xs
xsm
sm
md
lg

รัฐประหารพม่ากับผลกระทบประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท


บุคลากรด้านสาธารณสุขชาวพม่า ประกาศนัดหยุดงานต้านรัฐประหาร
ปิดฉากสัปดาห์นี้...จะว่า “เบา-ไม่เบา” ก็คงต้องไปจัดประเภทกันเอาเอง แต่คงหนีไม่พ้นต้องเหลือบๆ ไปเมียงๆ มองๆ ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีพรมแดน ชายแดน ติดพรืดยืดยาวกับไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา อย่างประเทศพม่า หรือเมียนมา นั่นแหละทั่น!!! ที่เพิ่งสร้างเรื่อง สร้างเหตุ ซึ่งออกจะ “ไม่เบา” กันสักเท่าไหร่ หรือเพิ่งก่อการ “รัฐประหาร” ไปแบบสดๆ ร้อนๆ เมื่อวัน-สองวันที่ผ่านมานี่เอง...

คือไม่ว่าใครผิด-ใครถูก ใครชอบธรรม-ไม่ชอบธรรมก็แล้วแต่ ระหว่างผู้นำทหารพม่ากับรัฐบาลพลเรือนของ “นางอองซาน ซูจี” แต่ความเป็นไปภายในอนาคตเบื้องหน้าของประเทศบ้านใกล้ เรือนเคียง อย่างพม่านั้น ย่อมสามารถส่งผลบวก-ผลลบ ให้กับประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา มากบ้าง-น้อยบ้าง อย่างมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่ารัฐบาลไทยหรืออาเซียนจะตัดสินใจ “อมเชาวริน” กันในระดับไหน เพราะแค่คิดถึงภาพ “แรงงานพม่า” ที่เวียนเข้า-เวียนออกอยู่ภายในประเทศไทย ไม่ว่าในกรุงเทพมหานคร ที่ว่ากันว่า...ปาเข้าไประดับ 3 แสน 4 แสน ตามตัวเลขของทางการที่อาจผิดแผกแตกต่าง หรือน้อยไปกว่าตัวเลขความเป็นจริงระดับ 4 เท่า 5 เท่าเอาเลยก็ไม่แน่ ในสมุทรสาครที่ไม่น่าจะน้อยกว่า 2 แสน 3 แสน และเคย “ซูเปอร์สเปรด” จนแม้แต่ผู้ว่าฯสมุทรสาคร ยังต้อง “พะงาบๆ” อยู่จนบัดนี้ นครปฐมที่ประมาณ 7 หมื่นกว่าๆ หรือระดับเหยียบแสน สมุทรปราการอีก 9 หมื่นกว่าหรือเกือบๆ แสน สมุทรสงครามหมื่นกว่าๆ ราชบุรีอีก 3 หมื่น 4 หมื่น ไปจนถึงระนองที่จำนวนประชากรชาวไทยแท้ๆ ประมาณแสนกว่าๆ ตามหลักฐานสำมะโนครัว แต่อาจแค่ 90,000 คนตามความเป็นจริง ขณะที่แรงงานพม่าปาเข้าไปประมาณ 70,000 คนเป็นอย่างน้อย...ฯลฯ ฯลฯ...

บรรดาตัวเลขเหล่านี้นี่แหละ...ที่ทำให้ความเป็นไปในพม่า ไม่ว่าวันนี้ หรือวันหน้า ย่อมอาจส่งผลบวก-ผลลบต่อไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาได้เสมอๆ ยิ่งโดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า โดย “ทหารนักธุรกิจ” อย่าง “พล.อ.มิน อ่อง หล่าย” ด้วยเหตุผล ข้ออ้างใดๆ ก็แล้วแต่ ถ้าว่ากันตาม “ข่าวล่า-มาเรือ” คราวล่าสุด ก็ได้นำมาซึ่งการก่อกำเนิดเกิดกลุ่มก้อน ขบวนการของบรรดาชาวพม่า ที่เรียกตัวเองว่า “Myanmar Civic Disobedience Movement” หรือ “ขบวนการอารยะขัดขืน” ของชาวพม่ากลุ่มหนึ่ง กลุ่มใด อุบัติตามมาอีกสดๆ ร้อนๆ เช่นกัน ถึงขั้นว่ากันว่า...เริ่มมีการโหลดอ๊ง โหลดแอป หรือเริ่มหันไปควานหาอุปกรณ์ เครื่องไม้ เครื่องมือ ในการติดต่อ สื่อสารระหว่างกันและกัน แบบที่เรียกๆ กันว่า “Bridgefy” อะไรประมาณนั้น อันถือเป็นอุปกรณ์ยอดนิยมจากประเทศเม็กซิโก ที่มักเอาไว้ใช้ติดต่อสื่อสาร ภายใต้สภาพการณ์ที่สัญญาณโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ต ถูกควบคุมและป้องกันโดยอำนาจรัฐ ชนิดโหลดกันเป็นล้านๆ ครั้ง หรือ 1.1 ล้านครั้งเอาเลยถึงขั้นนั้น สำหรับบรรดาชาวพม่า หรือชาวหม่องทั้งหลาย ที่มีผู้ใช้บริการในโลกโซเชียล มีเดีย ไม่น้อยกว่า 22 ล้านคน...

แต่ไม่ว่าบรรดาชาวหม่องเขาจะโหลดแอป “Bridgefy” ไว้ใช้ทำอะไรต่อมิอะไรก็ตามที แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเอามากๆ ก็คือความเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มก้อนพลเรือนชาวพม่า ประเภทแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวนถึง 70 โรงพยาบาล ใน 30 เมืองเป็นอย่างน้อย ที่ออกมาประกาศแบบตรงไป-ตรงมากับสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก ว่าได้ตัดสินใจร่วม “นัดหยุดงาน” เพื่อประท้วงการรัฐประหารในพม่า ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ด้วยเหตุเพราะ “รับไม่ได้” กับการที่คณะทหาร ได้หันไปเล่นงาน จับกุม คุมขัง ผู้นำรัฐบาลพลเรือนอย่าง “นางอองซาน ซูจี” ผู้ที่ถือเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้กับบรรดาแพทย์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ ในการสู้รบปรบมือกับ “ศัตรูที่มองไม่เห็น” อย่างเชื้อไวรัสโควิดมาโดยตลอด อันนี้นี่แหละ...ไม่ว่าถูกหรือผิด เหมาะ-ไม่เหมาะ ควร-ไม่ควร แต่ออกจะเป็นอะไรที่น่าสยดสยอง น่าขนลุกขนพองอยู่พอสมควร โดยเฉพาะสำหรับประเทศบ้านใกล้ เรือนเคียง อย่างประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาทั้งหลาย...

คือเพราะการ “แพร่ระบาด” ของเชื้อไวรัสโควิดในพม่าช่วงหลังๆ นี้ ออกจะหนักหนาสาหัสมิใช่น้อย ติดเชื้อกันไปแล้วไม่ต่ำกว่า 140,644 คนเป็นอย่างน้อย เด๊ดสะมอเร่ย์ อิน เดอะ เท่งทึง ไปถึง 3,146 ราย และกำลังทำตัวเลขสถิติเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อวันละไม่ต่ำกว่า 300 ราย การต่อสู้เพื่อเอาชนะศัตรูที่มองไม่เห็น อย่างเชื้อไวรัส “COVID-19” จึงเป็นอะไรที่สำคัญซะยิ่งกว่าการต่อสู้เพื่อเอาชนะพลเรือนอย่าง “นางอองซาน ซูจี” และพวก ไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อยเท่า แต่ในเมื่อฝ่ายทหารพม่า เขาดันไปให้ความสนใจให้ความสำคัญต่อการไล่บด ไล่บี้ “นางอองซาน ซูจี” ที่ถูกกล่าวหาว่า “ขโมยเลือกตั้ง” อะไรทำนองนั้น มากกว่าที่คิดจะรับมือกับเชื้อโควิดแบบจริงๆ จังๆ การต่อสู้กับเชื้อโควิดในพม่าที่ออกจะหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว จึงเป็นอะไรที่ยิ่งน่าสยดสยอง น่าขนลุกขนพอง ยิ่งขึ้นไปใหญ่...

แม้ว่าก่อนหน้านี้...รัฐบาลพลเรือนพม่า จะตัดสินใจสั่งซื้อวัคซีน “Oxford-AstraZeneca” จากอินตะระเดียเพื่อเอาไว้ฉีดผู้คนประมาณ 15 ล้านคน จากจำนวนประชากร 55 ล้านคน แต่ถึงแม้จะส่งมอบกันเมื่อไหร่ ตอนไหน ก็ตามแต่ ถ้าหากบรรดาแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณาสุขพม่า เกิดทิ้งงาน ทิ้งการ หรือคิดนัดหยุดงานขึ้นมาจริงๆ โอกาสที่จะทุเลาเบาบาง สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิดในพม่า ก็ยิ่งน่าจะลำบาก ยากเย็นยิ่งขึ้นไปเท่านั้น หรืออาจส่งผลบรรดาชาวหม่องทั้งหลาย ยิ่งต้องกลายเป็น “พาหะ” นำเชื้อยิ่งๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะถ้าหากยังมีการข้ามไป-ข้ามมา ระหว่างไทยกับพม่า โดยช่องทางธรรมชาติ หรือช่องทางใดๆ ก็แล้วแต่ การแสดงออกถึง “จุดยืน” ของรัฐบาลไทยและอาเซียนต่อการรัฐประหารในพม่า ด้วยการ “อมเชาวริน” เอาไว้เฉยๆ จึงไม่น่าจะเพียงพอ หรืออาจต้องเอาจริง-เอาจังในทางปฏิบัติมากขึ้นไปตามลำดับ โดยเฉพาะการควบคุมดูแล บรรดา “แรงงานเถื่อน” ทั้งหลาย ที่แม้แต่กระทั่งรัฐมนตรีมหาดไทยของเมืองไทย ก็ยังไม่มีตัวเลขสถิติที่แน่ชัด...

พูดง่ายๆ ว่า...ด้วยเหตุเพราะศัตรูที่มองไม่เห็น อย่างเชื้อไวรัส “COVID-19” นั้น ท่านไม่มีสัญชาติและเชื้อชาติ แถมไม่มีพรมแดนและขอบเขตใดๆ อีกต่างหาก การเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นมาในประเทศหนึ่ง สังคมหนึ่ง อันมีผลต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้ ไม่ว่าในแง่ใด แง่หนึ่ง จึงคงต้องหาทางทำอะไรมากไปกว่าการ “อมเชาวริน” เอาไว้เฉยๆ แต่เพียงเท่านั้น แม้ว่าจะถือเป็น “จุดยืน” ที่ถูกต้อง เหมาะสม ในทางการเมืองระหว่างประเทศอยู่ตามสมควร แต่สำหรับข่าวคราวว่าด้วยการลุกฮือ การประท้วง การนัดหยุดงาน ไปจนการเคาะหม้อ เคาะกะลาของบรรดาชาวพม่า ที่ไม่เห็นควรด้วยกับการรัฐประหารของทหารพม่าคราวนี้ จึงเป็นอะไรที่บรรดาประเทศบ้านใกล้ เรือนเคียงทั้งหลาย คงต้องพยายามจับตาและติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ โดยใกล้ชิด แม้ว่าไม่ควรจะไปแทรกซึม แทรกแซง หรือกระทั่งไป “โหน” ชนิดต้องเดินทางไปประท้วงหน้าสถานทูตพม่าโดยไม่ได้คิด “สวมหน้ากาก” ใดๆ เอาเลยแม้แต่นิด...

คือด้วยความใกล้ชิดติดพัน ระหว่างบ้านพี่-เมืองน้อง บ้านใกล้-เรือนเคียง ชนิดยกประเทศหนีไปไหนไม่ได้เลย ความพยายาม “เข้าถึง” และ “เข้าใจ” ต่อความเป็นไปในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะในระดับประชาชนต่อประชาชนจึงมีความสำคัญเอามากๆ แม้ว่าการชี้ถูก-ชี้ผิด ชี้ว่าอะไรเหมาะ อะไรควร คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่อง “ภายใน” หรือกิจการภายในของแต่ละประเทศก็ตาม...


กำลังโหลดความคิดเห็น