xs
xsm
sm
md
lg

โกหก เพื่อหวังประโยชน์ : ผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



การโกหกคือ การพูดเรื่องไม่จริงว่าเป็นจริง และการพูดเรื่องจริงว่าเป็นเรื่องไม่จริง

แต่การพูดโกหกจะมีโทษทางศีลธรรม และกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้พูดมีเจตนาให้ผู้ฟังเชื่อ และตนเองได้รับประโยชน์จากความเชื่อนั้น ถ้าพูดโดยไม่มีเจตนาให้ผู้ฟังเชื่อ และสูญเสียอันใดจากความเชื่อนั้น ก็ไม่เข้าข่ายผิดศีลข้อมุสา และไม่มีโทษทางกฎหมาย เนื่องจากไม่มีผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องร้อง เช่น นักเล่านิทานโกหก เพื่อหวังให้ผู้ฟังเกิดความขำขันสนุกสนาน เป็นต้น แต่การพูดเช่นนี้ก็เข้าข่ายผิดธรรมที่ว่าด้วยวจีทุจริต ข้อพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้สาระ ไม่สร้างประโยชน์อันใด

ในปัจจุบัน การพูดโกหกเพื่อหวังประโยชน์จากความเชื่อได้ขยายวงกว้างออกไปสู่วงการสื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และโซเชียล มีเดีย และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพูดในทำนองนี้ มีในทุกระดับชั้นของสังคม นับตั้งแต่ผู้ประกอบธุรกิจผลิตหรือนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเสริม ดารานักแสดง ศิลปิน ไปจนถึงนักการเมือง โดยที่บุคคลเหล่านี้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่มีเจตนา เพียงแต่ได้รับการว่าจ้างให้ดำเนินการเท่านั้น ส่วนผู้ที่พูดด้วยเจตนาให้ผู้ฟังหลงเชื่อ และตนเองได้รับประโยชน์จากความเชื่อ คงจะมีไม่มาก แต่ถึงไม่มากก็ทำความเสียหายแก่สังคมในวงกว้างได้ ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. โดยปกติคนทุกคนซึ่งยังมีความโลภ และความหลงครอบงำจิตใจอยู่ จะมองสิ่งที่ตนเองจะได้โดยไม่มองสิ่งที่ตนเองจะเสีย จึงถูกหลอกให้เชื่อ ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ด้วยการเอาผลประโยชน์มาล่อ จะเห็นได้จากธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ และธุรกิจขายอาหารเสริม ซึ่งอาศัยสื่อโซเชียล มีเดีย เป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ดังที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ

2. หน่วยงานของรัฐไม่ว่า อย.หรือ กสทช.ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการโกหกหลอกลวง ทำงานไม่มีประสิทธิภาพพอจะยับยั้งผู้กระทำผิดได้ทั่วถึง และทันท่วงที จึงไม่ทำให้ผู้กระทำผิดเข็ดหลาบถึงกับต้องละ เลิก การกระทำในทางตรงกันข้าม ผู้กระทำผิดบางรายทำผิดซ้ำซากเหมือนบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย และผู้รักษากฎหมายอยู่ในสายตาที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

2.1 กฎหมายที่ อย.มีอยู่ มีโทษน้อยเกินไป โดยเฉพาะโทษปรับ จึงเป็นช่องว่างให้ผู้กระทำผิดบางรายกระทำผิดซ้ำซาก โดยยอมเสียค่าปรับ เนื่องจากผลประโยชน์ที่ได้จากการกระทำผิดคุ้มค่ามากกว่าค่าปรับ จะเห็นได้จากการโฆษณาสินค้าเกินความจริง เช่นกรณีของอาหารเสริม เป็นต้น

2.2 การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ กสทช.ถึงแม้จะมีโทษหนัก แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ กสทช.ไม่ทำงานเชิงรุก รอให้เกิดความเสียหายและมีผู้มาแจ้งความ แทนที่จะติดตามควบคุม ก็ยากที่จะป้องกันการกระทำผิดในลักษณะนี้ได้ เนื่องจากผู้เสียหายอันเป็นปัจเจกไม่ต้องการเสียเวลากับความเสียหายเล็กน้อย ไม่คุ้มค่ากับการต้องมาเป็นโจทก์ฟ้องร้อง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นช่องว่างให้ผู้กระทำผิดลอยนวลอยู่ได้

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น ถ้าทางภาครัฐต้องการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ทั้ง อย.และ กสทช.จะต้องทำงานเชิงรุก โดยการติดตามและตรวจสอบ ในทำนองเดียวกับการป้องกันโควิด-19 ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถ้าทำได้เชื่อว่าการโกหกหลอกลวง โดยอาศัยสื่อดังที่เป็นอยู่คงจะลดลงและหมดไปในที่สุด

ในทางตรงกันข้าม อย.และ กสทช.ยังคงทำงานแบบเดิมคือรอให้ผู้เสียหายมาแจ้งความแล้วค่อยดำเนินการ หรือแม้กระทั่งทำงานเชิงรุก แต่เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส โดยการยอมรับผลประโยชน์จากผู้กระทำผิด เมื่อแลกกับการไม่ดำเนินการเอาผิดทางกฎหมาย การกระทำผิดจะยังคงมีอยู่ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น