xs
xsm
sm
md
lg

คนมิใช่ระบอบ : ปัจจัยสำคัญในการปกครองประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



จากอดีตจนถึงปัจจุบัน การปกครองประเทศแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบหรือ 2 ระบอบ โดยอาศัยลักษณะการใช้อำนาจในการปกครองคือ

1. ระบอบเผด็จการ ซึ่งอำนาจการตัดสินใจสั่งการขึ้นอยู่กับผู้ปกครองสูงสุดเพียงคนเดียว ถึงแม้จะมีที่ปรึกษาก็เพียงส่วนประกอบในการตัดสินใจเท่านั้น

2. ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน และประชาชนใช้อำนาจโดยการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ใน 2 ด้านคือ

2.1 ด้านนิติบัญญัติ คือการออกกฎหมายเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศ โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวมเป็นหลัก

2.2 ด้านบริหาร คือการทำหน้าที่ขจัดทุกข์และสร้างเสริมความสุขแก่ประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง โดยเสมอภาคกันภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย ซึ่งทางฝ่ายนิติบัญญัติได้จัดทำขึ้น

ในการปกครองทั้ง 2 ระบอบดังกล่าวข้างต้น แต่ละระบอบมีข้อดีและข้อด้อย ซึ่งพอจะอนุมานโดยอาศัยหลักแห่งตรรกศาสตร์ดังต่อไปนี้

1. ระบอบเผด็จการ มีข้อดีก็คือ ดำเนินการได้รวดเร็ว ดังนั้น ถ้าผู้นำสูงสุดในระบอบนี้มีความรู้ มีความสามารถ และมีคุณธรรมกำกับการใช้อำนาจ ประกอบกับการทำทุกอย่าง โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนโดยรวมเป็นหลัก ประเทศก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ในทางกลับกัน ระบอบนี้ก็มีข้อด้อย ถ้าผู้นำสูงสุดมีความรู้ มีความสามารถแต่ขาดคุณธรรมกำกับการใช้อำนาจ เห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ก่อนเห็นประโยชน์ของประเทศ และประชาชน สุดท้ายประเทศก็หายนะ ประชาชนก็เดือดร้อน ยิ่งถ้าผู้นำไม่มีความรู้ ความสามารถด้วยแล้ว จะยิ่งหายนะเป็นทวีคูณ

2. ระบอบประชาธิปไตย มีข้อดีคือ ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ โดยการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ในสองด้านดังกล่าวแล้วข้างต้น โดยแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ

2.1 ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการที่พรรคการเมืองพรรคเดียวหรือหลายพรรครวมกันแล้วได้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของเสียงทั้งหมดในสภาฯ จัดตั้งรัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศ

2.2 ฝ่ายค้าน คือฝ่ายที่มีเสียงข้างน้อยในสภาฯ ทำหน้าที่ติดตามการทำงานของฝ่ายรัฐบาล และเมื่อพบว่า ฝ่ายรัฐบาลทำงานบกพร่อง ผิดพลาด อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ และประชาชน ก็ทำการท้วงติง พร้อมกับให้คำเสนอแนะแนวทางแก้ไข โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง

ประเทศไทย นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือประมาณปี พ.ศ. 1800 เป็นต้นมา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเต็มในการปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ ซึ่งเปรียบได้กับระบอบเผด็จการ แต่ถึงกระนั้น พสกนิกรของพระองค์ก็อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา และที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ และพระกษัตริย์ทุกพระองค์เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก และทรงมีทศพิธราชธรรมหรือธรรมของพระราชา 10 ประการคือ 1. ทาน คือการให้ 2. ศีล คือข้อห้ามทางศาสนา เพื่อให้เกิดการสำรวม กาย วาจา โดยการงดเว้นจากกายทุจริต และวจีทุจริต 3. ปริจาคะ คือการเสียสละ 4. อาชชวะ คือความซื่อตรง 5. มัททวะ คือความอ่อนไหว 6 ตปะ คือการเผาผลาญกิเลส 7 อักโกธะ คือความไม่โกรธ 8 อวิหิงสาคือไม่เบียดเบียน 9 ขันติ คือความอดทน 10 อวิโรธนะ คือความหนักแน่นในธรรม

ยิ่งกว่านี้ ภายใต้ระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเทศไทยได้รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตกในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ และแม้กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว ประเทศไทยก็ยังรอดพ้นจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๙

ส่วนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ถึงแม้จะมีมายาวนานถึง 80 กว่าปีแล้ว แต่ก็ไม่ก้าวไปเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบัน การปกครองในประเทศไทย ได้มีการสลับขั้วเปลี่ยนกันระหว่างระบอบเผด็จการ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหลายครั้ง และการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งเกิดจากผู้ที่เข้ามามีอำนาจรัฐมิได้ทำเพื่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง จนทำให้ประชาชนเบื่อ และลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

2. ในด้านประชาชน ก็มีส่วนในการทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากว่าในการเลือกตั้ง ส.ส.ทุกครั้ง จะมีข่าวการทุจริตการเลือกตั้ง โดยการซื้อสิทธิ ขายเสียง จึงทำให้นักธุรกิจการเมืองเข้าสู่อำนาจได้โดยการใช้เงิน และเมื่อได้อำนาจรัฐแล้วก็กอบโกยเพื่อถอนทุน และเก็บไว้เป็นทุนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีข้อด้อย และกลายเป็นเหตุอ้างในการเกิดการทำรัฐประหาร และปกครองด้วยระบอบเผด็จการ

แต่ก็ทำนองเดียวกับรัฐบาลเผด็จการ เมื่ออยู่นานก็เหลิง และหลงอำนาจ แสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ จนทำให้ประชาชนเบื่อ และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งจนกลายเป็นวงจรทางการเมืองในทำนองนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้คนมิใช่ระบอบที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการปกครอง


กำลังโหลดความคิดเห็น