หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ตอนที่เขียนต้นฉบับ ผมยังไม่รู้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะมีมติอย่างไร แต่สุดท้ายก็เชื่อว่า ฝ่ายรัฐบาลซึ่งครองเสียงข้างมากก็น่าจะผ่านพ้นปัญหาต่างๆไปได้ด้วยดี การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเพียงกิจกรรมที่พรรคฝ่ายค้านต้องกระทำเท่านั้นเองไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นอะไร
แม้การเมืองจะแบ่งฝ่ายกันเล่นตามกติกาเมื่อฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเสียงข้างมากเป็นรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่การเมืองก็คือการเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร วันหนึ่งนักการเมืองสองฝั่งก็อาจจะมาร่วมงานกันหรือย้ายมาอยู่ฝั่งเดียวกันได้ ต่างกับประชาชนทุกวันนี้ที่แบ่งฝักฝ่ายออกเป็นสองฝ่ายและยึดถือขั้วการเมืองต่างกันนั่นต่างหากที่โกรธแค้นเกลียดชังเอาเป็นเอาตายกันจริงจังยิ่งกว่านักการเมือง
ประชาชนต่างหาถ้อยคำกันมาเหยียดหยามฝ่ายตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นควายแดง ความเหลือง ควายส้ม สลิ่ม ล้วนแล้วแต่เป็นคำที่เสียดเย้ยดูหมิ่นดูแคลนว่าฝ่ายตรงข้ามของตัวเองไม่มีความคิด ไม่รู้จักแยะแยะผิดถูก ต่างกล่าวหากันว่าหลงมัวเมากับผู้นำของฝ่ายตัวเองแบบยึดติดตัวบุคคลจนโงหัวไม่ขึ้น
ต้องยอมรับว่าสิบกว่าปีมานี้ความขัดแย้งของภาคประชาชนที่ผ่านการเล่นสงครามสีเสื้อนั้น กลายเป็นเหยื่อของนักการเมืองที่เชิดให้ประชาชนห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ในขณะที่นักการเมืองนั้นถึงเวลาก็หันหน้าเข้าหากันและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันได้ตลอดเวลา
คำถามว่าสังคมไทยจะมีสภาพแบบนี้ไปอีกนานไหม
ดูเหมือนว่า คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสลิ่มนั้น เป็นพวกอนุรักษ์นิยม ที่พอใจกับรัฐบาลแบบอำนาจนิยมมากกว่าจะให้นักการเมืองที่มีภาพของพวกหาประโยชน์เข้ามาบริหารบ้านเมือง คนเหล่านี้สูญสิ้นความหวังกับนักการเมืองไปนานแล้ว ถ้าถามว่าอะไรทำให้พวกเขาเป็นแบบนั้น ก็ต้องตอบว่า พวกเขาเข็ดหลาบกับนักการเมืองแบบทักษิณนั่นแหละ แต่ผมไม่คิดนะว่า พวกเขาจะเกลียดประชาธิปไตยอย่างที่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหา แต่อาจจะมองว่าประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบของการมีผู้บริหารประเทศที่ดีเพียงอย่างเดียว
สำหรับผมแล้วระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เครื่องมือในการเลือกคนที่ดีที่สุด คนที่เก่งที่สุด คนที่มีความสามารถมากที่สุด แต่เป็นเครื่องมือในการเลือกคนที่มีพวกมากที่สุดเท่านั้นเอง ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นโจร เราก็จะได้ผู้นำโจรมาบริหารประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านได้ แม้จะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งก็ตาม
แล้วคนที่เกลียดสลิ่มเขาต้องการการเมืองแบบไหนและต้องการให้บ้านเมืองพัฒนาไปอย่างไร สิ่งที่เห็นคือ พวกเขาต่อต้านระบอบกษัตริย์ และเชิดชูนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นตัวแทนของพวกเขาที่แท้จริง
ครั้งหนึ่ง ปิยบุตร แสงกนกกุล ศาสดาคนหนึ่งของฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยม เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่เราต้องยอมรับ คือธรรมชาติของสถาบันพระมหากษัตริย์คือสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้วกับโลกสมัยใหม่ ความล้าสมัยคือ 1.การเอาอำนาจสูงสุดไปอยู่ไว้ที่คนๆ เดียว 2.คนๆ นั้นสืบทอดมาตามสายเลือด 3.การไม่แบ่งแยกเรื่องสาธารณะกับเอกชนออกจากกัน แต่เหตุใดหลายๆ ประเทศยังคงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ได้อยู่ หากเราไปดูในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายเกิดขึ้นเพียงสองทางเท่านั้น คือกลายมาเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย (Constitutional Monarchy) หรือกลายมาเป็นสาธารณรัฐ สุดท้ายถ้ากษัตริย์ไม่ปรับตัว หน่วยอำนาจใหม่ชนะก็จะกลายเป็นสาธารณรัฐ แต่ถ้าไปดูประเทศที่เปลี่ยนมาเป็น Constitutional Monarchy ได้ ก็เพราะกษัตริย์ยอมลดทอนอำนาจตัวเองลงให้มาอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้
ปิยบุตรบอกว่า ประเทศที่สถาบันกษัตริย์ปรับตัวไม่ได้แล้วปลาสนาการหายไปจากแผ่นดินนั้นเลย เหตุหลักๆ เป็นเพราะไปเหนี่ยวรั้งขัดขืนการเปลี่ยนแปลง
ไม่ต้องสงสัยว่า การแสดงออกของเขาพอทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าสิ่งที่ปิยบุตรใฝ่ฝันนั้นไม่ใช่ Constitutional Monarchy หรอก แต่เป็นระบอบสาธารณรัฐ เพราะถ้าเขาใฝ่ฝัน Constitutional Monarchy ตอนนี้ประเทศของเราก็เป็น Constitutional Monarchyอยู่แล้ว
พระมหากษัตริย์ของไทยเพียงแต่มีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ผ่านสถาบันต่างๆ ของรัฐ คือ บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 ได้กำหนดว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
รวมถึงมาตรา 6 ที่บัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” โดยจะไม่ทรงประกอบการใดทางการเมืองด้วยพระองค์เอง ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ หากเกิดความคลาดเคลื่อนผิดพลาดใดๆ ย่อมถือว่ามิได้ทรงกระทำผิด เพราะบุคคลที่รับผิดชอบต่อความคลาดเคลื่อนผิดพลาดนั้น คือองค์กรเจ้าของเรื่องและผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ที่ถือเป็นผู้แทนขององค์กรนั้นๆ ในรัฐธรรมนูญ และพระมหากษัตริย์มีอำนาจจำกัดตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ทั้งนี้มาจากหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong )
ดังนั้นไม่เข้าใจเลยว่าสิ่งที่ปิยบุตรเรียกร้อง ระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย (Constitutional Monarchy)ภายใต้ความเป็น ระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย (Constitutional Monarchy)อยู่แล้วนั้นคืออะไร
ม็อบที่ปรากฏตัวอยู่บนถนน ณ เวลานี้นั้นก็ชัดเจนว่า ใฝ่ฝันระบอบสาธารณรัฐผ่านการแสดงออกด้วยคำพูดที่พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบกษัตริย์อย่างเปิดเผย และแสดงออกราวกับว่าระบอบกษัตริย์นั้นเป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่จริงๆแล้วพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจและทำประโยชน์ให้กับประเทศอย่างอเนกอนันต์ ชนิดที่นักการเมืองไม่อาจเปรียบเทียบได้เลย
การสืบทอดพระราชวงศ์โดยสายเลือดจึงเป็นสิทธิอันชอบธรรม แต่รัฐไทยหาได้เอาอำนาจไว้ที่คนๆ เดียวอย่างที่ปิยบุตรกล่าวหา เพราะมีหลักการคานอำนาจและพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จำกัด และการสืบทอดโดยสายเลือดของกษัตริย์ก็เป็นเรื่องของความชอบธรรมเป็นอกาลิโกไม่ใช่เรื่องของความทันสมัยหรือล้าสมัย
นอกจากนั้นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยังเปิดโอกาสให้เลือกนายกรัฐมนตรีมาบริหารประเทศ แยกออกจากพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนหลักการไม่สืบทอดอำนาจโดยสายเลือดนั้นควรเป็นเรื่องของนักการเมืองไม่ใช่พระมหากษัตริย์ แต่จริงๆ แล้ว ระบอบประชาธิปไตยก็ให้สิทธิ์ประชาชนที่อาจจะเลือกนักการเมืองแบบสืบทอดอำนาจทางสายเลือดก็ได้ ดังที่เราเห็นตระกูลนักการเมืองอย่างดาษดื่นมาทุกยุคทุกสมัย เพราะนั่นเป็นเสรีภาพของประชาชน
ลองเอานักการเมืองทุกคนที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุดมาสักคน และลองเอาพระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำมาเปรียบเทียบกันแล้วเราทั้งคำถามว่าเราต้องการประมุขของรัฐแบบไหน เราต้องการประมุขของรัฐที่เป็นประธานาธิบดีและมาจากนักการเมืองหรือ
แม้ว่าม็อบและผู้สนับสนุนรวมถึงปิยบุตร ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ประจักษ์ ก้องกีรติ ฯลฯ จะแสดงออกว่าพวกเขาต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ถ้าเราฟังความเห็นคำพูดและการแสดงออกของพวกเขาก็ชัดเจนว่าการปฏิรูปนั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการอำพรางเท่านั้นเอง
สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 อยู่บนถนนในเวลานี้ก็เพื่อพวกเขาจะสามารถด่าทอ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ได้อย่างสนุกปากเท่านั้นเอง เพราะในขณะที่ยังมีมาตรา 112 อยู่ ใครที่ติดตามการชุมนุมเราก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกเขาก็ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และด่าทอพระมหากษัตริย์กันอย่างโจ่งแจ้ง และเมื่อการแสดงออกเข้าข่ายความผิดแล้วถูกดำเนินคดี พวกเขาก็จะกล่าวหาว่ารัฐใช้มาตรา 112 มารังแก
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขามุ่งหวังนั้นเกิดขึ้นได้แน่ ถ้าคนในสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วย และคิดว่าทางเลือกนั้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่คำถามว่า วันนี้พวกเขาได้ถามคนในสังคมหรือยัง ผมเชื่อเลยว่า คนจำนวนน้อยมากที่เห็นด้วยกับสิ่งที่ฝ่ายม็อบและฝ่ายสนับสนุนม็อบกำลังเคลื่อนไหว และไม่มีวันยอมให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้โดยง่าย
เหมือนที่สมศักดิ์ เจียม เองก็ยอมรับแล้วว่า ตอนนี้ ไม่ว่าจะประเมินอย่างไร ต้องบอกว่า เรายังไม่พร้อม ยังมีคนจำนวนมหาศาลที่ยังไม่เอาด้วยกับเรา
สิ่งที่สมศักดิ์ เจียมพูดนั้นคือ ความจริงของสังคมไทยวันนี้ เราจึงเห็นแนวร่วมของม็อบร่อยหรอลงทุกวัน เพียงแต่วันนี้คนส่วนใหญ่ของสังคมยังคงอดทนอดกลั้นกับสิ่งที่ม็อบและฝ่ายสนับสนุนกำลังแสดงอยู่ เพราะรู้ว่า ฝ่ายที่ต้องการระบอบสาธารณรัฐต้องการใช้เด็กที่พวกเขายุยงออกมาเป็นเหยื่อของความรุนแรง
สิ่งที่รัฐทำได้ในขณะนี้คือ ใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหา และใช้ความระมัดระวังอย่างถึงที่สุด จนกระทั่งบางฝ่ายกลับเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมของเราอ่อนแอและอ่อนข้อให้กับผู้ชุมนุมมากเกินไป
แต่ปัญหาสำหรับอนาคตคือ วันนี้คนรุ่นใหม่ที่ได้รับการบ่มเพาะในมหาวิทยาลัยตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาจารย์พวกปฏิกษัตริย์นิยม มหาวิทยาลัยหลายคณะถูกยึดครองโดยอาจารย์เหล่านี้ ที่พวกเขามีทักษะและอวิชชาในการกล่าวหากับความเป็นรัฐและกระบวนการทางกฎหมาย เราจึงเห็นพวกเขาออกมาแสดงตัวจำนวนมากเมื่อรัฐใช้กฎหมายเข้ามาเล่นงานคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
และไม่ว่าประเทศไหนในโลกนี้ก็ตามคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ โดยไม่ใช่การเกิดขึ้นของประชาชนปฏิวัติ(people's uprising)นั้น รัฐย่อมมีความชอบธรรมที่ใช้มาตรการทางกฎหมายในการจัดการและถือเป็นโทษที่รุนแรงทั้งสิ้น ไม่ได้เลือกว่าคนนั้นจะเป็นคนหนุ่มสาว เป็นเด็กหรือนักเรียนนักศึกษา
ผมเคยเอ่ยชื่อหลายคนมาแล้วว่าแอบอยู่ข้างหลังม็อบใช้เด็กเป็นเกราะกำบัง ในวันนี้ผมก็อยากเรียกร้องให้อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ที่เห็นด้วยกับระบอบสาธารณรัฐหรือมองว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นความล้าหลังจนเรียงหน้ากันออกมานำม็อบแทนเด็กที่เป็นลูกศิษย์
แล้ววันนั้นจะได้เห็นว่า สิ่งที่สมศักดิ์ เจียมบอกว่า คนจำนวนมหาศาลที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเรานั้นเป็นความจริงไหม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan