xs
xsm
sm
md
lg

“นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจสื่อสาร” ลักษณะต้องห้าม กสทช. ที่กรรมการสรรหางง!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พันธุ์ศักดิ์ ซาบุ




โดย พันธุ์ศักดิ์ ซาบุ
ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบโครงการด้านดิจิทัล และการพัฒนาสู่สังคมดิจิทัลวิถีใหม่


วันนี้วุฒิสภาเห็นชอบตามร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ ที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร และทันทีที่ประกาศบังคับใช้ จะสรรหา กสทช. ชุดใหม่ใน 15 วัน นั่นหมายความว่า การเลือก กสทช. ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ กสทช. ชุดใหม่จะได้ทำงานเพียง 3 เดือน!!! แล้วจะสรรหาเพื่อ??

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ล้มไม่ล้มการสรรหา กสทช. ทั้งสื่อมวลชน คนในวงการสื่อสาร และประชาชนต่างให้ความสนใจว่า สว. จะมารูปแบบไหน ต่างก็เริ่มมีข้อกังขา ทั้งเรื่องลักษณะต้องห้าม และคุณสมบัติ เรื่องประสบการณ์ไม่ต้องพูดถึง เกินครึ่งไม่ใช่คนที่มีชื่อในวงการสื่อสาร แล้วจะมีความเชี่ยวชาญประสบการณ์ได้อย่างไร เป็นเรื่องแปลกที่คณะกรรมการสรรหาเห็นต่างจากประชาชน และทำไมต้องเอาอำนาจประชาชนไปให้คน 7 คน เป็นกรรมการสรรหาเลือกด้วย ซึ่งก็ไม่ได้มาจากประชาชน และไม่ใช่คนที่มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการสื่อสาร ดังปรากฏชัดว่า “ไม่เข้าท่า” เลือกผู้เชี่ยวชาญวิทยุกระจายเสียงก็ได้ทหาร เลือกผู้มีประสบการณ์คุ้มครองผู้บริโภคก็ได้ตำรวจ เลือกคนทำงานเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่ได้นักเศรษฐศาสตร์ เลือกคนทำงานวิศวกรรมก็ไม่ได้วิศวกร เป็นต้น

ข้อสังเกตอีกประการ คือ กรรมการสรรหาส่วนใหญ่ไม่ได้จบกฎหมาย ทำให้เมื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ตรงกัน จึงไม่ยอมประกาศรายชื่อผู้ผ่านการตรวจคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งลักษณะต้องห้ามที่สังคมจับตาคือ ผลประโยชน์ทับซ้อน กล่าวคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงนั่นเอง

โดยเฉพาะ มาตรา 7 ข. (12) พ.ร.บ. กสทช. บัญญัติไว้ว่า “เป็นหรือเคยเป็น กรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือก"

หลักกฎหมายในมาตรานี้กำหนดลักษณะต้องห้ามป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน กล่าวให้ชัดๆ เข้าใจง่ายคือ “ห้าม กรรมการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้น นิติบุคคล ที่ประกอบธุรกิจสื่อสาร ภายใน 1 ปี เป็น กสทช.”

นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ไม่ได้แปลว่าเฉพาะ ผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เท่านั้น ตรงกันข้ามกฎหมาย “ไม่มีคำว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเลย” ข้อเท็จจริงนั้นผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นหรือนิตุบุคคลที่ประกอบธุรกิจสื่อสารก่อนตรา พรบ. กสทช. ไม่ต้องได้รับใบอนุญาต แต่อยู่ภายใต้การกำกับ กสทช. และไม่ใช่หมายถึงวัตถุประสงค์บริษัทในบริคณห์สนธิด้วย เพราะการจดวัตถุประสงค์อย่างเดียว ยังไม่ลงมือทำธุรกิจ

“อะไรคือ นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจ กระจายเสียง หรือ โทรคมนาคม?” อย่างแรกต้องเป็น นิติบุคคลก่อน และประกอบธุรกิจสื่อสาร ผู้เขียนไม่ยืนยันฟันธง แต่ยกหลักกฎหมายให้วิญญูชนพึงพิจารณาด้วยตนเองดังนี้

กองทัพอากาศ เป็นนิติบุคคลหรือไม่? คำตอบ “เป็น”

กองทัพอากาศมีสถานีวิทยุกระจายเสียงมากมายทั่วประเทศ แล้วกองทัพอากาศเก็บค่าโฆษณาหรือสัมปทานเวลาออกอากาศสถานีวิทยุหรือไม่?

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสถานีวิทยุกระจายเสียง เก็บค่าโฆษณาหรือสัมปทานเวลาออกอากาศ เช่นกัน เป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจกระจายเสียงหรือไม่?

แม้แต่สำนักงาน กสทช. เอง ก็มีสถานีวิทยุ 1 ปณ. เก็บค่าโฆษณาหรือสัมปทานเวลาออกอากาศเช่นกัน และยิ่งกว่านั้น สำนักงาน กสทช. น่าจะเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย จากโครงการเน็ตชายขอบ ลงทุนเองเป็นหมื่นล้าน และเก็บรายเดือนจากประชาชนเดือนละ 200 บาท ครบองค์ประกอบธุรกิจ ถ้าตีความดังนี้ กรรมการ ผู้บริหาร และที่ปรึกษา จาก กสทช. ก็มีลักษณะต้องห้าม

แม้จะตอบว่า “ใช่” แต่อาจจะเลี่ยงบาลีแบบศรีธนญชัยได้ว่า “ไม่ได้ประกอบธุรกิจ” เพราะตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ธุรกิจ คือ การงานประจำเกี่ยวกับอาชีพค้าขาย หรือกิจการอย่างอื่นที่สำคัญและที่ไม่ใช่ราชการ และการมุ่งหากำไร แต่กองทัพเป็นราชการ ไม่มุ่งหากำไร แม้จะมีกำไรก็ตาม

ส่วนสำนักงาน กสทช. และจุฬาฯ ไม่ใช่ราชการ อันนี้น่าจะโดนเต็มๆ

แต่อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้วางมาตรฐานเป็นกรณีศึกษาไว้น่าสนใจในการเลือก กตป. หรือสื่อมวลชนเรียกว่า ซุปเปอร์บอร์ด กสทช. ซึ่งต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 7 ข. (12) พ.ร.บ. กสทช. 1 ปี ก่อนได้รับเลือกเช่นกัน ซึ่งในครั้งนั้น พันเอก พีรวัส พรหมกลัดพะเนาว์ เป็นกรรมการ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด อยู่แต่ก็ได้รับเลือก โดยได้ลาออก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 (ไม่นับวันอนุมัติ) ภายหลังที่ สนช. เลือกเป็นซุปเปอร์บอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 62 หลายคนอาจจะสงสัยว่า บริษัท วิทยุการบินฯ คือ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. เต็มๆ แล้ว พันเอก พีรวัส ไม่ได้ลาออก 1 ปีก่อนได้รับเลือก ทำไมไม่ขัดลักษณะต้องห้าม?

สายข่าวคาดเดาอย่างไม่ยืนยันข้อเท็จจริงว่า นั่นเพราะ สนช. ประชุมลับ แล้ววางหลักไว้ว่าแม้ บริษัท วิทยุการบินฯ เป็นนิติบุคคล แต่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้มุ่งหากำไร ดังนั้นไม่ใช่แค่ราชการเท่านั้น แต่นิติบุคคล หรือ บริษัท หรือ รัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจหรือมุ่งหากำไรน่าจะไม่ขัดลักษณะต้องห้ามทั้งสิ้น แต่ถ้ามองเจตนาของกฎหมายจะกลับกัน คือ กรรมการฟุตบอล ไม่ควรเป็นนักฟุตบอลจากสโมสรใดมาเป็นกรรมการ ประเทศไทยก็ขึ้นอยู่ว่าจะตัดสินยังไงดี

อันที่จริงถ้าถามกลับว่า แล้ว บริษัท ที่มุ่งหากำไร แต่เจ๊ง ไม่มีกำไร เพราะมีหน่วยราชการที่ไม่มุ่งหากำไร แต่ทำกำไรมหาศาล ลงมาแข่งขันกับบริษัทจริง แย่งลูกค้ากันจริง ขายโฆษณาแข่งกันจริง ยุติธรรมไหม? และ กสทช. ก็ต้องกำกับดูแลจริงให้ใช้คลื่นไม่ต่างกัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะกรรมการสรรหาได้มีหนังสือไปยัง สำนักงาน กสทช. สอบถามรายชื่อองค์กรที่บรรดาผู้สมัคร กสทช. ทำงานอยู่ว่าเป็น ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่? ซึ่งองค์กรไหนไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ สำนักงาน กสทช. ก็ตอบว่าไม่เป็น อย่างผู้สมัครบางรายเป็นกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม จาก กสทช. สำนักงาน กสทช. ก็ตอบว่าเป็นผู้รับใบอนุญาต แต่แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้มีลักษณะต้องห้ามก็ยังได้คะแนน

กฎหมายเขียนว่า “นิติบุคคลอื่นใดที่ประกอบธุรกิจด้าน กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม” เป็น กสทช. ไม่ได้ ไม่ใช่เป็นผู้รับใบอนุญาตเท่านั้น เพราะนิติบุคคลบางรายได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต ถามมาแค่ไหนสำนักงาน กสทช. ก็เลยตอบแค่นั้น ไม่ได้ถามความเห็นว่า นิติบุคคลอื่นใดที่ประกอบธุรกิจด้าน กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ที่กฎหมายเขียนไว้ เป็นใครได้บ้าง !!! ประเด็นนี้จะต้องถูกนำมาพูดถึงเพื่อวางบรรทัดฐานในการสรรหา กสทช. และวัดกึ๋น สว. ว่าท่านใดจะแจ่มแจ๋วกว่ากัน


กำลังโหลดความคิดเห็น