อาจารย์ ดร.ศาสดา วิริยานุพงศ์
สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีกรณีที่ศาลอาญาได้ยกคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ให้ศาลสั่งปิด URL 3 ลิงค์ คือ เฟซบุ๊กไลฟ์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ วีดิโอที่เผยแพร่อยู่ในยูทูป และเว็บไซต์ของคณะก้าวหน้าที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้คงจะได้มีการถกเถียงในทางวิชาการกันต่อไป แต่อีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะไม่ได้เกิดจากการยกคำร้องของศาลโดยตรงคือ มีการพยายามบอกว่า “ศาลได้สร้างบรรทัดฐานใหม่” ในการพิจารณาตัดสินคำร้อง ประโยคดังกล่าวนี้สะกิดใจผู้เขียนและนักกฎหมายหลายท่าน ว่า ศาลในระบบซีวิลลอว์ (Civil Law) นั้นสร้างบรรทัดฐานใหม่ได้อย่างไร โดยเฉพาะกรณีดังกล่าวข้างต้นซึ่งเป็นเพียงกรณีเดียวที่ศาลมีความเห็นเช่นนี้และก็ไม่ได้เป็นการพิจารณาโดยศาลสูงสุด หรือจะเป็นเพียง “วาทกรรมทางกฎหมาย” ที่ทำให้ศาลต้องมาเป็นประเด็นของสังคม คำกล่าวที่ว่า ศาลได้สร้างบรรทัดฐานใหม่นี้ มีขึ้นเพื่อชี้นำความถูกต้องให้แก่สังคมจริงหรือ หรือเป็นเพียงการสร้างคำเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับเฟซบุ๊กไลฟ์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ วีดิโอที่เผยแพร่อยู่ในยูทูป และเว็บไซต์ของคณะก้าวหน้า แต่เพียงเท่านั้น
ก่อนอื่นเราคงต้องมารู้จักหรือทำความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องระบบกฎหมาย ระบบกฎหมายใหญ่ๆ ของโลกมีอยู่ 2 ระบบที่สำคัญ ได้แก่ ระบบซีวิลลอว์ (Civil Law) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สเปน อิตาลี รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป อเมริกา เอเชีย แอฟริกา และระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย และประเทศที่รับอิทธิพลจากการปกครองของอังกฤษ สำหรับประเทศไทยนั้น ในช่วงการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และกฎหมาย เพื่อให้รอดพ้นจากลัทธิการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยเลือกระบบซีวิลลอว์เป็นระบบกฎหมายของไทย ดังเช่นประเทศในภาคพื้นยุโรปตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ความแตกต่างของระบบซีวิลลอว์กับระบบคอมมอนลอว์ ประการสำคัญประการหนึ่ง คือ บ่อเกิดและที่มาของกฎหมาย ระบบคอมมอนลอว์ คำวินิจฉัยของศาลสูงเป็นที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมาย หรือที่เรียกว่า Case Law ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลสูงนี้จะเป็นการสร้างหรือวางบรรทัดฐานใหม่ ทำให้เมื่อเกิดข้อพิพาทที่มีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันเกิดขึ้น ศาลก็ก็จะยึดถือตามที่ได้เคยตัดสินวางบรรทัดฐานไว้ในคดีก่อนหน้า หลักการว่าด้วย “บรรทัดฐานคำพิพากษา” นั้น มาจากภาษาละตินว่า stare decisis ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า to adhere to precedents ทำให้เมื่อเกิดข้อพิพาทที่มีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันเกิดขึ้นนศาลก็ก็จะยึดถือตามที่ได้เคยตัดสินวางบรรทัดฐานไว้ในคดีก่อน ๆ ส่วนในระบบซีวิลลอว์ คำวินิจฉัยของศาลสูงเป็นเพียงการปรับใช้กฎหมายในแต่ละคดีที่เกิดขึ้นเท่านั้น หากมีคดีใหม่เข้าสู่การพิจารณาของศาล ศาลไม่จำเป็นจะต้องยึดถือหรือตัดสินตามคำวินิจฉัยเดิมแต่ประการใด
สำหรับประเทศไทยนั้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าระบบกฎหมายของเรานั้นเป็นระบบซีวิลลอว์ แนวคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดในคดีที่มีข้อพิพาทนั้น ไม่ถือเป็นกฎหมายและไม่อาจเรียกว่า เป็นบรรทัดฐาน หรือ norm ได้ เพียงแต่ถ้าเป็นแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาที่มากด้วยประสบการณ์ประกอบกันเป็นศาลสูงสุด แนวคำพิพากษาจึงมีน้ำหนักให้ศาลต่าง ๆ ถือปฏิบัติถ้ามีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน อย่างไรก็แล้วแต่ ศาลต่าง ๆ มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยไม่จำเป็นต้องถือปฏิบัติตามก็ได้
ดังนั้น กรณีที่ศาลอาญาได้ยกคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในครั้งนี้นั้น และต่อมาได้มีการกล่าวถึงว่า นี้คือ บรรทัดฐานใหม่ จึงอาจทำให้ผู้คนทั่วไปที่ได้อ่านหรือได้ฟัง เข้าใจไขว้เขวว่า หากมีคำร้องในกรณีที่ใกล้เคียงกันนี้ ศาลก็จะตัดสินยกคำร้องในแบบเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วคำตัดสินของศาลอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป