ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สมมุติว่า มีเด็กหญิงสาวบริสุทธิ์อายุ 14 ปี ถูกลากไปกระทำชำเราและถ่ายวีดิโอเก็บไว้ หลังจากนั้นก็มีคลิปหลุดออกมาในอินเทอร์เน็ต
เด็กหญิงสาวคนนี้ทั้งอายทั้งเจ็บตัวทั้งกลัวติดโรคร้าย
พ่อแม่ของเด็กพาเด็กไปพบแพทย์ ตรวจร่างกาย และรับยาต้านไวรัส HIV หลังจากนั้นไปประสานงานที่กระทรวงดีอีเอส พร้อมกับแจ้ง URL ให้ปิดกั้น เพื่อให้ลูกสาวไม่ต้องอายและกลับไปเรียนหนังสือได้ ไม่เช่นนั้นจะอายเพื่อนมาก
กระทรวงดีอีเอส แจ้งว่า ไม่สามารถปิดกั้นได้ทันที เพราะว่า คำพิพากษาศาลอาญา กรณี Facebook Live วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้คัดค้านการปิดกั้นกับศาลอาญา ซึ่งแต่เดิม ศาลอาญาแค่รับเรื่องจากกระทรวงดีอีเอส ก็สามารถปิดกั้นได้แล้ว
แต่คำพิพากษาคดีดังกล่าว ได้หักแนวทาง โดยระบุว่าต้องอนุโลมใช้ ป.วิ.อาญา คือต้องมีการไต่สวนสองฝ่าย ต้องไปศาลก่อน ที่ศาลอาญาองค์คณะก่อนปิดกั้น ทำไม่ถูกต้องตามวิธีการกระบวนการทางกฎหมาย ต้องไต่สวนสองฝ่าย จึงจะปิดกั้นได้ และศาลต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป
ผลของคำพิพากษานี้น่าสนใจ
หนึ่ง ศาลหักคำพิพากษาขององค์คณะก่อนที่ปิดกั้นการเผยแพร่ โดยใช้มาตรา 20 วรรค 4 ของ พรบ คอมพิวเตอร์ 2560 ให้อนุโลมใช้ ป.วิ.อาญา ซึ่งต้องมีการไต่สวนสองฝ่าย ศาลให้เหตุผลว่าเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ต้องไต่สวนในศาลทั้งสองฝ่ายก่อน จึงจะปิดกั้นได้ และเป็นการทำให้ถูกกระบวนการทางกฎหมาย
สอง หากศาลจะยืนยันวิธีการกระบวนการทางกฎหมายดังคำพิพากษาดังกล่าว เด็กหญิงสาวผู้ถูกกระทำชำเราต้องรอศาลไต่สวน ต้องติดตามผู้กระทำความผิดมาให้ได้ และต้องไปเผชิญหน้ากันกลางศาล หญิงสาวคนนั้นต้องเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองถูกกระทำชำเราและถ่ายคลิป เผยแพร่ และผู้กระทำความผิดก็ต้องมาศาลเพื่อไต่สวนเช่นกัน และเล่าเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่ทำร้ายจิตใจของเหยื่อเป็นอย่างมาก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จะส่งผลดีต่อตัวเด็กผู้ตกเป็นเหยื่อหรือไม่ นักจิตวิทยาเด็กจำนวนมากคงไม่อาจจะเห็นด้วยกับวิธีการเช่นนี้ของศาลเป็นแน่แท้ และคนเป็นพ่อเป็นแม่ของเด็กที่ถูกกระทำจะรู้สึกเช่นไร ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรมหรือไม่
สาม แต่เดิมการปิดกั้นตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 กระทรวงดีอีเอส สามารถดำเนินการได้เมื่อศาลสั่ง ตามมาตรา 20 วรรค 1-3 และทำเช่นนี้มาตลอด ไม่ต้องมีการไต่สวนทั้งสองฝ่าย แค่ศาลสั่งตามคำร้องขอของกระทรวงดีอีเอส ที่มีประกาศหรือกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 ก็สามารถกระทำได้
แต่ผลของคำพิพากษาคดีปิดกั้น Facebook live วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน หากศาลยังไม่ตัดสินว่าผิดมาตรา 14 พรบ. คอมพิวเตอร์ ไม่ตัดสินว่าผิด มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จะปิดกั้นไม่ได้นั้น จะส่งผลดังที่ได้กล่าวไป ทั้งนี้มาตรา 14 พรบ. คอมพิวเตอร์ นำเข้าข้อความอันเป็นเท็จ ครอบคลุมตั้งแต่ภัยความมั่นคง การหลอกลวงประชาชน ปลุกปั่นให้เกิดความตื่นตระหนก ไปจนถึงลามกอนาจาร
หากคำพิพากษาคดีนี้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานของศาลแล้ว สังคมจะเดือดร้อน วุ่นวายเพียงใด
สี่ คำพิพากษาของศาล เป็นการควบคุม/ลงโทษพฤติกรรมในสังคม ไม่ควรหักหรือขัดแย้งกันเองมากจนเกินไป ผมอ่านคำพิพากษาครั้งแรกในประเด็น ตกใจมาก เพราะทำให้ผมคิดไปว่าศาลท่านก่อนที่สั่งปิดกั้น ทำผิดวิธีการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงมาก แทบจะกลายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเลยหรือไม่ ศาลจะมีกระบวนการ/ขั้นตอนวิธีการทำงานอย่างไร ก็ควรตกลงกันเองให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน มิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดความสับสนเดือดร้อนกับประชาชน เกิดภาวะสองมาตรฐานและจะไม่เป็นธรรมต่อประชาชนได้ โดยหลักการศาลมีอำนาจในการควบคุม/ลงโทษพฤติกรรมในสังคมที่ไม่เหมาะสม ศาลต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอย่างสูงที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน
ห้า ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม (Delayed justice is denied justice.) กรณีเด็กหญิงสาวบริสุทธิ์ถูกกระทำชำเรา ถ่ายคลิปและนำเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต หากต้องอนุโลมใช้ ป.วิ.อาญา ตามที่เขียนไว้ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 20 วรรค 4 ตามคำพิพากษาของคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ วัคซีนพระราชทาน เด็กหญิงสาวคนนั้นกว่าจะได้รับความยุติธรรม ให้สามารถปิดกั้นคลิปลามกได้โดยเร็ว ก็กลับต้องรอไปศาล ไต่สวนทั้งสองฝ่ายจนกว่าจะตัดสินความผิดให้ชัดเจน ความล่าช้าดังกล่าวในกระบวนการยุติธรรมน่าจะทำร้ายเด็กหญิงสาวคนนี้เป็นอย่างมาก จนถึงกับอาจจะตัดสินใจฆ่าตัวตายก็ได้
หก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 เป็นกฎหมายอาญาที่เป็นลักษณะพิเศษ ซึ่งต้องการให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินการไม่ให้เกิดความเสียหายลุกลามไปสู่สังคมอย่างรวดเร็วเกินไป จึงมีความจำเป็นต้องให้ปิดกั้นได้รวดเร็ว และมอบอำนาจวินิจฉัยในการปิดกั้นให้กับกระทรวงดีอีเอส เป็นกรณีพิเศษ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางท่วงทัน/เท่าทันกับความรวดเร็วของการกระทำความผิดตามพรบ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนมีความเร็วสูงเพียงชั่วพริบตาก็เกิดความเสียหายแก่บุคคล นิติบุคคล และความมั่นคงของบ้านเมืองได้โดยง่ายเสียแล้ว
ผมเชื่อว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือรัฐสภาน่าจะตระหนักในประเด็นเหล่านี้ว่า ความเสียหายเกิดขึ้นได้เร็วมาก เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ ควรที่จะต้องตัดสินใจ วินิจฉัยได้ทันที และอาศัยอำนาจศาลสั่งเพื่อปิดกั้น คงจะได้อภิปรายประเด็นนี้ไว้อย่างละเอียดพิสดารในรายงานการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือการประชุมรัฐสภาแล้วเช่นกัน ผมยังไม่ได้ไปค้นเอกสารเหล่านี้ครับ ถ้าท่านใดมีอยู่ในมือส่งมาให้ผมด้วยจะดีมากและจะขอขอบคุณแทนประชาชนด้วยครับ
แต่ผมคาดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา/สมาชิกรัฐสภาบางส่วนก็คงเกรงว่าข้าราชการกระทรวงดีอีเอสจะลุแก่อำนาจ หรือลิดรอนสิทธิ/เสรีภาพของประชาชนมากจนเกินไป จึงให้อนุโลมใช้ ป.วิ.อาญา เป็นแนวทาง กระบวนการ ขั้นตอนยุติธรรม เพื่อให้เกิดการคานอำนาจ ตรวจสอบการทำงานของกระทรวงดีอีเอสด้วย
สิ่งที่ต้องคิดคือ เดิม ศาลสั่งปิดกั้นทันทีตามที่กระทรวงดีอีเอสเสนอมาให้สั่งตามมาตรา 20 วรรค 1-3 แต่เมื่อมีการคัดค้านโดยผู้ที่ถูกสั่งให้ปิดกั้น เช่น กรณี Voice TV ถูกปิด หรือกรณีธนาธรออก Facebook live เรื่องวัคซีน จึงมาใช้วิธีพิจารณาความอาญา และ ป.วิ.อาญา ให้มีการไต่สวนทั้งสองฝ่าย
แต่การที่ศาลพิพากษาและเขียนคำพิพากษาว่าศาลท่านเดิมที่ปิดกั้นทำโดยวิธีมิชอบ เป็นคำสั่งมิชอบไม่ถูกต้องตามกระบวนการที่ได้ลองยกกรณีสมมุติดังกล่าวขึ้นมาให้เห็นปัญหาจากคำพิพากษาและการสร้างบรรทัดฐานจากคำพิพากษาดังกล่าว จะทำให้เกิดผลเสียหายแก่ประเทศชาติและสังคมอย่างรุนแรงหรือไม่ เพราะต่อไปนี้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องรอให้ศาลไต่สวนทั้งสองฝ่ายก่อน และวินิจฉัยตัดสินความผิดเสียก่อน จึงจะปิดกั้นได้ ผมมีความเห็นทางวิชาการว่าคำพิพากษากรณีธนาธรขอคัดค้านการปิดกั้น Facebook live นี้น่าจะตัดสิน/วินิจฉัยโดยปราศจากความเข้าใจในเจตนารมณ์ของกฎหมายเมื่อคราวที่ร่างกฎหมาย พรบ. คอมพิวเตอร์ 2560 และน่าจะเป็นความเสียหายต่อรัฐ/ประชาชน/บ้านเมือง หรือไม่?
เจ็ด ที่ผ่านมาการปิดกั้นการเผยแพร่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 ของกระทรวงดีอีเอส หรือที่ดำเนินการโดยปอท. ก็ไม่ค่อยได้ผลอยู่แล้ว เพราะมี platform จำนวนมากไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทย เช่น Facebook มีพนักงานในไทยเป็นร้อยคน แต่จดทะเบียนนิติบุคคลไว้ในประเทศที่ยกเว้นภาษีอีคอมเมิร์ซและอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย และศาลไทยไม่มีอำนาจไปบังคับคดีในต่างประเทศไทย ทำให้บริษัท Platform ของ social media เหล่านี้ มองว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลของไทยไม่มีผลบังคับอันใดกับพวกเขา และเขาก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด มีคำสั่งปิดกั้นจำนวนมากที่กระทรวงดีอีเอสร้องขอให้ศาลสั่ง แต่ platform เหล่านี้ก็ยังเพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามกฎหมายไทย ผลของคำพิพากษาคดีธนาธรคัดค้านการปิดกั้น Facebook live วัคซีนพระราชทานใครได้ใครเสีย ยิ่งจะทำให้คำสั่งศาลและคำพิพากษาของศาล ไร้น้ำยาและไม่มีอำนาจบังคับได้จริงยิ่งกว่าเก่าหรือไม่ จะยิ่งทำให้กระทรวงดีอีเอสและปอท. กลายเป็นเสือกระดาษและไร้น้ำยา ไม่มีอำนาจอะไรเลยหนักกว่าเก่าหรือไม่ ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยต้องการให้ platform ต่างชาติดูถูกดูแคลนความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยหรือไม่?
แปด การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกระทำหรือผู้ได้รับผลกระทบด้วยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และต้องไม่ลืมว่า สิทธิและเสรีภาพต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายในบ้านเมือง ต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมายต่างๆ และต้องไม่เป็นภัยความมั่นคง
สิ่งที่ศาลอาจจะต้องคิดไตร่ตรองพิจารณาให้มากขึ้นเช่นกันคือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไม่ใช่เพียงคุ้มครองผู้ลงมือทำ เช่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม สิทธิเสรีภาพทางวิชาการ แต่ต้องคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำด้วย เด็กหญิงสาวบริสุทธิ์ที่ถูกกระทำชำเราแล้วถูกถ่ายคลิปขึ้นระบบคอมพิวเตอร์ กรมควบคุมโรคและรัฐบาลที่เกิดความเสียหายจากการนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าวัคซีนล่าช้า ไม่เพียงพอ การแจกจ่ายไม่เป็นธรรม หรือมี adverse event จากวัคซีน เช่น แพ้ หรือ ฉีดวัคซีนแล้วตาย ซึ่งในทางการแพทย์เกิดขึ้นอยู่แล้วเป็นปกติ ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่เกิด แต่ไม่ควรต้องทำให้ประชาชนตื่นตกใจกลัวจนเกิดปัญหาความมั่นคงได้
ขั้นตอนวิธี/กระบวนการยุติธรรมจึงต้องเหมาะสมกับสภาพการณ์และการบังคับใช้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิ ทั้งของผู้กระทำ (ผู้เผยแพร่ข้อความในระบบคอมพิวเตอร์) และของผู้ถูกกระทำ (ผู้ที่ถูกกล่าวหา/ใส่ร้ายป้ายสี/ผู้ที่ถูกเผยแพร่คลิปลามกให้เกิดความอาย) เป็นต้น
ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งใดที่เกิดขึ้นมาแล้วถือว่าดีทั้งนั้น แก้ไขไม่ได้แล้ว คำพิพากษาเป็นการวางรากฐานกฎเกณฑ์และควบคุมพฤติกรรมสังคม ดังนั้นตุลาการก็ต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมดุจเดียวกันเป็นอย่างสูงยิ่ง
ข้าพเจ้าในฐานะวิญญูชนขอใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการโดยหลักสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะและของประเทศด้วยความเคารพต่อสถาบันตุลาการที่ทำงานในพระปรมาภิไธยเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะของการติเพื่อก่อเพื่อให้สถาบันตุลาการเกิดการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นประโยชน์เที่ยงตรงยุติธรรมต่อประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนควบคุมลงโทษให้บ้านเมืองเกิดความมั่นคง สงบ สันติ
ฝากประเทศไทยและกระบวนการยุติธรรมไทยไว้ในมือของท่านประธานศาลฎีกาและประธานคณะกรรมการตุลาการด้วยความเคารพศรัทธาและเชื่อมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพตุลาการของท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง