xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีชี้วัดคอร์รัปชัน ไทยสอบตกซ้ำซาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI (Coruption Perception Index) ปี 2563 ประเทศไทยได้คะแนน 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับที่ 19 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากทั้งหมด 31 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 5 จาก 10 ประเทศในอาเซียน

CPI มีค่าคะแนนตั้งแต่ 0-100 ยิ่งค่า CPI สูง ประเทศมีความโปร่งใสมาก คอร์รัปชันต่ำ ค่า CPI ต่ำ ความโปร่งใสน้อย คอร์รัปชั่นสูง

ประเทศที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ เดนมาร์กและนิวซีแลนด์ 88 คะแนนเท่ากัน รองลงมาคือ สิงคโปร์และฟินแลนด์ได้ 85 คะแนน

อันดับของไทยปีนี้ ลดลงจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับ 101 แต่คะแนนเท่าเดิมคือ 36 คะแนน ย้อนหลังกลับไป 10 ปี คะแนนของไทยก็อยู่ในระดับ 35-38 คะแนน ปีที่ดีที่สุดคือปี 2557 และ 2558 ได้ 38 คะแนน เป็นภาพสะท้อนว่า ภาพลักษณ์เรื่องการคอร์รัปชันของไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ดีขึ้นเลย โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีหลัง ที่แม้คะแนนจะเท่าเดิม แต่อันดับต่ำลงจนหลุดจาก 100 อันดับแรก แสดงว่า ประเทศอื่นดีขึ้น จนแซงหน้าเราไปแล้ว

ดัชนี CPI จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งมีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก ร่วมกับมหาวิทยาลัย Gottingen ประเทศเยอรมนีจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันในประเทศต่างๆ ทั่วโลกขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา

การดำเนินการเป็นการสำรวจระดับความรู้สึก การรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างต่อปัญหาคอร์รัปชันในประเทศนั้นๆ โดยข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำ CPI เป็นข้อมูลจากการสำรวจของแหล่งข้อมูล อาทิ สำนักโพลต่างๆ หน่วยงานวิจัยที่มีชื่อเสียง และสถาบัน องค์การอิสระระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกแตกต่างกันไปในแต่ละปี เช่น Economist Intelligence Unit สำนักแกลลัพโพลล์ สถาบันเพื่อการพัฒนาการบริหารการจัดการ IMD ที่ปรึกษาความเสี่ยงทางธุรกิจและทางการเมือง World Bank World Economic Forum หน่วยงานในองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น

นิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยว่า แม้ค่าคะแนน CPI ของประเทศไทยในปี 2563 จะเท่ากับปี 2562 แต่พบว่าจากแหล่งข้อมูลทั้ง 9 แหล่ง ประเทศไทยได้คะแนนลดลง 1 แหล่ง และได้คะแนนคงที่ 8 แหล่ง

คะแนนที่ลดลงมาจากแหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 41 คะแนน (ปี 2019 ได้ 45 คะแนน) โดยมีประเด็นที่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตจากแบบสำรวจความคิดเห็น ผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย คือ “มีการติดสินบนและคอร์รัปชันหรือไม่” คะแนนลดลง 4 คะแนน เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่ายังมีปัญหาการให้และรับสินบนและการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับสินบนในการลักลอบเปิดบ่อนการพนัน ปัญหาสินบนจากลักลอบเข้าประเทศของแรงงานผิดกฎหมาย ถึงแม้ภาครัฐจะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการประชาชน แต่ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติอนุญาต ยังมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ จึงเกิดปัญหาสินบนและการทุจริต ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศ

นอกจากนี้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาต เช่น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนแหล่งข้อมูลที่ให้คะแนนไทยเท่าเดิมคือ

Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)) ได้ 37 คะแนน (ปี 2562 ได้ 37 คะแนน) โดย BF (TI) ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีและดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1) ด้านการเมือง 2) ด้านเศรษฐกิจ และ 3) ด้านการจัดการของรัฐบาล

Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 37 คะแนน (ปี 2562 ได้ 37 คะแนน) EIU วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ ส่วนรวม การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณของหน่วยงานนั้นๆ มีหน่วยงานอิสระด้านยุติธรรม ตรวจสอบผู้บริหาร ผู้ใช้อำนาจ ธรรมเนียมการให้สินบน เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ

Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้35 คะแนน (ปี 2562 ได้ 35 คะแนน) โดย GI มีประเด็นที่องค์การ เพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต คือ “ความเสี่ยงของการที่บุคคลหรือบริษัทจะต้องเผชิญกับการติดสินบนหรือการคอร์รัปชันในรูปแบบอื่นเพื่อที่จะทำ ให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น เพื่อให้ได้รับสัญญาเพื่อการส่งออก นำเข้า หรือเพื่อความสะดวกสบายเกี่ยวกับงานด้านเอกสารต่างๆ มีมากน้อย เพียงใด” ซึ่งถูกประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเทศ ซึ่งได้รับข้อมูลจากกลุ่มลูกค้า ผู้ทำสัญญากับภาครัฐ นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้รับงานอิสระ เครือข่ายนักข่าว

The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 38 คะแนน (ปี 2562 ได้ 38 คะแนน) ทั้งนี้ PERC มีหลักเกณฑ์ในการสำรวจโดยการสอบถามกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นการถาม คำถามที่แสดงให้เห็นถึงระดับการรับรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน โดยมีคำถามที่ใช้ในการสำรวจที่สำคัญ คือ ท่านจะให้คะแนนปัญหาการทุจริตในประเทศที่ท่านทำงานหรือประกอบธุรกิจเท่าใด

PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน (ปี 2562 ได้ 32 คะแนน) โดย ICRG เป็นการจัดอันดับความเสี่ยงของประเทศต่างๆ ทั้งความเสี่ยงด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและด้านการเงิน
“การคอร์รัปชัน” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง PRS จึงมุ่งประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง โดยรูปแบบการทุจริตที่พบมากที่สุด คือ การเรียกรับสินบน หรือการเรียกรับเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า ส่งออก การประเมินภาษีรวมถึงระบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง การให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองแบบลับๆ และความสัมพันธ์ใกล้ชิดของนักการเมืองกับนักธุรกิจ

World Economic Forum (WEF) ได้ 43 คะแนน (ปี 2562 ได้ 43 คะแนน) WEF สำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุด ในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ 1) การคอร์รัปชัน 2) ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ 3) ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย 4) ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5) โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอว่า แต่ละปัจจัยเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือลดลง

World Justice Project (WJP) ได้ 38 คะแนน (ปี 2562 ได้ 38 คะแนน) โดย WJP ประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้ 8 หลักเกณฑ์ เน้นเรื่องหลักนิติธรรม แต่ปีที่ผ่านมา TI นำเกณฑ์ด้านการปราศจากคอร์รัปชันและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนมาเป็นตัวให้คะแนน

Varieties of Democracy Institute (VDEM) ได้ 20 คะแนน (ปี 2562 ได้ 20 คะแนน) V-DEM วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ


กำลังโหลดความคิดเห็น