ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ โดยการเลือกผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่แทนในสองด้านคือ
1. ด้านนิติบัญญัติ คือการทำหน้าที่ในการออกกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศ โดยยึดประโยชน์ของประเทศ และประชาชนโดยรวมเป็นหลัก
2. ด้านบริหาร คือการทำหน้าที่บริหารประเทศในด้านต่างๆ ภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม เพื่อความมั่นคงของประเทศ และเพื่อให้เกิดความสงบสุขของปวงชนโดยเสมอภาคกัน
เพื่อให้การทำหน้าที่ทั้งสองด้านของผู้แทนประชาชนที่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างเต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น จึงต้องมีระบบถ่วงดุลการใช้อำนาจด้วยการแบ่งการทำหน้าที่ของผู้แทนที่ประชาชนออกเป็นสองฝ่ายคือ
1. ฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ฝ่ายที่มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคง และบริหารจัดการเพื่อขจัดทุกข์และบำรุงสุขของประชาชน
2. ฝ่ายค้าน ได้แก่ฝ่ายที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายรัฐบาล ด้วยการตั้งกระทู้ถามเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายรัฐบาลเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ เมื่อพบว่าฝ่ายรัฐบาลทำงานบกพร่องหรือผิดพลาด ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม
ในขณะนี้ ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นรัฐบาลผสมของหลายพรรค โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ
รัฐบาลชุดนี้ได้บริหารประเทศมาปีกว่า และปรากฏว่ามีข้อบกพร่องและผิดพลาด ซึ่งฝ่ายค้านมองเห็นและนำมาเป็นประเด็นในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นๆ อีก 9 คนดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
แต่ที่นำเรื่องนี้มาเขียนก่อนมีการอภิปราย ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ในฐานะสื่อมวลชน ผู้เขียนอยากเห็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย มีการพัฒนาและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ และประชาชนโดยรวมมากกว่าที่เป็นมาแล้วในอดีต
ดังนั้น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีแต่ละคนในครั้งนี้ อยากจะเห็นผู้อภิปรายจากฝ่ายค้านนำข้อบกพร่อง และผิดพลาดซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศและประชาชนโดยรวมอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เพียบพร้อมด้วยข้อมูล และจะต้องอภิปรายในเชิงท้วงติง และเสนอแนะวิธีการแก้ไขในรูปแบบของติเพื่อก่อ โดยยึดหลัก “ฟังแล้วได้ประโยชน์ ถ้าไม่ฟังจะเสียประโยชน์”
2. ในด้านรัฐบาลในฐานะผู้ถูกอภิปรายซึ่งเป็นเสมือนจำเลย จะต้องรับฟังและชี้แจงด้วยเหตุผล โดยมีข้อมูลประกอบที่ชัดเจน ประชาชนฟังแล้วเห็นด้วย และหมดข้อสงสัยในคำกล่าวหาของฝ่ายค้าน และที่สำคัญ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะต้องไม่ลุกขึ้นประท้วงเพื่อขัดจังหวะของการอภิปราย จนทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย และไม่ควรกระทำอย่างยิ่งคือการขึ้นมาพูดในทำนอง “ยกยอเพื่อหวังผลทางการเมือง อันจะพึงเกิดขึ้นแก่ตนเอง”
ถ้าในวันอภิปรายทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ตามนัยสองประการข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า จะทำให้ประชาชนศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นแน่นอน
แต่ถ้าเป็นไปแบบเดิมเช่นในอดีต เชื่อได้ว่าประชาชนจะเบื่อการปกครองในระบอบนี้เพิ่มขึ้น