนินการค้าได้ประมาณ 2ปีก็เริ่มติดต่อสั่งสินค้าเองจากต่างประเทศโดยนายวนิช ปานะนนท์สนใจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพิเศษถึงกับสั่งซื้อและรับเป็นสมาชิกหนังสือข่าวเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมและการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศหลายแห่ง

โดยน้ำมันที่นายวนิช ปานะนนท์สนใจมากเป็นพิเศษก็คือน้ำมันแก๊สโซลินเข้ามาจำหน่ายในตลาดประเทศไทยทำให้การค้าขายก้าวหน้ายิ่งขึ้นเป็นลำดับ

พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองนายวนิช ปานะนนท์ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือในการเปลี่ยนแปลงผู้หนึ่ง รัฐบาลคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงดำริจัดตั้งองค์การน้ำมันขึ้น นายวนิชจึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการนั้น และได้ถอนหุ้นและถอนตัวออกไปจากห้างหุ้นส่วน“เอส.วี.บราเดอร์ส์”ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[1]

ในปลายปี พ.ศ. 2475 นี้เอง รัฐบาล ได้จัดส่งน.ท.หลวงจำรัสจักราวุธ, ดร.ตั้ว พลานุกรม และนายวนิช ปานะนนท์ไปดูงานตามประเทศใกล้เคียงเพื่อจัดการกับเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงจึงได้ไปราชการพิเศษที่สิงคโปร์,สุมาตราและยะวา

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “หัวหน้าแผนกน้ำมันเชื้อเพลิง”ขึ้นอยู่ในกองบังคับการกระทรวงกลาโหมในบังคับบัญชาของปลัดกระทรวงมีหน้าที่สั่งซื้อและขายน้ำมันต่างๆให้แก่กรมกองในกระทรวงทะบวงกรมต่างๆและยังเป็นผลทำให้ราคาน้ำมันตามท้องตลาดในประเทศก็ลดถูกลงในระดับสมควรและเมื่อได้ซื้อขายแล้วจึงได้มีการสร้างถังน้ำมันขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่ช่องนนทรี[1]

อีก 4 ปีต่อมา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480นายวนิช ปานะนนท์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมเชื้อเพลิงกระทรวงกลาโหม [1]

แต่แล้วก็ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการฉ้อโกงในกรมเชื้อเพลิงขึ้น โดยพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 14ธันวาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งว่า

“ในฐานะที่จอมพลป.พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงได้เขียนคำสั่งให้นายวนิชฯออกจากราชการพลโทมังกรพรหมโยธีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นได้ทำคำสั่งเสนอให้รัฐมนตรีลงชื่อคำสั่งปลดแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือจอมพลป.พิบูลสงครามหาได้ลงชื่อไม่นายวนิชฯจึงอยู่ในกรมเชื้อเพลิงต่อมา”[2]

สำหรับสาเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสให้การว่า“ทั้งนี้จะเป็นด้วยเหตุผลประการใดจอมพลป.ฯจึงกลับความเห็นที่ได้สั่งไปแล้วข้าฯไม่ทราบ”[2]

อีกเกือบ 1 ปีต่อมา วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2481นายวนิช ปานะนนท์ได้มีบทบาทเรื่องการค้าน้ำมันกับต่างประเทศมากขึ้นโดยเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยประชุมเรื่อง World Oil Conferenceที่เมืองโอกลาโฮมาสหรัฐอเมริกาและไปดูงานในสหรัฐอเมริกาและที่ประเทศอังกฤษ,ฝรั่งเศส,เยอรมัน,เชคโกสโลวัคเกีย,สวิสเซอร์แลนด์,เดนมาร์ค

หลังจากนั้นวันที่17 เมษายน พ.ศ. 2481รัฐบาลก็ได้ตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2481ขึ้นโดยให้อำนาจรัฐในการเข้าควบคุมกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงอีกทั้งยังกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีน้ำมันสำรองไว้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่ขายได้ในปีหนึ่งและรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดราคาขายน้ำมันเอง [3]

นอกจากนั้นนายวนิช ปานะนนท์ก็ให้ความสนใจในเรื่องธุรกิจข้าวด้วยโดยวันที่ 25พฤศจิกายนพ.ศ. 2481นายวนิช ปานะนนท์เป็นหัวแรงสำคัญผู้หนึ่งร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและความสามารถรับมอบหมายจากรัฐบาลเป็นกรรมการจัดตั้งบริษัท ข้าวไทย จำกัดขึ้น(เดิมชื่อบริษัทข้าวสยาม)และต่อมาวันที่ 13กุมภาพันธ์พ.ศ. 2482ก็ได้นายวนิช ปานะนนท์ได้เดินทางไปดูงานตลาดข้าวและการพาณิชย์ณเมืองแรงกูนรวมถึงการทำกระสอบป่านในกัลกัตตา [1]

ต่อมาวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2482นายวนิช ปานะนนท์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมพาณิชย์กระทรวงเศรษฐกิจการ [1]

โดยในช่วงนี้เองด้วยมาตรการภาษีของรัฐบาล ได้บีบให้ธุรกิจโรงสีข้าวของชาวจีนต้องปิดตัวลง พ่อค้าข้าวชาวจีนจึงปล่อยเช่าโรงสีข้าวประมาณ 50 โรงให้บริษัท ข้าวไทย จำกัดดำเนินการแทน บริษัท ข้าวไทย จำกัด จึงเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางการค้า มีผลกำไรมาก

โดยปลายปี พ.ศ. 2482 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 500,000 บาท เป็น 1,500,000 บาท [4],[5] และเปิดโอกาสให้เอกชนในเครือข่ายของนักการเมืองอดีตผู้ก่อการคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เข้าถือหุ้นของบริษัทได้เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด หุ้นที่เหลือร้อยละ 75 เป็นของรัฐบาล โดยถือในนามของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง [4],[6] และทำให้ผลประโยชน์การผูกขาดค้าข้าวของบริษัท ข้าวไทย จำกัดกลายเป็นผลประโยชน์สำคัญของกรรมการและผู้ถือหุ้นของนักการเมืองยุคนั้น

อีกด้านหนึ่งในปีเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้จัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันสังกัดกระทรวงกลาโหมโดยรัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัทมิตซุย บุซซัน ไคชาเข้าดำเนินการอีกทั้งรัฐบาลไทยยังทำการตกลงกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นให้ข้าราชการไทยได้ไปเรียนรู้กระบวนกลั่นน้ำมันในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 16คนอีกด้วย[7] จึงทำให้เห็นบทบาทของนายวนิช ปานะนนท์กับประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น

หลังจากนั้นวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2483นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมพาณิชย์กระทรวงเศรษฐการปรากฏว่านายวนิช ปานะนนท์ได้เดินทางไปหาตลาดสำหรับจำหน่ายข้าวในต่างประเทศได้อีกหลายแห่งตลาดข้าวกรุงเทพฯแต่เดิมมีฐานะเพียงตลาดรองราคาข้าวจะขึ้นหรือลงต้องแล้วแต่ตลาดสิงคโปร์ราคาข้าวในกรุงเทพฯก็ขึ้นตามถ้าลงก็ลงตาม

แต่ในปี พ.ศ. 2483 และ 2484 ตลาดกรุงเทพฯ กลับเป็นตลาดนำ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสิงคโปร์และฮ่องกง ตรงกันข้ามตลาดนั้นกลับต้องฟังราคาข้าวจากตลาดกรุงเทพ [1]

ในบทบาททางการค้าระหว่างประเทศที่ก้าวหน้าขึ้นทั้งน้ำมันและข้าวซึ่งเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในยามสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างปี พ.ศ. 2483-2484 บทบาทของนายวนิช ปานะนนท์จึงมีความสำคัญมากขึ้นในการเจรจาระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศและเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นแฟ้นกล่าวคือ

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483นายวนิช ปานะนนท์ได้เดินทางไปราชการดูการจัดการเศรษฐกิจในญี่ปุ่นแมนจูก๊กและจีน

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์เป็นผู้แทนในคณะผู้แทนฝ่ายไทยลงนามสงบศึกกับฝรั่งเศสบนเรือรบ “นาโตริ”ที่เมืองไซ่ง่อน


วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์เป็นผู้มีอำนาจเต็มแทนรัฐบาลไทยในการประชุมสันติภาพ (ระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน)ณกรุงโตเกียวโดยฝ่ายฝรั่งเศสได้มอบดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบางส่วนคืนให้แก่ไทยฝ่ายไทยจึงจัดการปกครองเป็น 4จังหวัดคือจังหวัดพิบูลสงครามจังหวัดพระตะบองจังหวัดนครจัมปาศักดิ์และจังหวัดลานช้างหลังสงครามมีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หลวงพิบูลสงครามได้เลื่อนยศเป็น “จอมพล”ในวันที่ 28กรกฎาคมพ.ศ. 2484 [8]

ความพึงพอใจต่อผลงานความสำเร็จของนายวนิช ปานะนนท์ในครั้งนั้นปรากฏว่าจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มอบซองบุหรี่นาคให้นายวนิช ปานะนนท์เป็นที่ระลึกพร้อมลายเซ็นซี่งมีจารึกข้อความว่า “เจรจาดีที่โตเกียว”[9]

หลังจากนั้นวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตประจำกระทรวงกระทรวงการต่างประเทศ

ต่อมาประมาณเดือนต้นเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2484 ก็ได้ปรากฏว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการซื้อ “ทองคำ” จากรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 145 หีบ เป็นทองคำจำนวน 288 แท่ง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000,000 บาท โดยกระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการในการรับมอบขึ้น [10] ทั้งนี้เพราะในเวลานั้นประเทศไทยอิงค่าเงินบาทกับเงินปอนด์เสตอริงของอังกฤษ จึงต้องมีการซื้อทองคำจากญี่ปุ่นเพื่อหนุนหลังคำ้เงินบาทที่ตกต่ำลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง


เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีคำแถลงของคณะอิสระไทยเขียนจดหมายสนเท่ห์กล่าวหานายวนิช ปานะนนท์ในกรณีขายชาติต่อประเทศญี่ปุ่นและยังได้พาดพิงไปถึงจอมพล ป.พิบูลสงครามในทำนองว่านายกรัฐมนตรีไม่รู้เท่าทันการขายชาติของผู้ใต้บังคับบัญชา[11],[12]จนรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่แทนที่จะปล่อยไปตามขั้นตอนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้เอาตัวเองออกหน้านายวนิช ปานะนนท์โดยกล่าวว่าอยากจะลาออกจากนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22ตุลาคมพ.ศ. 2484ว่า

“เรื่องนี้มีประเด็นพาดพิงมาถึงผมด้วยผมเป็นคนใช้ให้นายวนิชปานะนนท์ติดต่อกับญี่ปุ่นในเรื่องต่างๆ…เมื่อเป็นเช่นนี้เครดิตของผมก็ไม่มีฉะนั้นผมจึงอยากจะขอถอนตัวจากนายกรัฐมนตรีและมอบตำแหน่งนี้ให้เพื่อนฝูงคนอื่นทำต่อไป…

ผมก็รู้ว่าพวกเราทุกคนคงไม่อยากให้ผมออกแต่เมื่อมันมีเรื่องเช่นนี้ผมก็ไม่อยากอยู่ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยโกงใครเมื่อครั้งอยู่โรงเรียนเพียงแต่ก๊อปปี้ผมยังไม่เอาเลยฉะนั้นผมจึงไม่อยากจะให้ชื่อเสียงของผมต้องมาเสียเพราะเรื่องนี้”[13]

โดยในช่วงนี้เองพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 13ธันวาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งว่า

“เรื่องนายวนิชฯขายชาติซึ่งทางการตั้งกรรมการสอบสวนนั้นใจความในบัตรสนเท่ห์เป็นทำนองว่านายวนิชฯฉ้อโกงและเป็นสปายให้ญี่ปุ่นเรื่องนี้ทางการตำรวจได้สืบสวนอย่างเต็มที่แต่ไม่ได้พยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องร้องนายวนิชฯในขณะนั้นมาภายหลังเมื่อญี่ปุ่นบุกรุกเข้าเมืองไทยแล้วจึงทราบได้แน่ชัดว่านายวนิชฯเป็นสปายให้ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ได้สังเกตว่าการประชุมปรึกษาหารือรายงานลับของรัฐบาลนั้นญี่ปุ่นมักรู้เสมอได้ทราบระแคะระคายว่านายวนิชฯนำข่าวไปแจ้งให้ญี่ปุ่นทราบแต่จะจับกุมในขณะนั้นยังไม่ได้เพราะญี่ปุ่นจะแทรกแซงเป็นเมืองขึ้น

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะรุกรานประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคมพ.ศ. 2484สัก 3เดือน..ข้าพเจ้าได้สังเกตมีนายทหารญี่ปุ่นและคณะทูตญี่ปุ่นเข้ามาติดต่อจอมพลป.ฯอยู่บ่อยๆบางคราวนายวนิชฯก็มาด้วยบางคราวก็ไม่ได้มาการติดต่อนี้จะพูดว่ากระไรข้าฯไม่ทราบ”[14]

นายสุพจน์ ด่านตระกูลได้เขียนในบทนำในหนังสือคำให้การต่อศาลอาชญากรสงครามเอกสารประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 5ธันวาคมพ.ศ. 2544ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังกองทัพของญี่ปุ่นเข้ามายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นั้นเป็นการรุกรานประเทศไทย หรือว่าเข้ามาตามความตกลง (เป็นการส่วนตัว) กับจอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีและมีใครบ้างรู้เห็นเป็นใจกันแน่นั้นมีดังนี้

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 6.50 น.จอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีได้เดินทางกลับจากพระตะบองเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจได้รายงานเหตุการณ์และปฏิบัติการของคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาให้ทราบรวมทั้งคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆก็ได้รายงานความรับผิดชอบของตนจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ชิงตัดบทก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์จะได้แสดงเหตุผลในที่ประชุมความว่า

“ประเดี๋ยวผมอยากจะพูดเสียก่อนคือเวลานี้กำลังรบกันอยู่เราจะให้รบต่อไปหรือจะให้หยุดเพราะที่เราพูดกันอยู่ทุกวินาทีนี้คนต้องตายเราจะให้หยุดหรือจะให้รบต่อไปส่วนเรื่องอื่นนั้นเอาไว้ทีหลังไม่อย่างั้นทหารรบกันตายนี่ก็ละลายไปกองพันหนึ่งแล้วที่ปัตตานี

ทั้งนี้พลตรีชาย อุบลเดชประชารักษ์อดีตนายทหารกองข่าวทหารบกได้ระบุตัวเลขความเสียหายในการปกป้องปิตุภูมิของทหารหาญแห่งปัตตานีว่าดังนี้

“ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเข้ายึดศาลาลกลางและสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทั้งนี้เพราะหน่วยทหารตั้งห่างจากตัวเมืองออกไปตั้ง 16 กิโลเมตร ดังนั้นน.อ.หลวงสุนาวินวัฒน์ข้าหลวงประจำจังหวัดจึงส่งตำรวจและลูกเสือเข้าต่อต้านญี่ปุ่นก่อนในระยะแรก

อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมาจึงได้ปะทะกับกองกำลังทหารไทยหน่วยทหารราบ ร.พัน 42 ภายใต้บังคับบัญชาของพ.อ.ขุนอิงคยุทธบริการ (ซึ่งตายในที่รบ)ร่วมด้วยเยาวชนทหารหน่วยที่ 55ปัตตานีซึ่งรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองพันทหารราบผลปรากฏว่านายทหารนายสิบและพลทหารตาย 24คนเยาวชนตาย 6คนบาดเจ็บ 30คน

ซึ่งสำหรับประเด็นนี้แสดงเป็นที่น่าสังเกตว่าคำกล่าวของจอมพลป.พิบูลสงครามอ้างในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า“ละลายไปกองพันหนึ่ง”นั้นเป็นตัวเลขที่มากเกินเลยไปกว่าสถานการณ์ที่เป็นจริงราวกับเป็นอุบายกดดันต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ตกใจและยอมจำนนแก่ญี่ปุ่นหรือไม่

ในขณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่อ้างถึงข้างต้นนั้นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้อ่านโทรเลขของพระรามอินทราให้ที่ประชุมฟังว่า

“ได้รับโทรศัพท์จากตำรวจสวายดอนแก้วแจ้งว่า 7.00น.เศษมีทหารญี่ปุ่นมีรถรบประมาณ 100คันพร้อมด้วยปืนใหญ่บุกเข้ามาในสวายดอนแก้วแล้วมาหยุดที่เครื่องกีดขวางยังไม่มีการยิงกันแปลว่ายังไม่ได้ล้ำเข้ามา”

แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีจอมพลป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีกลับกล่าวตัวเลขรถรบของญี่ปุ่นมากกว่าที่ได้รับรายงาน ปรากฏหลักฐานเป็นบันทึกในการประชุมความว่า

“นี่เราจะต้องบอกให้ประชาชนทราบไหม? ประเดี๋ยวเขาจะตกใจกันรถรบเข้ามาตั้ง 500-600คันนี่เราเห็นจะต้องออกแถลงการณ์”

และในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีบันทึกต่อไปถึงคำกล่าวของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พูดกับนายวนิชปานะนนท์ความว่า

“โทรศัพท์พูดกับสถานทูต (สถานทูตญี่ปุ่น-ผู้เขียน)ซิรถรบเข้ามาที่พระตะบองจะให้หยุดที่ไหนกำลังเคลื่อนที่เข้ามาเรื่อยๆราว 600คัน

หลังจากนั้นนายวนิชปานะนนท์ได้ออกไปโทรศัพท์แต่ก็ไม่ปรากฏในบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าญี่ปุ่นตอบว่าอย่างไร

สำหรับประเด็นนี้นายปรีดี พนมยงค์ได้บันทึกในหนังสือหลักฐานสำคัญบางประการในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2ว่าดังนี้

“นายวนิชปานะนนท์ออกไปโทรศัพท์แต่ไม่ปรากฏในบันทึกการประชุมครม.ว่าฝ่ายทูตญี่ปุ่นตอบว่าอย่างไรเพราะฝ่ายญี่ปุ่นย่อมรู้จำนวนทหารที่เขาใช้ในการรุกรานประเทศไทยด้านพระตะบองวันนั้นยิ่งกว่าที่นายวนิชฯจะไปบอกเขาเพราะถ้าบอกจำนวนถูกต้องก็เป็นการแสดงว่านายวนิชฯรู้จำนวนรถได้เท่ากับญี่ปุ่นแต่ถ้านายวนิชฯบอกจำนวนผิดไปมากญี่ปุ่นก็จะวินิจฉัยความสามารถของนายวนิชฯในกิจการสงคราม”

ทั้งนี้นายวนิช ปานะนนท์เป็นน้องเขยของพล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน (ขณะเกิดเหตุดำรงยศเป็นพล.ร.ท.)หรือหลวงสินธุสงครามซึ่งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลจอมพลป.ฯเช่นกันและยังดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพเรืออีกด้วย

ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวินได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินเมื่อเวลา 10.00น.นายกรัฐมนตรีถามว่า “ถูกจับหรือ” (มาเข้าร่วมประชุมช้าเพราะถูกญี่ปุ่นจับ)

พล.ร.อ.สินธุ์ฯตอบว่า“ครับถูกจับที่บางปูตี 5มีเรือใหญ่เข้ามาจอดที่หน้าสะพานทีเดียวเข้าใจว่าจะเข้ามาในสันดอนแล้วหรือจะยังไม่เข้าก็ไม่ทราบ”

สำหรับกรณีการอ้างว่าถูกจับของพล.ร.อ.สินธุ์ฯนั้นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นการสมยอมให้จับ เพื่อให้ความสะดวกในทางการทหารแก่ญี่ปุ่นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสให้การต่อคณะกรรมการตามตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามด้วยว่าพล.ร.ท.สินธุ์ฯมีความสนิทสนมกับชายญี่ปุ่นเป็นที่ทราบกันทั่วไปทั้งภายในและภายนอกประเทศโดยสหประชาชาติลงความเห็นว่าพล.ร.ท.สินธุ์ฯเป็นหัวหน้าในการสนับสนุนญี่ปุ่นเพราะพล.ร.ท.สินธุ์ซึ่งอยู่ที่สัตหีบแทนที่จะกลับด้วยเครื่องบินที่กองทัพอากาศไปรับแต่กลับเดินทางโดยรถยนต์แล้วถูกทหารญี่ปุ่นจับที่บางปู

เช่นเดียวกับกรณีที่จอมพล ป.ไม่อยู่ในพระนครในวันที่ญี่ปุ่นบกพลขึ้นประเทศไทยซึ่งจอมพลป.ก็ไม่กลับโดยเครื่องบินที่คณะรัฐมนตรีส่งไปรับการกลับล่าช้าก็ทำให้เกิดการสู้รบไปก่อนสักช่วงเวลาหนึ่ง

นายสุพจน์ ด่านตระกูลได้วิเคราะห์ในบทนำของหนังสือคำให้การต่อศาลอาชญากรสงครามว่ากรณีที่จอมพล ป.ฯไม่อยู่ในพระนครในวันที่ญี่ปุ่นยกลพลขึ้นประเทศไทยมีผลดีแก่ตัวจอมพล ป.ฯดังนี้

1.ประวัติศาสตร์ไม่ตำหนิจอมพล ป.ฯว่าไม่ต่อสู้ญี่ปุ่น
2.ญี่ปุ่นไม่ตำหนิจอมพล ป.ว่าไม่ซื่อสัตย์

ในกรณีกระแสข่าวที่ว่าจอมพล ป.ฯร่วมมือกับโตโจนายกรัฐมนตรีญีปุ่นอย่างลับๆนั้นได้เปิดเผยในเวลาต่อมาในคำฟ้องของอัยการโจทก์ต่อจอมพล ป.ฯในข้อหาอาชญากรสงครามมีความบางตอนดังนี้

“(1) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2484 และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2484 เวลากลางวัน จำเลยได้กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ชักจูงอุบายด้วยประการต่างๆ ให้รัฐมนตรีเห็นดีเห็นชอบกับความคิดของจำเลยในการที่จะให้ประเทศไทยเข้าร่วมทำสงครามเข้าข้างญี่ปุ่น โดยจำเลยได้อ้างเหตุจูงใจเป็นใจความว่า ถ้าเข้ากับญี่ปุ่นรบอังกฤษจะเสียหายน้อยกว่า ถ้ารบชนะจะได้ดินแดนเก่าที่เสียไปกลับคืนมาด้วย”[15]

ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ฝ่ายไทยได้ยินยอมลงนามในข้อตกลงระหว่างไทยและญี่ปุ่น คือ ฝ่ายไทยจะอนุญาตให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านดินแดนของประเทศไทยไปได้ ให้ความสะดวกและหลีกเลี่ยงการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันโดยการตกลงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศ โดยที่ญี่ปุ่นให้ประกันเอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของประเทศจะได้รับความเคารพ[16]

นอกจากนั้นนายทวี บุณยเกตุเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้บันทึกเหตุการณ์ความตอนหนึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10ธันวาคมพ.ศ.​2484ความว่า

“นายกรัฐมนตรี:ใคร่จะชี้แจงเป็นเรื่องลับอย่างไรก็ตามญี่ปุ่นไม่ได้บังคับแค่ในการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีนั้นตามนโยบายเดิมเราตั้งตัวเป็นกลางรัฐมนตรีก็ดีเจ้าหน้าที่ก็ดีต้องทำให้สมนโยบาย

แต่เดี๋ยวนี้นโยบายของเราได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเราจำเป็นจะต้องปรับปรุงให้เข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นได้ผู้ที่เข้ากับเขาไม่ได้คือคุณวิลาศ (นายวิลาศโอสถานนท์)มีพี่เมียเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการจุงกิงเมียเป็นลูกเซียวฮวดเส็งได้เรียกมาชี้แจงก็บอกว่าไม่มีอะไรยินดีจะพ้นตำแหน่งไปเพื่อชาติและได้ยื่นใบลาแล้ว

ส่วนคุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเขาก็เคารพในส่วนตัวและความรู้แค่พูดกันไม่ใคร่ลงตัวต้องพูดกันยืดยาวต่างมีเทียวโอรี(หลักการ,ทฤษฎี)เขาไม่ได้บอกให้ออกแค่ผมเห็นว่าควรปรับปรุง”[15]

นั่นย่อมแสดงอย่างชัดเจนว่า ณ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ฝ่ายญี่ปุ่นยังไม่ได้มีเงื่อนไขให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ออกจากตำแหน่งทางการเมืองในคณะรัฐมนตรี

ถ้าเช่นนั้น อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ต้องออกไปจนพ้นจากคณะรัฐมนตรีหลังจากนั้น

ปรากฏว่านายทวี บุณยเกตุเลขาธิการคณะรัฐมนตรีๆในขณะนั้น ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้มีความตอนหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับนโบายการกู้เงินและการพิมพ์ธนบัตรของญี่ปุ่นของกระทรวงการคลังดังนี้

“ระหว่างวันที่11-12ธันวาคมพ.ศ.2484คือภายหลังจากการที่ประเทศไทยได้เซ็นสัญญายอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้ไม่กี่วันรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เริ่มเจรจาขอกู้เงินจากไทยงวดแรกเพื่อใช้จ่ายในกิจการทหารของญี่ปุ่นนายปรีดีพนมยงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า


การที่จะให้รัฐบาลญี่ปุ่นกู้เงินไปใช้จ่ายในกิจการทหารของเขานั้นเข้าใจว่าคงจะไม่กู้เพียงแค่จำนวนนี้แต่จะขอกู้มาอีกเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุดตามความจำเป็นในทางการทหารของเขา

หากเราให้ก็ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นทำให้มีธนบัตรหมุนเวียนในท้องตลาดมากขึ้นอย่างรวดเร็วจะเป็นผลเสียหายทางเศรษฐกิจคือจะทำให้เกิดเงินเฟ้อจึงเห็นว่าควรให้ทหารญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรของเขาขึ้นใช้เองในกองทัพของเขาเรียกว่าInvasion Notes(ธนบัตรที่ฝ่ายเข้ายึดครองพิมพ์ออกมาใช้)จะดีกว่า

ทั้งนี้เพื่อว่าเมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้วเราจะได้ประกาศยกเลิกธนบัตรเหล่านี้เมื่อเสร็จสงครามแล้วการเงินและการเศรษฐกิจของประเทศก็ะจะได้ไม่ถูกกระทบกระเทือนและจะได้ไม่เกิดเงินเฟ้อขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแย้งว่าการที่จะปฏิบัติตามความเห็นและตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้นแม้จะเป็นการป้องกันมิให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นได้ก็ตามแต่ก็เท่ากับเป็นการแสดงว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้วจึงไม่เห็นด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงแถลงค้านว่าก็การที่เรายอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองและทำอะไรได้ต่างๆนั้นไม่ได้แปลว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้วหรือ

ในเรื่องนี้มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ได้ยืนยันในความเห็นที่จะให้ญี่ปุ่นยืมเงินบาทโดยพิมพ์ธนบัตรออกใช้ให้มากขึ้นตามความจำเป็น”[15]

นอกจากนั้นยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้รัฐบาลไทยรับหลักการในเรื่องเงินตราสามประการคือ

(ก) ให้กำหนดค่าเงินบาทเท่ากับเงินเยน คือในอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ต่อ 1 เยน

(ข) การชำระเงินระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยให้ชำระเงินด้วยเงินเยน และ

(ค) ให้ตั้งธนาคารกลางขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยให้มีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานต่างๆเป็นชนชาติญี่ปุ่น[17]

ปรากฏว่าพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการคลัง ของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทรงเห็นว่าข้อเสนอแรกของญี่ปุ่นเป็นการกำหนดค่าเงินบาทให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปกว่าร้อยละ 33 เพราะในขณะนั้นเงินบาทมีค่าสูงกว่าเงินเยน (คือ 1 บาทแลกได้ 1.5507 เยน) แต่เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันเป็นเด็ดขาดในข้อเสนอนี้รัฐบาลก็ต้องยอมรับไป

สำหรับข้อเสนอข้อสองนั้นรัฐบาลต้องยอมรับโดยปริยาย เพราะการสงครามในขณะนั้นบังคับมิให้มีการค้าขายติดต่อกับประเทศใดอีกได้นอกจากประเทศญี่ปุ่น

แต่สำหรับข้อเสนอข้อที่สามนั้นรัฐบาลไทยมิได้ยอมรับในทันที เพราะจะเท่ากับว่ายอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมเงินตราและเครดิตขอไทยโดยตรง อันเป็นความประสงค์ของญี่ปุ่นในขณะนั้น โดยพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงวางแผนร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 อย่างเร่งด่วนพระองค์เองให้เป็นผลสำเร็จ เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงการเงินของประเทศไทย [17]

อย่างไรก็ตามการเจรจาที่รุกคืบฝ่ายไทยนั้นนายวนิช ปานะนนท์ได้กลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการเจรจาร่วมกับไทยญี่ปุ่นโดยเมื่อวันที่ 11ธันวาคมพ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผสมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น [1]

หลังจากนั้นเพียงวันเดียวปรากฏว่าวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484นายปรีดี พนมยงค์ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ 8)พ.ศ. 2484ที่กำหนดให้ค่าเงินบาทไทยนั้นจะต้องเทียบกับทองคำหรือเงินตราต่างประเทศที่หนุนหลังไม่ใช่พิมพ์ธนบัตรโดยไร้กฎเกณฑ์ใดๆ [18]

การวางรากฐานกฎหมายดังกล่าวเอาไว้ล่วงหน้า เป็นผลทำให้ในเวลาต่อมาพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ได้ทรงเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นจนยอมตกลงให้ฝ่ายไทยใช้เงินเยนซึ่งญี่ปุ่นเครดิตบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยไว้นั้น ซื้อทองคำเก็บไว้ได้เป็นครั้งคราว ทำให้ทุนสำรองเงินตราของไทยมีค่าสูงขึ้นยิ่งกว่าที่จะเก็บไว้เป็นเงินเยน และก็ได้มาบางส่วนเท่าที่การขนส่งในระหว่างสงครามจะอำนวยให้ ส่วนที่เหลือตกค้างอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น เมื่อเสร็จสงครามแล้วทางไทยก็ได้รับคืนมาในที่สุด แทนที่จะได้เงินเยนซึ่งแทบไร้ค่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตามความขัดแย้งในด้านการเงินและการคลัง เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งต่อการเอื้อประโยชน์ของการเข้ามาของญี่ปุ่น จากคำให้การของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจ พบว่าหลังจากนั้นญี่ปุ่นไม่พอใจในบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ และอาจมีการรายงานเรื่องภายในคณะรัฐมนตรีไปให้ฝ่ายญี่ปุ่นได้รับทราบ ดังปรากฏคำให้การของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสคณะกรรมการตามตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม ความว่า

“ข้าพเจ้าได้ไปที่วังสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นที่พักของนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้พบนายกรัฐมนตรีกับนายวนิช ปานะนนท์ นายวนิชฯได้พูดว่าทางฝ่ายญี่ปุ่น มีความรังเกียจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายวิลาศ โอสถานนท์ เพราะสองคนนี้มีความคิดเอนเอียงไปทางอังกฤษ คณะรัฐมนตรีมีความคิดเห็นว่าร่วมกับญี่ปุ่นด้วยประการใดๆก็ทำไปไม่สะดวก เพราะสองคนนี้มีความคิดเห็นไม่ตรงกับญี่ปุ่น

เขาจะให้สองคนนี้ออกจากคณะรัฐมนตรีเฉพาะหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้นฝ่ายญี่ปุ่นเสนอว่าควรแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่ญี่ปุ่นมีความประสงค์จะให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคณะผู้สำเร็จราชการนั้นข้าพเจ้าคิดว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมยังเป็นผู้มีอิทธิพลข้าราชการและประชาชนนับถืออยู่มากถ้าให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้วจะได้พ้นจากหน้าที่การเมืองและญี่ปุ่นคงคิดว่าจะไม่ทำให้ประชาชนเห็นว่าญี่ปุ่นรังแกหลวงประดิษฐ์มนูธรรม”[15]

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความเห็นของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และเป็นผลทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยทันที [19]

17 ธันวาคม พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ [1] โดยต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2484น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้แจ้งผลการสอบสวนความบริสุทธิ์ของนายวนิช ปานะนนท์ต่อกรณีมีจดหมายสนเท่ห์ที่ได้มาตั้งแต่เดือนตุลาคมพ.ศ. 2484ความตอนหนึ่งว่า

“มีกิจการที่ควรจะกล่าวอยู่ 2ประการก็คือในระหว่างที่นายวนิชไปดำเนินการเจรจาในเรื่องการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทกับอินโดจีนนั้นประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งก็คือรัฐบาลไทยได้ซื้อทองจากประเทศญี่ปุ่นอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งสองอย่างนี้มีการกล่าวหาและกรรมการได้สอบสวนแล้วปรากฏจากผลของกรรมการสอบสวนว่าเท่าที่ในระหว่างการกระทำการไปนั้นก็ได้กระทำไปภายในกรอบคำสั่งของผู้บังคับบัญชา...ส่วนเกี่ยวกับทางกรมตำรวจนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีเรื่องราวอะไรที่ต้องดำเนินการต่อไป” [20]

ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นสถานการณ์ผลจากสงครามรุนแรงขึ้น วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยจึงได้ถลำลึกลงไปลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัว โดยมีการลงนามโดยผ่านสถานทูตญีปุ่นและเยอรมันประจำกรุงเทพมหานคร และได้ยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด

หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนนายวนิช ปานะนนท์ จนได้รับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ซุยโฮ ชั้นหนึ่งจากญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485

นับจากนั้นเป็นต้นมานายวนิช ปานะนนท์ได้เป็นบุคคลสำคัญในการเจรจาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในหลายมิติเป็นลำดับ กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 28มีนาคมพ.ศ. 2485นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทูตเศรษฐกิจไทยไปเจรจาการเศรษฐกิจและการคลังกับรัฐบาลญี่ปุ่นณกรุงโตเกียวต่อมาในวันที่ 22พฤษภาคมพ.ศ. 2485นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการพิจารณาการเงินของชาติและวันที่25พฤษภาคมพ.ศ. 2485นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ [1]

นอกจากนั้น ตามคำให้การของนายทวี บุณยเกตุในฐานะอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นได้ให้การไว้ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 23ตุลาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งว่า

“ตามปกติจอมพลป.พิบูลสงครามมักใช้หลวงวิจิตรวาทการนายวนิชปานะนนท์นายพลตรีประยูรภมรมนตรีนายพลตรีไชยประทีปเสนพระบริภัณฑ์ยุทธกิจพลเรือโทสินธุ์กมลนาวินไปติดต่อกับฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะท่าทีของพวกนี้รับใช้อยู่นี้นิยมชอบชอบฝ่ายญี่ปุ่นแต่พระบริภัณฑ์ยุทธกิจท่าทีไม่ปรากฏชัด” [21]

สอดคล้องกับคำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทรงให้การเอาไว้ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 19ตุลาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งถึงคนในรัฐมนตรีหรือบุคคลที่สนิทชิดชอบกับจอมพลป.ที่มีความนิยมชอบชอบฝ่ายญี่ปุ่นและอักษะความตอนหนึ่งว่า

“ฝ่ายที่นิยมอักษะและพูดว่าฝ่ายอักษะจะต้องชนะสงครามแน่นอนและฝ่ายอังกฤษและอเมริกาจะต้องพ่ายแพ้แน่มี 1)นายประยูรภมรมนตรี 2)หลวงพรหมโยธี 3)หลวงสินธุสงครามชัย 4)หลวงวิจิตรวาทการ 5)ขุนนิรันดรชัย 6)พลตรีไชยประทีปเสนผู้ที่นิยมญี่ปุ่นออกหน้าออกตาก็มีหลวงวิจิตรวาทการนายวนิชปานะนนท์หลวงสินธุสงคราม...ส่วนขุนนิรันดรชัยนั้นต้องการให้สงครามยืดเยื้อไปอีกนานๆจะได้ทำการค้าขายได้ต่อไปอีก”[22]

โดยเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นแล้ว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำเนินนโบายที่เอื้ออำนวยต่อญี่ปุ่นหลายประการ ดังเช่น

ดำเนินการควบคุมและยึดบริษัทน้ำมันที่สำคัญ 2 บริษัทคือ บริษัท สแตนดาร์ด แวคัม ออยส์ (Standard Vacum Oil Co., Ltd.) และบริษัท เชลล์ (Shell Co., Ltd.) และรัฐบาลเข้าทำการกลั่นเอง[16] และทำการขยายโรงกลั่นทั้ง 2 ให้ทันสมัยได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น โดยแห่งหนึ่งอยู่ที่ตำบลช่องนนทรี อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่บางจาก ปรากฏว่าน้ำมันจากโรงกลั่นทั้ง 2 นี้ถูกนำมาใช้ในการทหารซึ่งญี่ปุ่นต้องการมากในขณะนั้น[23]

เช่นเดียวกับธุรกิจค้าข้าว ภายหลังจากการที่เจ้าของโรงสีข้าวต้องถูกบีบด้วยมาตรการทางภาษีจนต้องปิดกิจการ และบังคับปิดกิจการ จนโรงสีข้าวทั้งหลายต้องเอาโรงสีมาให้บริษัท ข้าวไทย จำกัดเช่าไปดำเนินการแบบผูกขาดกิจการค้าข้าวแทน [24] และต่อมารัฐบาลได้ตกลงใจให้ “สิทธิการส่งข้าวออกนอกประเทศแก่ญี่ปุ่น” คือ บริษัทมิตซุยและบริษัทมิตซูบิชิ [25]

นอกจากนั้นสำนักงานธนาคารไทย ได้มีส่วนในการจัดให้ธนาคารไทย 3 ธนาคาร อันได้แก่ ธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (จัดตั้งด้วยเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ธนาคารนครหลวงไทย (จัดตั้งด้วยเงินทุนของขุนนิรันดรชัยและคณะ), และธนาคารมณฑล (จัดตั้งด้วยเงินทุนของรัฐบาลและบริษัท ข้าวไทย จำกัด)ได้ร่วมกันให้ธนาคารโยโกฮามาสเปซี กู้เงินจำนวนมากถึง 10,000,000 บาท เพื่อช่วยส่งเสริมการค้ากับญี่ปุ่นมิให้ติดขัด[26]

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารมณฑลซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 17มกราคมพ.ศ. 2485นั้นมีทุนจดทะเบียนก่อตั้งด้วยทุนมากถึง 10,000,000บาทโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 50.65และบริษัทข้าวไทยจำกัดถือหุ้นร้อยละ 45.17มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฐานการเงินให้บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในการส่งข้าวขายให้กับญี่ปุ่น[27]

โดยฐานสำคัญของทั้งบริษัท ข้าวไทย จำกัด และธนาคารมณฑลนั้นล้วนแล้วแต่มีนายวนิช ปานะนนท์เป็นกรรมการบริษัททั้งสิ้นยังไม่นับว่านายวนิช ปานะนนท์นั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนน้ำมันสำหรับการเป็นยุทธปัจจัยให้กับญี่ปุ่นอีกด้วย

จนในที่สุดวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2486นายวนิช ปานะนนท์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง [1]

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487พล.ต.อ.อดุลฯรองนายกรัฐมนตรีและอธิบดีกรมตำรวจได้สั่งจับกุมนายวนิชฯในข้อหาทุจริตควบคุมตัวไว้สอบสวนที่กองตำรวจสันติบาลโดยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามไม่สามารถจะช่วยอะไรได้ ซึ่งต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาที่จอมพล ป.พิบูลสงครามออกหน้ารับแทนเองทั้งหมด

ส่วนนายพลอาเคโตะ นากามูระตำแหน่งแม่ทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยได้บันทึกถึงสาเหตุของการที่นายวนิช ปานะนนท์ถูกสอบสวนด้วยข้อหาการกระทำความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับ“การค้าทองคำ”ซึ่งทางฝ่ายญี่ปุ่นได้พากเพียรขอร้องต่อฝ่ายไทยให้ปฏิบัติกับนายวนิช ปานะนนท์อย่างมีเมตตาธรรม[28]

โดยในระหว่างการสอบสวนนั้นเองจากบันทึกข้อความของร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ได้ระบุถึงช่วงเวลาการสอบสวนของนายวนิช ปานะนนท์ความตอนหนึ่งว่า

นายวนิช ปานะนนท์ส่ายหน้าแล้วหยิบซองบุหรี่นาค ซึ่งเป็นของที่ระลึกจากจอมพลป.พิบูลสงครามว่า“เจรจาดีที่โตเกียว”แล้วกล่าวว่า

“ผมได้ซองบุหรี่นี้เป็นที่ระลึกพิเศษทีเดียวแต่ลายเซ็นอันนี้ก็ช่วยอะไรผมไม่ได้“[9]

โดยร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์เจ้าพนักงานสอบสวนยังได้บันทึกต่ออีกว่า

“ข้าพเจ้าสงสารเขาแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้เสียจริงๆแม้แต่เขาจะร้องขอให้ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปที่บ้านเพื่อขอร้องให้ภรรยาสุดที่รักของเขาตำน้ำพริกส้มมะขามส่งไปให้กินในเย็นวันนั้นข้าพเจ้าผู้มีวินัยจัดก็มิได้ผ่อนผันให้เขาเสียเลยและต่อมาไม่นานนักเขาก็จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันจะฟื้นขึ้นมาอีก”[9]

ภายหลังจากการที่นายวนิช ปานะนนท์ถูกคุมขังเพื่อทำการสอบสวนอยู่ประมาณปีเศษต่อมาวันที่ 21พฤษภาคมพ.ศ. 2487นายวนิชฯได้ถึงแก่กรรมโดยรัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นการฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายญี่ปุ่นไม่มีใครเชื่อจึงได้ยื่นเรื่องขอเข้าทำงานสอบสวน

อย่างไรก็ดีนายพลอาเคโตะ นากามูระ ได้กล่าวว่าเรื่องจบลงโดยที่ฝ่ายครอบครัวของนายวนิช คือ “หลวงสินธุ์สงครามชัย” ในฐานะพี่เขยของนายวนิชได้มีหนังสือตอบทุกฝ่ายว่า ทางครอบครัวของนายวนิชไม่มีอะไรติดใจ และไม่มีความประสงค์ให้มีการพิสูจน์ความจริงใดๆเพิ่มเติม[28]

ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ควรบันทึกเอาไว้คือนายวนิช ปานะนนท์เสียชีวิตวันที่ 21พฤษภาคมพ.ศ. 2487 (ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม)แต่กว่าจะได้จัดงานในฌาปนกิจศพคือวันที่ 27มีนาคมพ.ศ. 2490 (ในสมัยรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ธำรงนาวาสวัสดิ์)หรือเวลาห่างกันประมาณ 2ปี 10เดือน

ด้วยเพราะระยะเวลานานมากนับจากวันเสียชีวิตของนายวนิช ปานะนนท์ ถึงวันจัดงานฌาปนกิจศพแต่กลับไม่ปรากฏคำไว้อาลัยในหนังสืองานฌาปนกิจศพลจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในขณะนั้นและรวมถึงไม่มีคำไว้อาลัยจากอดีตนายกรัฐมนตรีคนใดในหนังสืองานฌาปนกิจศพเล่มดังกล่าวนี้เลยคงมีแต่คำไว้อาลัยและขอบคุณจากนายสิงห์ ไรวาหรือพระนรราชจำนงปลัดกระทรวงเศรษฐการที่เคยทำงานร่วมกันมาเท่านั้น[1]

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงนั้นไม่มีใครทราบ แต่นายพลอาเคโตะ นากามูระก็ได้บันทึกสันนิษฐานว่าพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส น่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง[28]

และหากสมมุติว่าจะเป็นกรณีการฆาตกรรมก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าในความเป็นจริงแล้วใครจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากบุคคลที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำและกำลังถูกสอบสวนในเรื่องการทุจริตค้าทองคำที่เกิดขึ้นแต่ถูกอำพรางว่าเป็นการฆ่าตัวตาย

เพราะข้อสันนิษฐานที่ว่ารัฐบาลอยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมนายวนิช ปานะนนท์ เพื่อกำจัดสายลับญี่ปุ่นนั้นมีความสมเหตุสมผลมากเพียงใดหรือไม่ เพราะอย่างไรเสียนายวนิช ปานะนนท์ ก็อยู่ในเรือนจำอยู่แล้วไม่สามารถก่อให้เกิดอันตรายกับรัฐบาลหรือขบวนการเสรีไทยได้ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถดตัดข้อสันนิษฐานอีกเรื่องหนี่งคือ “การถูกฆ่าตัดตอน” มิให้สาวถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆได้ด้วยเช่นกัน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


อ้างอิง
[1] ประวัตินายวนิช ปานะนนท์, ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กับครั้งกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น ภาค 6, พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นายวนิช ปานะนนท์, ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2490

[2] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 166
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช 2481, เล่ม 56, วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2481, หน้า 327-333
https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/previewer.php

[4] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 100-106

[5] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, งบดุลของบริษัท ข้าวไทย จำกัด, 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 บริษัทข้าวไทยได้เพิ่มทุนขึ้นเป็น 6,000,000 บาท ในปี พ.ศ. 2489 กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ข้าวไทย จำกัด พ.ศ. 2489

[6] สมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย), สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2522

[7] รัศมี ชาตะสิงห, “บทบาทของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาในระยหกปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2476-2481),วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตยวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521 หน้า 490

[8] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าพระราชทานยศ จอมพล จอมพลเรือและจอมพลอากาศ แก่นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ด้วยคธาจอมพล, เล่มที่ 58 วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 หน้า 981-984
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/981.PDF

[9] บันทึกข้อความของ ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ ภายหลังถูก พ.ท.ผิน ชุณหะวัณ มีคำสั่งปลดอออกจากราชการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

[10] หนังสือพิมพ์ศรีกรุง, ข่าวทองคำจะถึงแล้ว ทางการญี่ปุ่นให้ความอารักขาในการนำส่ง ทางเราได้จัดตั้งคณะกรรมการรับมอบแล้ว, ปีที่ 22 ฉะลับที่ 4774 วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2484,หน้า 11 ต่อหน้าหลัง

[11] พีระ เจริญวัฒนนุกูล, การ(บ่น)ลาออกแต่ไม่ยอมออก เครื่องมือทางการเมืองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2559, เผยแพร่ลงเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม,วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2563
https://www.silpa-mag.com/history/article_43489

[12] บัตรสนเท่ห์และการตั้งการสืบสวนกรณีดังกล่าวได้จาก (3) สร. 0201.2.7/49 เรื่อง นายวนิช ปานะนนท์, นายยล สมานนท์ กับพวกทุจริตเรื่องขายทองของธนาคารไทยจำกัด (14 ก.ย.-20 มี.ค. 2488). ทั้งนี้ ดูความร้อนรนใจของญี่ปุ่นที่จะช่วยเหลือนายวนิชในกรณีดังกล่าวได้จากเอกสารชุดเอกสารที่ฝ่ายอเมริกันตัดสัญญาณได้จาก Tsubokami Teiji (19 September 1941). in The “Magic” Background of Pearl Harbour. (Washington, D.C. : Department of Defense, 1977), V. 3 Appendix, p. A-649.

[13] รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 56/2484 วันที่ 22 ตุลาคม 2484

[14] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 165

[15] สุพจน์ ด่านตระกูล, บทนำวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2544 หนังสือคำการต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสพิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 1-25

[16] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 64
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[17] วิวัฒนไชยานุสรณ์, ธนาคารแห่งประเทศไทย พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ณ เมรุ วัดเทพศิรินทราวาส , วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ.2505, หน้า 29-33

[18] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 2/2484 (วิสามัญครั้งที่ 3) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 36-38
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73406/2_24841212_wb.pdf?sequence=1

[19] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 3/2484 (วิสามัญครั้งที่ 3) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 46-49
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73407/3_24841216_wb.pdf?sequence=1

[20] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 4/2484 (วิสามัญครั้งที่ 3) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 61-63
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73408/4_24841223_wb.pdf?sequence=1

[21] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 138-139
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[22] เรื่องเดียวกัน, หน้า 124-125

[23] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 372-375

[24] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 97

[25] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 76

[26] ธนาคารแห่งประเทศไทย, “ประวัติธนาคารแห่งประเทศไทย”(พระนคร:ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2513), อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลเอกเภา บริภัณฑ์ยุทธกิจ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523, หน้า 2

[27] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 49-50

[28] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ไทย-ญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จากสายตาของแม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, นำเสนอในงานวิชาการในปี พ.ศ. 2532 จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปี 2534,หน้า 39-40
https://so02.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/download/52233/43310




กำลังโหลดความคิดเห็น